Skip to main content
sharethis

ภาพการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ทั่งหวัดจันทบุรีเมื่อวันที่ 1 และ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ถูกฉายคู่ขนานไปกับบรรยากาศลุกฮือของชาวบ้านในจังหวังหวัดระยองเกือบทุกตำบลที่ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นพื้นที่สำหรับโครงจัดการน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการผันน้ำจากแหล่งน้ำเดิมของชาวบ้านผ่านระบบท่อ และขุดเจาะบ่อบาดาล เช่น ชาวบ้านตำบลทับมา หรือโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำสำหรับการเกษตรเพื่อนำไปให้กับอุตสาห


กรรม เช่น ชาวบ้านเขตอำเภอวังจันทร์ อ.แกลง และ กิ่งอำเภอเขาชะเมา


 


ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะมีคำอธิบายการลุกฮือของชาวบ้านครั้งนี้แล้วว่า เพราะมีผู้หวังผลทางการเมืองสร้างกระแสข่าว


 


....ย้อนถอยไปดูถ้อยคำรัฐบาลในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาอีกครั้ง


 


3 ส.ค. 2548-กรมประชาสัมพันธ์


 


"ยงยุทธ" ขอให้ผู้ที่ปล่อยข่าวหยุดสร้างกระแสวิกฤติน้ำในภาคตะวันออก


 


นายยงยุทธ  ติยะไพรัช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในภาคตะวันออก มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ซึ่งปริมาณน้ำไหลเข้าและออกสมดุลกัน ที่ปริมาณ  214,000 ลูกบาศก์เมตร  ทำให้เกิดเสถียรภาพต่อการบริหารจัดการมากขึ้น อย่างไรก็ตามนายยงยุทธ กล่าวว่า การขาดแคลนน้ำไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ หรือไม่มีน้ำใช้ตามที่มีผู้หวังผลทางการเมืองสร้างกระแสข่าว จึงขอให้ยุติการปล่อยข่าวเพราะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน


 


 


30 ก.ค. 2548-กรมประชาสัมพันธ์



กรมทรัพยากรน้ำเตรียมจัดสัมมนาแนวทางแก้ไขวิกฤตน้ำภาคตะวันออก


 


อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ  เผย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก ในเบื้องต้นได้ผันน้ำจากแม่น้ำระยอง  แม่น้ำบางปะกงและอ่างเก็บน้ำประแสร์ลงสู่อ่างเก็บน้ำต่างๆ   ทั้งอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  บางพระและอ่างเก็บน้ำดอกกรายรวมทั้งการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม


 


นายสนอง จันทนินทร อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ  เปิดเผยว่า จากภาวะการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกขณะนี้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ใช้น้ำทั้งภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม   โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด   ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีปริมาณการใช้น้ำหลายแสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน   ตลอดจนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค  บริโภคของประชาชน  สร้างความเดือดร้อนอย่างยิ่งแก่ผู้ใช้น้ำ  ซึ่งภาครัฐได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำระยอง  แม่น้ำบางปะกงและอ่างเก็บน้ำประแสร์ลงสู่อ่างเก็บน้ำต่างๆ   ทั้งอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  บางพระและอ่างเก็บน้ำดอกกรายรวมทั้งการขุดเจาะบ่อบาดาล


 


สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้นต้องมีการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งแม่น้ำสตึงนัมในประเทศกัมพูชามาใช้  ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน  ซึ่งการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้น้ำในภาคตะวันออกขณะนี้จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป


 


ทั้งนี้ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพ กรมทรัพยากรน้ำ  ได้เตรียมจัดสัมมนาแนวทางแก้ไขวิกฤตน้ำภาคตะวันออกที่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมตลอดจนการอุปโภค   บริโภคในวันที่  1  สิงหาคมนี้


 


26 ก.ค. 2548-โพสต์ ทูเดย์


 


ปิดแม่น้ำระยอง ผันน้ำเจ้าพระยาแก้แล้งตะวันออก


รัฐไม่สนเสียงค้าน เดินหน้าแผนแก้แล้งภาคตะวันออก ปิดปากแม่น้ำระยอง และผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาช่วย


 


นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมหารือ เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ว่า ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคมนี้ กรมชลประทานจะดำเนินการในการปิดปากแม่น้ำของแม่น้ำระยองชั่วคราว เพื่อสูบน้ำไปใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออก และในอนาคตจะมีการจัดสร้างประตูถาวรเพื่อบริหารจัดการน้ำต่อไป อีกทั้งจะผันน้ำจากลุ่มน้ำ เจ้าพระยาตอนล่างมายังภาคตะวันออกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และหากในอนาคตถ้าเกิดวิกฤตในการขาดแคลนน้ำขึ้นจริง ก็คงจะมีการปิดแม่น้ำบางปะกง แต่ต้องมีการปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกงก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)


