Skip to main content
sharethis

 









 


 


พลันที่พนักงานอัยการสั่งไม่อุทธรณ์คดีเจไอ. ประเด็นที่บรรดาผู้ติดตามสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างให้ความสนใจและจับตาดูอย่างเป็นพิเศษ ก็คือ บทบาทนอกคุกของ "นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ" หนึ่งใน 4 จำเลยคดีนี้

 

เป็นความสนใจที่มาจากบทบาททางสังคมอันโดดเด่นของนายแพทย์ผู้นี้ ในช่วงที่ยังไม่ตกเป็นจำเลยในคดีกบฏ ผ่านกิจกรรมภาคประชาสังคมร่วมขบวนแถวเคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรดาสานุศิษย์แห่ง "นายแพทย์ประเวศ วะสี"

 

หลายคนคาดหวังว่า "หมอแว" หรือ "นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ" จะหวนกลับเข้าสู่ขบวนการภาคประชาสังคม ที่ตั้งท่าอ้าแขนรับอีกคำรบ อันเห็นได้ชัดจากท่าทีของ "นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป" เลขาธิการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ที่มี "นายแพทย์ประเวศ วะสี" เป็นประธาน ที่ต้องการให้ "หมอแว" กลับเข้ามาร่วมกิจกรรมเหมือนเดิม แต่นั่นก็เป็นความต้องการของเพื่อนมิตร


 


วันนี้ "นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ" ตัดสินใจแน่นอนแล้ว ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนราธิวาส ที่จะมีขึ้นในปี 2549 ทำไม "หมอแว" ถึงตัดสินใจเช่นนี้ บรรทัดต่อไปนี้ คือ คำตอบ


 


 


- วางอนาคตไว้อย่างไร 


ยังดูๆ อยู่ แต่คงจะไม่เหมือนเดิม เพราะอะไรๆ ก็เปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมมาก สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป สถานการณ์ในบ้านเราก็เปลี่ยนไป จากการติดตามจากสื่อนะครับ รู้สึกกลัวมากขึ้น ชาวบ้านทั่วไปก็กลัวมากขึ้นเหมือนกัน


 


- ทราบว่าจะลงสมัครวุฒิสมาชิก


 


ผมทำงานการเมืองมาตลอด แต่เป็นการเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่การเมืองในระบบเลือกตั้งที่ทำเพราะรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสไว้ เราร่วมกันทำแผนพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ นอกเหนือจากที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว ผมเข้ามาเพราะไม่มีคนทำงานการเมืองภาคประชาชนหวังจะได้ช่วยเหลือประชาชน เป็นการเมืองที่ไม่ใช่การได้มาซึ่งอำนาจ แต่เป็นการช่วยประชาชนกำหนดความต้องการของตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ


 


ส่วนการลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นการเข้ามาเล่นการเมืองในระบบของผม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่าง คือ หนึ่ง โอกาสทางการเมืองภาคพลเมืองของผมมีน้อยลง สอง ประชาชนสนับสนุนให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง


 


- ต้องการเข้าไปผลักดันนโยบายด้านใดบ้าง หรือเพียงต้องการสร้างเกราะคุ้มภัยให้ตัวเอง


 


ขึ้นอยู่กับบทบาทและหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองนั้นๆ ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า จะเข้าไปทำอะไรบ้าง คงเริ่มจากบทบาท และนโยบายที่เราอยากทำก่อน


 


ไม่เกี่ยวกับการสร้างเกราะคุ้มกันให้ตัวเอง  เพราะไม่รู้จะคุ้มกันจากอะไร ศาลก็พิพากษาแล้ว ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาทำอะไรอีก ถ้าจะเล่นกันนอกกติกาไม่ทำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ก็ไม่ใช่วิธีการของคนที่พัฒนาแล้ว และการเข้าไปเล่นการเมือง ไม่ใช่เพื่อต้องการให้เกิดความสะใจ หรือต้องการแก้แค้นใคร เพราะนั่นเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีให้กับการเมืองในระบบ


 


- เมื่อลงสนามการเมืองแล้ว สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร


 


ก็จะดูว่าการเริ่มต้นทางการเมืองในระบบการเลือกตั้งเกิดมาจากอะไร หากเกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ก็ต้องลงไปดูว่าความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไร ฉะนั้น สิ่งแรกที่จะทำ คือ ลงไปสำรวจว่าประชนต้องการอะไร เราจะทำสิ่งนั้น จะถามประชาชนให้มากที่สุดก่อนะตัดสินใจขั้นสุดท้าย ตอนนี้ก็เริ่มทำไปบ้างแล้ว


 


- หลังจากได้รับอิสระมาได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง


 


