รายงานพิเศษ : "ป้อมมหากาฬ" ชีวิตคน โบราณสถาน กับการจัดการของ กทม.

ใกล้สิ้นสุดเสียทีกับการยืนหยัดสู้เพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อวันนี้ทางกองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักโยธาธิการกรุงเทพมหานคร มาติดประกาศขอสำรวจเพื่อเวนคืนที่ และมีการยืนยันชัดเจนจาก นางเพ็ญศรี พิชัยสนิท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า นับแต่ศาลปกครองตัดสินให้ชุมชนดังกล่าวไม่มีสิทธิ์อยู่กับโบราณสถานตามกฎหมาย กทม.จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย คือต้องให้ชุมชนออกจากพื้นที่ไป

 

การต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยของชุมชนป้อมมหากาฬ มีมากว่า 20 แล้ว โดยเริ่มจากเพียงเสียงลือแว่วๆ มา จนดังชัดขึ้นๆ เรื่อยๆ กระทั่งเมื่อ  พ.ศ. 2534 รัฐบาลได้กำเนิด "แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์" ที่มีคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้กับดูแลอยู่เบื้องหลัง แผนนี้ออกมาเพื่อผ่าตัดเปลี่ยนโฉมกรุงรัตนโกสินทร์ จากเมืองให้กลายเป็นสนามหญ้าที่เชิดชูเพียงสถาปัตยกรรมงามๆแบบมองภาพในโปสการ์ด

 

อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวยังดูไม่น่ากลัวนักและคงเกิดจาก วิธีคิด ณ ช่วงเวลา นั้นที่อยากเห็นเมืองสวยๆงาม ตามอารมณ์โรแมนติกของนักคิดเพียงบางกลุ่ม และ เมื่อในสมัยนั้นไม่มีทุนดำเนินการ แนวคิดดังกล่าวจึงซาลงไป

 

แต่ในทางกลับกัน ณ เวลานี้ ประโยชน์จากแผนดังกล่าวสามารถสะท้อนออกมาเป็นทุนที่จะทำกำไรจากนักลงทุนที่จะทำการท่องเที่ยวได้มหาศาล แผนดังกล่าวจึงถูกนำมาปัดฝุ่นและแฝงเร้นด้วยประโยชน์ทางธุรกิจท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ "หลวง" เป็นจุดขาย ในบางพื้นที่ได้เพิ่มโครงการบางอย่างเข้าไปอีกชั้น ภายใต้ คำสวยหรูว่า "พัฒนา" เช่น โครงการจัดทำแผนผังแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ถนนราชดำเนิน และพื้นที่บริเวณต่อเนื่อง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ช็องส์ เอลิเซ่"

 

ป้อมมหากาฬ เผอิญเป็นจุดที่สองโครงการดังกล่าวซ้อนทับกันภายใต้จุดประสงค์เดียวกัน จึงไม่อาจหลีก เลี่ยงนโยบายการย้ายคนออกได้  โดยมีทางกรุงเทพมหานคร(กทม.)จะเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการ และมีกฎหมายเกี่ยวกับโบราณสถานซึ่งห้ามคนอยู่ร่วมกับโบราณสถานเป็นเครื่องมือ จึงสะท้อนความคิดที่ว่าโบราณสถานมีคุณค่าเป็นเพียง "วัตถุแห่งการจ้องมอง" โดยไม่เคยมองมาก่อนเลยว่า ก่อนนี้คนอยู่กับโบราณสถานดังกล่าวมาก่อนอย่างไร

 

วันหนึ่งเมื่อมีกฎหมายโบราณสถานมาประกาศทับที่เขาเคยอยู่อาศัยมาก่อน สิ่งที่เขาต้องทำคือปฏิบัติตามกฎหมาย  แต่ฝ่ายกฎหมายเองคงลืมมองต่อไปกระมังว่า เขาจะไปไหนต่อ ไปอย่างไร ปรับตัวได้หรือไม่ และสุดท้ายเขาก็จะกลายเป็นส่วนเกินในอีกสังคมหนึ่งในทุกๆที่ที่เขาไปอย่างไม่คุ้นชินหรือไม่ การปรับตัวของมนุษย์คงไม่สามารถปรับตัวได้ในชั่วอายุคนเดียว ดังนั้นการทำตามกฎหมายจะเป็นการสร้างปัญหาในอนาคตที่จะต้องมาตามแก้ในพื้นที่ใหม่อีกทีอย่างไม่รู้จบ หรือไม่