 


ทั้งนี้ การปิดแม่น้ำระยองเป็นการปิดเพื่อดึงน้ำส่วนที่จะไหลลงทะเลมาใช้ ไม่ปล่อยให้ไหลลงทะเลสูญเปล่า ส่วนการผันน้ำจากลุ่มน้ำ เจ้าพระยาเพื่อนำมาชดเชยและเพิ่มเติมน้ำในภาคตะวันออก ได้มีเส้นทางการส่งน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีระบบคลองชลประทานอยู่แล้วไปยังคลองระพีพัฒน์ คลองพระราม 6 คลองมีนบุรี คลองชลประทานส่งน้ำพระองค์เจ้าไชยานุชิต มายังแปดริ้วเข้าสู่ระบบท่อของบริษัท อีสต์ วอเตอร์ เพื่อนำน้ำไปใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออก


 


นายสุทธิ อัชาศัย จากโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ จ.ระยอง กล่าวว่า   รัฐบาลได้สั่งใช้งบประมาณ 2.6 พันล้านบาท แก้ไขขาดน้ำภาคอุตสาหกรรม  อยากถามว่า รัฐบาลบริหารจัดการน้ำอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ สิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้มีการศึกษาผลกระทบที่รอบคอบกับภาคเกษตรหรือเปล่า รัฐบาลต้องทบทวนเรื่องนี้ นำเรื่องทั้งหมดมาคุยกันในที่ประชุม โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วมแสดงความเห็น ประชาชนต้องมีสิทธิมาบอกกล่าวถึงนโยบายที่มีผลกระทบต่อตนเอง


 


 


25 ก.ค. 2548- www.prachatai.com


 


รัฐเตรียมผันน้ำเจ้าพระยาลงภาคตะวันออกแก้อุตฯ แล้ง 


 


ประชาไท—25 ก.ค. 48 นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าอาจมีการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่แหล่งน้ำภาคตะวันออก ด้านยงยุทธ ติยะไพรัช เดินหน้าขุดบ่อบาดาล ในขณะที่กรมชลประ ทานสั่งปิดแม่น้ำระยองชั่วคราวเพื่อป้องกันน้ำไหลลงสู่ทะเล พร้อมระบุ หากบางปะกงวิกฤต ก็อาจนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติปิดแม่น้ำ


 


วันนี้ นายพินิจ จารุสมบัติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณากันถึงการจัดการน้ำแบบบูรณาการ


 


โดยนายพินิจกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บริษัทอีสวอเตอร์  เร่งรัดวางท่อเส้นทางบางปะกง-บางพระ และเส้นทาง คลองใหญ่-ประแส ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค.นี้  และหากเกิดภาวะวิกฤตฉุกเฉินอาจจะต้องปิดแม่น้ำบางปะกง ซึ่งจะต้องหารือกับคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกง และเสนอให้ครม.พิจารณาก่อน


 


สำหรับโครงการชลประทานคลองส่งน้ำพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งเป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองรพีพัฒน์ สระบุรี ,อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ,พระรามหก, มีนบุรี จะดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาวันละไม่เกิน 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จะนำน้ำจากการผันน้ำมาจัดสรร  3 ส่วน คือสำหรับอุปโภคบริโภค  ภาคการเกษตร และ ภาคอุตสาหกรรม


 


ทั้งนี้ นายพินิจให้ข้อมูลการใช้นำในแม่น้ำระยองว่า ปัจจุบัน บริษัททีพีไอ ดูดน้ำไปใช้วันละ 1 แสนลูก บาศก์เมตรและการประปา จ.ระยองดูดมาวันละ 5 หมื่นลูกบาศก์เมตร


 


สำหรับการปิดปากแม่น้ำระยองชั่วคราวนั้น เดิมมีกำหนดจะทำการปิดปากแม่น้ำในวันที่ 29 ก.ค. แต่ได้เลื่อนมาปิดเร็วขึ้น คาดว่าผลจากการปิดปากแม่น้ำช่วยรักษาปริมาณน้ำที่ไหลทิ้งลงทะเล และให้มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะผันสู่คลองทับมาและคลองหูเพื่อส่งเข้าระบบท่อของการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งผันเข้าสู่ระบบท่อของบริษัท อีสต์ วอเตอร์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสิ้น 220,000 ลบ.ม.


 


ด้านนายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จะดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อได้ปริมาณน้ำ 180,000 ลบ.ม. ตามกำหนด 15 ก.ย.2548 ซึ่งน้ำที่ได้จะอยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่ได้มีคลอไรด์มากเกินและหากโรงงานใดขาดแคลนน้ำให้แจ้งมาเพื่อจะดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลให้ โดยสามารถแจ้งได้ที่โทร 1362


 


23 ก.ค. 2548-http://www.matichon.co.th/khaosod


 


"พินิจ"ยาหอมแก้ปมภัยแล้ง


เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมสถานการณ์น้ำว่า ได้เชิญประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้ประกอบการ คณะผู้บริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรวม 20 คน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้มอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำในภาคตะวันออกให้กับภาคอุตสาหกรรมได้รับทราบ และขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคอุตสาหกรรมด้วย


 


นายพินิจ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และคณะจากกระทรวงเกษตรฯ โดยปรับแผนให้รวดเร็วขึ้นกว่าที่ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว เพื่อให้การลงมือก่อสร้าง ขุดเจาะบ่อบาดาลให้เร็วขึ้นก่อนกำหนด ดังนั้น หลายโครงการจะเกิดเร็ว เมื่อตนแจ้งให้ภาคอุตสาหกรรมทราบทุกคนต่างพอใจต่อแผนนั้น เพราะจะมีน้ำให้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่อไปได้อีก 200 วัน


 


นายพินิจ กล่าวว่า ขอเรียนให้ชาวสวน ชาวไร่ ในจ.ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ว่า การบริหารจัดการน้ำทั้งหมดและอ่างเก็บน้ำทั้งหมดยังเป็นของรัฐบาล กรมชลประทาน ไม่ใช่ของบริษัท อีสท์ วอเตอร์ฯ ดังนั้น กรมชลประทานจึงแก้ไขปัญหาน้ำให้ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นธรรม และแก้ไขทั้งระบบโดยไม่ได้ทอดทิ้งภาคเกษตรแต่อย่างใด และเมื่อกระทรวงเกษตรฯ จัดทำแผนเสร็จแล้วจะนำมาหารือร่วมกับตนอีก ประมาณวันจันทร์ที่ 25 หรือ 26 ก.ค.อีกครั้ง


 


29 มิ.ย. 2548-http://www.matichon.co.th/khaosod


 


ไฟเขียวเจาะ160 บ่อบาดาลแก้ภัยแล้ง


 


เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะ รัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในอุตสาหกรรมตามชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ด้วยการเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการขุดบ่อบาดาล 160 บ่อ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งจะทำให้มีน้ำมาป้อนในนิคม 1.8 แสนลูกบาศก์เมตร ด้วยงบประมาณ 428 ล้านบาท ถ้าไม่พอก็สามารถขุดให้ถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังอนุมัติโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ไปอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง วงเงิน 150 บาท เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในนิคมมาบตาพุด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ


 


พร้อมกันนี้บริษัท บริหารและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์รายงานโครงการเชื่อมโยงแหล่งน้ำในภาคตะวันออก โดยมีกำหนดแล้วเสร็จใน 2 ปี แต่ครม.ให้เร่งรัดให้เหลือ 1 ปี


 


พล.ต.อ.เฉลิมเดช ชมพูนุท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติตามที่กระ ทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอในการแก้ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภคด้วยเพียงพอในปี 2550 และสร้างระบบประปาหมู่บ้านทั่วประเทศในปี 2551 งบประมาณ 32,260 ล้านบาท โดยจะมีการขุดเจาะบ่อบาดาล 1,500 บ่อ งบประมาณ 360 ล้านบาท


 


นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า ปกติภาคอุตสาห กรรมใช้น้ำ 8 แสน ลบ.ม.ต่อวัน ส่วนใหญ่ใช้ในจ.ระยอง อ่างเก็บน้ำที่จะเก็บน้ำไว้รองรับความต้องการได้แก่ หนองปลาไหลความจุ 164 ล้านลบ.ม. มีน้ำจริงอยู่ล่าสุด 20 ล้านลบ.ม. ดอกกราย 72 ล้านลบ.ม. มีน้ำจริง 10 ล้านลบ.ม. ขณะที่น้ำไหลลงอ่างติดลบล่าสุดวานนี้ (28 มิ.ย.) ถึง 3 แสนลบ.ม. เมื่อคำนวณปริมาณน้ำที่เป็นน้ำสำรองในอ่างอีก 10 ล้านลบ.ม. จะมีน้ำเหลือใช้ประมาณ 44 วัน (กรณีที่ฝนไม่ตก) หากรัฐเร่งขุดเจาะบ่อบาดาลก็จะช่วยขยายอายุการใช้น้ำออกไปได้


 


24 มิ.ย. 2548- www.manager.co.th


 


"สมคิด" สั่งเจาะน้ำบาดาลป้อนอุตสาหกรรมระยอง


 


รมว.คลัง สั่งเจาะน้ำบาดาลรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำในนิคมอุตสาหกรรมระยอง จำนวน 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งเชื่อว่าจะรองรับความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องลดกำลังการผลิต ขณะที่อีสท์ วอเตอร์ ยืนยันว่า จะสามารถส่งน้ำให้ผู้ปะกอบการได้ตามปกติ


 


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาที่จังหวัดระยอง เพื่อตรวจดูสถาน การณ์น้ำสำหรับการรองรับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ หลังจากมีความวิตกกังวลว่า จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจากการตรวจดูอ่างเก็บดอกกราย ที่มีความจุ 47.4 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำเหลืออยู่ 11 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บนำหนองปลาไหล ที่มีความจุ 163.75 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำลดลงเหลือประมาณ 22 ล้าน ลบ.ม. รวมกันแล้ว ทั้ง 2 อ่างเก็บน้ำ มีประมาณ 33 ล้าน ลบ.ม. แต่ใช้ในภาคอุตสาห กรรมได้จริงประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากไม่ดำเนินการใด ๆ หรือไม่มีฝนตก ปริมาณน้ำดังกล่าวจะใช้ได้ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2548


 


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีปริมาณน้ำรองรับภาคอุตสาหกรรมตลอดปี นายสมคิด จึงสั่งการให้กรมน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการขุดเจาะน้ำบาดาลให้เสร็จภายใน 7 วัน เพื่อนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณ 200,000 ลบ.ม. ต่อวัน ส่วนระยะปานกลาง มีแผนในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ซึ่งมีความจุ 40 ล้าน ลบ.ม. เพื่อดึงมาใช้ที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพิ่มอีก 10 ล้าน ลบ.ม. โดยต้องวางระบบท่อส่งน้ำที่ใช้งบประมาณ 170 ล้านบาท และกำชับให้สร้างระบบท่อให้เสร็จภายใน 70 วัน จากเดิม 90 วัน ซึ่งนายพินิจ จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษในวันอาทิตย์นี้


 


"รัฐบาลไม่มีนโยบายให้ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิต เพราะจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม และเมื่อมีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว ปัญหาการลดการจ่ายน้ำร้อยละ 40 ของอีสท์ วอเตอร์ ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องรับผิดชอบดูแลเรื่องระบบน้ำทั้งหมด และการเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการประสานงานกันชัดเจนระหว่างภาครัฐและเอกชน" นายสมคิด กล่าว


 


นายพินิจ กล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะปานกลาง จะมีการวางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่อยู่ห่างไปจากตัวเมืองจังหวัดระยอง ประมาณ 40 กิโลเมตร โดยอ่างเก็บน้ำประแสร์ สามารถเก็บน้ำได้ 248 ล้าน ลบ.ม. แต่จะดึงมาใช้เพียง 85 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้เวลาในการวางระบบท่อ 250 วัน ซึ่งทำให้ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีแผนให้อีสท์ วอเตอร์ ผันจากแม่น้ำบางปะกง มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ โดยให้เร่งรัดโครงการวางท่อส่งน้ำจาก 2 ปี ให้เหลือ 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2549 โดยดึงน้ำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม 50 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแผนระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลในการดูแลระบบน้ำสำหรับการพัฒนาลุ่มน้ำภาคตะวันออก ต้องใช้งบประมาณถึง 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอสำหรับทุกภาคส่วน


 


ด้านนายวันชัย หล่อวัฒนตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า การใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมที่ชลบุรี และระยอง มีประมาณ 170-180 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และในช่วง 10 ปีข้างหน้า เมื่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ขยายตัวมากขึ้น จะมีความต้องการใช้น้ำถึง 300 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาโครงการวางระบบท่อส่งน้ำจากแหล่งต่าง ๆ มาใช้อย่างเพียงพอ เมื่อมีความชัดเจนจากรัฐบาลแล้ว ในระยะสั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร โดยในปีหน้า จะเริ่มผันน้ำจากบางปะกง เข้ามายังอ่างเก็บน้ำบางพระ โดยจะเสร็จในช่วงกลางปีหน้า และจะดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ อีก 80 ล้าน ลบ.ม. โดยเร่งดำเนินการให้เสร็จในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำของบริษัทมีถึง 130 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอต่อความต้องการจากความจุในอ่างเก็บน้ำของอีสท์ วอเตอร์ 200 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น คาดว่าความต้องการน้ำในอนาคตที่สูงถึง 300 ล้าน ลบ.ม. จะไม่มีปัญหา และเมื่อสามารถผันน้ำจากแหล่งต่าง ๆ ได้ ในช่วงนี้ บริษัทก็จะสามารถจ่ายน้ำได้ตามปกติ โดยไม่ต้องลดปริมาณการจ่ายน้ำลงร้อยละ 40 ตามที่เป็นข่าว โดยเฉพาะเมื่อมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาทดแทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net