หลังจากศาลพิพากษายกฟ้อง ผมก็กลับมาอยู่ที่บ้านที่นราธิวาส อยู่แต่ในบ้านระหว่างรออุทธรณ์เดือนกว่า เมื่อมีข่าวอัยการไม่อุทธรณ์ จึงออกจากบ้าน แต่ในทางกฎหมายถือว่ายังไม่จบ ทราบว่า ต้องรอให้พนัก งานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ส่งให้ศาลด้วยถึงจะจบจริง คือ ต้องปรากฎในสำนวนด้วยว่าไม่อุทธรณ์


 


ที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ ลงไปตามชุมชน หรือ มัสยิดต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส เพื่อขอบคุณที่เขาให้กำลังใจเรา ละหมาดฮายัตขอพรจากพระเจ้าให้เราปลอดภัย ผมต้องไปขอบคุณเขา โดยลงไปทุกวัน และแนะนำตัวว่าจะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภาไปด้วย ตอนนี้สั่งทำบัตรแนะนำตัวแล้ว


 


ปัญหาคือ การลงสมัครการเมืองมันต้องใช้เงินมาก เราไม่มี ที่พอจะทำอะไรได้บ้างตอนนี้ก็เพราะประชาชนเอาเงินมาให้ ให้รถยนต์ไว้ใช้ลงพื้นที่ ขอให้เราลงสมัครให้ได้


 


- มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร


 


สำหรับชาวมุสลิมแล้ว กรณีนี้ถือว่าเป็นการกำหนดของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าหากกรณีนี้เกิดจากความผิดพลาด หรือตั้งใจให้ผิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็ขอให้เป็นคดีสุดท้าย ถ้าหากว่าเป็นความผิดพลาดจากการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ในอนาคต


 


- จะฟ้องกลับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่


 


ผมจะไม่ฟ้องกลับ เพราะเราให้เครดิตกับเจ้าหน้าที่ คิดว่าทำคดีด้วยความโปร่งใส แม้ว่ามีข้อสงสัยบ้างบางส่วน เพราะฉะนั้น จะไม่ฟ้องกลับ เพราะฟ้องไปแล้ว ถึงแม้จะชนะหรือแพ้ก็มีผลเท่ากัน คือ การสูญเสีย ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง ถ้าไม่ใครสูญเสีย ประเทศชาติก็สูญเสีย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ในขณะที่เราต้องการสร้างบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์


 


- แล้วจะฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือไม่


 


จริงๆ แล้ว มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ ซึ่งผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจะได้รับ แต่ผมขอไปศึกษาข้อกฎหมายก่อนว่า กรณีของผมพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะให้การทดแทนมากน้อยแค่ไหน


 


ผมคิดว่าการเรียกร้องค่าเสียหายคงไม่ใช่ประเด็นหลัก การชดใช้นั้นเป็นความประสงค์ของรัฐเอง โดยไม่ติดใจว่าใครเป็นใคร ใครตกเป็นจำเลย เช่น กรณีเชอรีแอน หรือคดีในภาคใต้ ถึงญาติจะไม่ได้เรียกร้องอะไร รัฐก็ให้อยู่แล้ว


 


สำหรับผม ถ้าจะนับการสูญเสียในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นตัวเลขเท่าใดก็ตามก็ไม่คุ้ม เพราะมันประมาณค่าไม่ได้ แต่หากจะมีการชดใช้ ถือเป็นเรื่องของน้ำใจมากกว่า


 


- 2 ปีที่ผ่านสิ่งที่ประสบกับตัวเองให้บทเรียนอะไรบ้าง


 


ประการแรก เป็นมหาวิทยาลัยชีวิต ได้เรียนรู้ว่ากระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีทั้งในแง่ดีและไม่ดีปะปนกัน ได้บทเรียนว่า การทำงานเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือสังคมในภาคใต้ ต้องมีความสะเอียดอ่อน เพราะป็นพื้นที่เฉพาะที่มีคนหลากหลาย และอาจเปลี่ยนแปรเป็นเรื่องอื่นได้ตลอดเวลา


 


ได้รู้คุณค่าของสถาบันครอบครัวว่า มีความหมายจริง เราอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีลูก - เมีย มันไม่มีความสุข เพราะครอบครัว คือ สถาบันที่ให้ความสุขกับชีวิตได้ดีที่สุด


 


เราได้เรียนรู้ว่าคนในสังคมต้องการความยุติธรรม ดูได้จากการติดตามคดีของผม เพราะประชาชนอยากเห็นความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ทุกคน ทุกภาคส่วน จึงมีอารมณ์ร่วมกับคดีนี้


 