 

ทว่า ธุรกิจกำไรอันมหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากพื้นที่ที่หากสามารถยื้อแย่งคืนมาจากชุมชนได้ เป็นสิ่งที่รัฐเลือกกระทำกับชุมชนที่ไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายมาตลอด ในกรณีของชุมชนป้อมมหากาฬ กทม.ได้เลือกจะกระทำตามที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน คือ เอาชุมชนออกไป โดยที่ไม่มองข้อเสนอของชุมชนที่พยายามอธิบายมาตลอดว่า "เขาจะขอเป็นชุมชนที่อยู่คู่กับโบราณสถาน" พร้อมนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่มีนักวิชาการคอยเป็นที่ปรึกษา แต่ก็ถูกปฏิเสธจาก กทม.มาตลอด

 

แต่จะทำอย่างไร ในเมื่อ ชุมชนป้อมมหากาฬ คือ พื้นที่ที่ชาวบ้านสืบทอดลมหายใจทางวัฒนธรรม และสืบทอดประวัติศาสตร์ชุมชนมากว่า 100 ปี ปัจจุบันชุมชนนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตเพียงแห่งเดียวที่แสดงถึง การตั้งถิ่นฐานแบบ "ชานกำแพงพระนคร" อันเป็นลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่พบในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่สืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา  หรือแม้แต่บ้านบางหลังที่ที่ชาวชุมชนอยู่อาศัยก็เป็นโบราณสถาน เพียงแต่เป็นโบราณสถานที่เป็นประวัติศาสตร์ของราษฎรไม่ใช่ของ "ราชสำนัก" จึงไม่มีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานมาก่อน

 

แต่หากนับกันที่อายุหรือคุณค่าแล้ว สิ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จากชุมชนแห่งนี้ยังมีอีกมหาศาล  ทว่าสิ่งเหล่านี้คือคุณค่าและประวัติศาสตร์ที่ทาง กทม. หรือรัฐ เลือกที่จะทอดทิ้ง เพราะหากเทียบคุณค่าทางธุรกิจแล้ว "ช็องส์ เอลิเซ่" อันสวยงามที่จะมีนักลงทุน เอาเงินมาลงพื้นที่ดูจะเย้ายวนใจกว่ามาก

 

ในรอบ 20 ปีที่ชุมชนป้อมมหากาฬ อยู่กับความระแวงที่จะต้องโดนย้ายออกไปนั้น ทางชุมชนได้พยายามหยิบยกคุณค่าต่างๆดังกล่าวที่มีอยู่ในชุมชนมาเป็นเครื่องต่อรอง กับ กทม. แต่ทำได้เพียงยื้อเวลา เพราะแม้ว่าจะอยู่มานานสืบทอดหลายชั่วอายุคน แต่ชาวชุมชนไม่สามารถปฏิเสธกฎแห่งรัฐ ที่จะต้องแสดงสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมีให้ได้ นั่น ก็คือหลักฐานแสดงสิทธิ์ในที่ดิน

 

การหยิบยกข้อดีของชุมชน มักจะได้รับการตอบรับที่ดีเสมอ ในช่วงที่การเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หรือการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วงเวลานั้นจึงเป็นช่วงเวลานำเสนอข้อเด่นชุมชน และต่อลมหายใจบนพื้นที่อีกเฮือก แต่เมื่อหมดเวลาดังกล่าว ความระแวงก็ยังคงอยู่ต่อไป

 

บางช่วงเวลาความระแวง นี้ก็ตกลงมา อย่างเช่น ยุคที่ นาย พิจิต รัตกุล เป็นผู้ว่า ฯ ก็เคยมีแนวทางชุมชนอยู่คู่กับคลองได้ และชาวบ้านเกือบจะได้กลายเป็นผู้เช่าอาศัยบนที่ดินเดิมที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