ได้เรียนรู้ชีวิตในเรือนจำ ซึ่งก่อนเข้าไปรู้สึกว่ามีแต่คนชั่ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ ในเรือนจำมีคน 3 ประเภท หนึ่ง คนชั่ว สอง คนทำผิด ซึ่งอาจไม่ใช่คนชั่ว สาม คนถูกใส่ร้าย


 


ได้รู้ซึ้งถึงคำสอนที่ว่า แท้จริงการใส่ร้ายนั้น มันเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าการฆ่า ผมอยากให้กรณีของผม เป็นกรณีตัวอย่างในกระบวนการยุติธรรม


 


- มีประเด็นใดบ้างที่แสดงถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง


 


มีประเด็นมากมายโดยเฉพาะในเรื่องคดี แต่คงยังไม่นำเสนอตอนนี้ เพียงเพื่อความสะใจ ต้องขอเวลาสักระยะหนึ่งก่อน


 


- ปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ไขได้อย่างไร


 


ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา และปฏิบัติตามกติกาที่กำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว


 


- ทราบว่าจะเขียนหนังสือด้วย


 


หนังสือก็เป็นทางหนึ่งที่จะนำเสนอประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ประสบมากับตัวเอง แต่ขอปรึกษากันก่อนว่า จะนำเสนออย่างไร หนังสือที่จะเขียนชื่อ "ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ.ไอ."


 


- มีแรงบันดาลใจอะไรหรือเปล่า


 


ระยะเวลา 2 ปี ที่อยู่ในเรือนจำ ทำให้มีเวลา และโอกาสได้ทบทวนชีวิตของตัวเองมากมาย มีโอกาสได้เรียนรู้ทุกสิ่งในเรือนจำ มีโอกาสได้สัมผัสด้วยตัวเอง จึงบันทึกเป็นหนังสือและเรียบเรียงไว้ เตรียมนำเสนอต่อสาธารณะ การเขียนหนังสือเป็นช่องทางหนึ่ง ที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้  ให้อยู่นานๆ เป็นร้อย สองร้อยปี


 


- หรือต้องการจะสร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง


 


งานเขียนทุกอย่างก็จะเป็นประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเนื้อหาในหนังสือนั่นต่างหากที่จะเป็นประโยชน์ขึ้นมาบ้างไม่มาก็น้อย


 


- ถ้ามีโอกาสจะกลับไปทำกิจกรรมกับภาคประชาสังคมอีกหรือไม่


 


ผมต้องใช้เวลาศึกษาว่า บรรยากาศขณะนี้เอื้ออำนวยหรือไม่ แต่โอกาสที่จะกลับไปคงมีน้อย เพราะสถาน ภาพของผมขณะนี้ไม่เหมือนเดิม เป็นอดีตจำเลยเจ.ไอ. ถูกตีตราจากสังคมแล้ว ถ้ากลับไปอีก ผมไม่แน่ใจว่าจะกระแสสังคมมองตัวผมอย่างไร แม้ว่าเราจะทำด้วยความบริสุทธ์ใจ ก็อาจจะเกิดความหวาดระแวงขึ้นได้  บางครั้งการทำกิจกรรมด้านประชาสังคม ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย


 


 - คิดว่าตัวเองตกเป็นจำเลยคดีนี้เพราะอะไร


 


ตามรูปคดี ก็เป็นเรื่องของตำรวจอ้างถึงเอกสาร ซึ่งเป็นคำซัดทอดมาจากต่างประเทศ ผู้ที่ซัดทอดเป็นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ผู้ฟ้องเองก็ไม่ได้นำมาเบิกความต่อศาลในเมืองไทย แต่ผมก็ให้เครดิตกับเจ้าหน้าที่และตำรวจ ซึ่งเขาก็เชื่อในเอกสารนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคดี


 


แต่เราก็ต่อสู้คดี ซึ่งในชั้นศาลเราก็ยืนยันมาตลอดว่า เอกสารชิ้นนั้นไม่สมบูรณ์ กระบวนการได้เอกสารมา ไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะระบุว่าเป็นเอกสารทางราชการของประเทศสิงคโปร์ก็ตาม


 


- ถูกจับเพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยหรือไม่


 


ผมไม่ทราบ แต่โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างนั้น คือ เหตุการณ์มันประจวบเหมาะพอดี กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะเดินทางมาประเทศไทย


 


- รู้จักอารีฟิน บินอาลี ผู้ซัดทอดหรือไม่


 


ผมไม่ทราบว่าคือใคร จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่าเป็นใคร โจทก์ก็ไม่ได้เอานายคนนี้มาเบิกความต่อศาล


 


- คิดว่าเป็นเรื่องสมมุติขึ้นมาหรือไม่


 


วันนี้ยังไม่ทราบ แต่ตำรวจบอกว่านายคนนี้เป็นผู้ซัดทอดมาถึงผม


 


- ความสัมพันธ์กับโต๊ะครูโรงเรียนอิสลามบูรณะโต๊ะนอ อดีตจำเลยคดีเดียวกันเป็นอย่างไร


 


ผมรู้จักและเคยทำงานร่วมกันหลายโครงการ เช่น โครงการกองทุนเพื่อพันาชุมชน (กองทุน sif) งานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กิจกรรมของสถาบันปฏิรูประบบสาธารณสุขแห่งชาติ (สปรส.)  ประชาคมจังหวัดนราธิวาส กิจกรรมด้านการศึกษาและช่วยเหลือเด็กกำพร้าในจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งงานส่งเสริมวิทยุชุมชนในจังหวัดนราธิวาส


 


ในมุมมองของผม เป็นโต๊ะครูนักพัฒนา เราเลยกระโดดเข้าร่วมทำกิจกรรม เพราะโครงการที่จะทำเป็นโครงการของรัฐบาล งบประมาณและทรัพยากรต่างเป็นของรัฐ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก


 


- ทราบว่ามีส่วนผลักดันร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติด้วย


 


ผมเป็นหนึ่งในคณะทำงานส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนในเรื่องการปฎิรูประบบสุขภาพ ที่มีหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน โดยเน้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการสรุปปัญหาด้านสุขภาพ เพื่อนำไปผลักดันร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ


 


- ทราบว่าหมอเคยถูกกล่าวหาว่ารับเงินจากองค์กรก่อการร้ายด้วย


 


เงินทุนในการทำงานของศูนย์ประสานงานประชาสังคม มาจากหน่วยงานรัฐส่วนกลาง ที่ถูกส่งเข้ามายังโครงการโดยตรง เพราะฉะนั้น ที่มีการพูดว่า หมอเอาเงินมาจากองค์กรที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นความจริง เงินที่นำมาใช้สามารถตรวจสอบได้กับหน่วยงานของรัฐเอง เพราะมีหลักฐานชัดเจน แต่เนื่องจากเงินเหล่านี้ ถูกส่งตรงจากส่วนกลางให้กับชุมชน ไม่ผ่านหน่วยงานรัฐในพื้นที่ และเป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชน ที่นำเสนอโครงการเข้าสู่ส่วนกลางโดยตรง เป็นโครงการที่ไม่ได้สั่งการมาจากเบื้องบน เป็นมิติใหม่ของการพัฒนาในพื้นที่ คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน


 


เมื่อประชาชนคิดโครงการเอง เสนอเอง ทำโครงการเอง หน่วยงานรัฐในพื้นที่ ไม่รู้ที่มาที่ไปของโครงการ เลยเกิดข้อสงสัย แทนที่จะหาคำตอบ กลับมองว่าน่าจะมาจากที่นั่นที่นี่ โครงการของกองทุน Sif  ของรัฐบาลเอง ก็ถูกมองแบบนี้


 


- หมอพลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ยินดีให้กลับไปร่วมกิจกรรมอีก มีการติดต่อกันหรือยัง


 


ผมเคยทำงานร่วมกับหมอพลเดช ที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ท่านส่งคนไปเยี่ยมผมในเรือนจำ ติดตามให้ความช่วยเหลือผมมาตลอด แสดงความยินดี เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง แต่ผมจะกลับไปร่วมกิจกรรมอีกหรือไม่ คงต้องพิจารณาดูก่อน


 


- กับอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธุ์ จากซีวิคเน็ตล่ะครับ


 


อาจารย์ชัยวัฒน์ ถือว่าเป็นอาจารย์ด้านประชาสังคมของผม เป็นผู้จุดประกายเรื่องนี้กับผมเมื่อ 5 - 6 ปีที่แล้ว ถ้ามีโอกาสก็อยากจะคุยแลกเปลี่ยนกับท่านอยู่เหมือนกัน


 


- ทราบว่าตอนอยู่ในเรือนจำได้ชักชวนนักโทษด้วยกันเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม


 


ก็มี 5 คน เป็นคนอีสาน 3 คน เกิดจากความสนใจของเขาเอง เขาดูจากพฤติกรรมของเรา เช่น การละหมาด เป็นต้น คือ สำหรับคนที่อยู่ในเรือนจำแล้ว ส่วนมากต้องการที่พึ่งทางใจสูง ต้องการความสงบทางใจอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างชาติอีก 2 คน ที่เขามีโอกาสเรียนรู้ศาสนาจากผม แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่าเขาเข้ารับอิสลามหรือยัง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net