แต่ฝันร้ายก็กลับมาเด่นชัดอีกครั้งในยุคของ นาย สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ ชุมชนป้อมมหากาฬได้ถูกปิดป้ายประกาศรื้อ อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ในเวลาไม่นานมีการนำรถมาเคลียร์พื้นที่สร้างสวนสาธารณะไปส่วนหนึ่ง  แต่มีการปะทะคัดคานจากชาวบ้าน สุดท้ายต้องชาวดำเนินการยื้อเวลา รูปแบบใหม่ คือ การฟ้องศาลปกครอง

 

ในระยะที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง คือช่วงที่ทางกทม.ยังไม่สามารถดำเนินการสร้างสวน สาธารณะตามเป้าหมายได้ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ  จึงได้จัดประชุมและเตรียมข้อเสนอในการจัดการพื้นที่โดยไม่ให้ขัดแย้งกับแนวทางของกทม. โดยมีนักวิชาการบางคนเป็นที่ปรึกษา

 

จนสุดท้ายกลายเป็นข้อสรุปว่า จะขอปันพื้นที่ 1 ไร่ จากเดิม 4 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่คู่กับสวน สาธารณะ และจะเป็นผู้ดูแลรักษาโดยมีการตั้งคณะกรรมการชุมชน ที่พร้อมจะประสานงานตามแนวทางที่ร่วมกับ กทม.

 

ในยุคสมัย นาย สมัคร เป็นผู้ว่า ฯ ข้อเสนอดังกล่าวตกไป  และศาลปกครองได้ตัดสินให้ชุมชนป้อมมหา กาฬแพ้คดีด้วยเหตุผล ง่ายแต่ชอบธรรมทางกฎหมายว่า "ไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิ์" ก็ไม่มีสิทธิ์

 

จนกระทั่งฤดูกาลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กลับมาอีกครั้ง การยื้อเวลาครั้งใหม่ก็เริ่มต้น เมื่อ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ตัวแทนจากพรรค ประชาธิปัตย์ ได้ ชูนโยบายที่จะไม่ไล่รื้อชุมชนในกทม. เป็นจุดขาย และสนับสนุนบ้านมั่นคง ในครั้งนี้ นายอภิรักษ์ก็ได้รับการเลือกตั้งไปเป็นผู้ว่าฯ

 

หลังจากนั้นมา เมื่อทางชุมชนได้นำเสนอปัญหาสุมอกที่ค้างใจมากว่า 20 ปี นายอภิรักษ์ได้ส่งตัวแทนมารับฟังอยู่เสมอ จนคลอดออกมาเป็นคณะกรรมการในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยขึ้นมา และมีการประชุมไปเมื่อเดือนธันวาคม 2547 แต่จนกระทั่งวันนี้ก็มีการประชุมครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว

 

วันนี้ฝันร้ายกำลังกลับมาเยือนชุมชนป้อมอีกครั้ง เมื่อมีใบประกาศดังกล่าวข้างต้นมาติดประกาศในชุมชน สัญญาณเตือนขั้นแรกที่กำลังบอกกับชาวชุมชนว่า "คุณต้องออกไป"  ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับที่ชาวบ้านต้องเจอมาในอดีต

 

เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่จะต้องย้อนกลับไปถามตัว "อภิรักษ์" เองว่า เคยรับปากใครไว้อย่างไร หรือวางตัวแค่มารับตำแหน่ง 4 ปี  ก็เพียงพอ ดังนั้น การจัดการปัญหาครั้งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย "อภิรักษ์"พอสมควร เนื่องจากจะทำให้สังคมประเมินมุมมองการจัดการบริหารกทม.ได้ ระหว่าง การมองเห็นคุณค่าในวิถีชีวิตคนและรากทางวัฒนธรรม กับการมองเห็นคุณค่าในทางธุรกิจของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่อาจโยกจะเข้ากระเป๋าใครบางคนได้ในอนาคต

 

 สุดท้าย หากชุมชนนี้ต้องย้ายออกไปจริงๆ คงเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนไปสู่อีกหลายชุมชนที่ "อภิรักษ์" เคยสัญญาว่าจะไม่ไล่ คงต้องกลับมามองตัวเองเสียใหม่ว่า ชุมชนนั้น มีคุณค่าทาง "ธุรกิจ" เพียงพอหรือไม่ที่ กทม.จะหันมามอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท