Skip to main content
sharethis







 

 

 

ประชาไท - 5 ส.ค.48        กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)- กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.)- กองทุนเงินให้เปล่า  เริ่มใช้ปีการศึกษาหน้า  หวังขยายโอกาสทางการศึกษาเต็มที่แต่เงินไม่มีพอ  ผู้อำนวยการ กยศ.ยอมรับถูกหั่นงบเพียบ

"เราตั้งสมมติฐานให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ที่กู้ยืมเงินกยศ.เดิมว่าเป็นคนจนทั้งหมดเป็นตัวตั้ง จึงได้ของบจากสำนักงบประมาณ 4,000 ล้านบาท  แต่งบทุนให้เปล่าที่จะช่วยเด็กยาก จนกลับได้มาเพียง 689 ล้านบาท  สำนักงบฯ ต้องเห็นใจเราด้วยเพราะเกิดปัญหาแน่นอน" ดร.เปรมประชา ศุภสมุทร  ผู้อำนวยการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)  กล่าวในที่ประชุมกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา วานนี้ (4 ส.ค.)


 


ทั้งนี้  ในปีการศึกษา 2549  จะมีการขยายกองทุนจากกยศ.เดิม เป็นกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) หรือไอซีแอล รวมทั้งกองทุนเงินให้เปล่าสำหรับเด็กยากจนด้วย โดยกองทุนกรอ. เปิดโอกาสให้ทุกคนไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจนมีสิทธิกู้เฉพาะเงินค่าเล่าเรียนได้  เนื่องจากรัฐต้องการส่งเสริมให้ทำคนมีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และมีเงินทุนให้เปล่าสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายให้นักเรียนที่ยากจน 


 


"เราดูแลจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่กู้ยืมกยศ.ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้แน่  เพราะส่วนหนึ่งงบเงินทุนให้เปล่า 689 ล้านบาท ที่ได้มาไม่พอแน่นอน เพราะเงินจำนวนนี้เท่ากับ 5% ของนักเรียนยากจนที่กู้ยืมกยศ.เท่านั้น  ซึ่งเราก็อยากยืนยันตัวเลขเดิมที่ขอสำนักงบประมาณไป 4,000 กว่าล้านบาท"  ดร.เปรมประชากล่าวด้วยความกังวล


 


ดร.เปรมประชา ชี้แจงว่า  "ทั้งกยศ. กรอ.และกองทุนให้เปล่า  ที่จะต้องนำมาใช้ในปีการศึกษา 2549  นั้นเกิดขึ้นแน่นอน   ซึ่งตอนนี้ได้เตรียมเม็ดเงินทั้ง 3 กองทุนไว้แล้ว  โดยกยศ.ได้งบประมาณมา 25,000 กว่าล้านบาท งบกรอ.4,800 ล้านบาท  และงบเงินทุนให้เปล่าอีก 689  ล้านบาท


 


ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 12 ก.ค. 48 เห็นชอบในหลักการ ให้งบประมาณ กรอ. จำนวน 6,380 ล้านบาทและกองทุนเงินให้เปล่าจำนวน 4,330 ล้านบาท และได้มอบหมายให้คณะผู้บริหารกยศ.เดิมดูแล


 


ด้าน ผอ.กยศ. อธิบายว่า  ในระดับอุดมศึกษา นิสิตนักศึกษาปัจจุบันที่เรียนในปี 1-3  ยังคงให้ใช้เงินกู้จากกยศ.เช่นเดิม  โดยสามารถกู้ยืมได้ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว  ค่าเล่าเรียน  และค่าเกี่ยวเนื่องการศึกษา  ส่วนกรอ.จะเริ่มนำมาใช้กับนศ.ที่เข้าเรียนปี 1ในปีการศึกษาหน้าซึ่งคาดว่าจะมีนศ.กู้ 80% ซึ่งงบ 6,000 ล้านบาท น่าจะอยู่ในความเป็นไปได้ในการบริหาร  แต่เมื่อสำนักงบประมาณให้งบเงินทุนได้เปล่ามาเพียง 689 ล้านบาท จึงไม่น่าเพียงพอสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและปวช.


 


"เราได้ของบเพิ่มเติมไปแล้ว  ถ้าได้ตามที่ขอไว้ผมก็มั่นใจว่าจะสามารถให้เปล่าแก่นักเรียนระดับม.ปลายได้  แต่ตอนนี้เดือดร้อนเพราะมีเด็กอยากจนที่กู้กยศ.อยู่  และกยศ.รับรองว่าจะมีงบให้กับทุกคนจะได้ไม่เสียโอกาสการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ผมก็ไม่มั่นใจเรื่องงบที่จะได้เพิ่มนัก"  ผอ.กยศ. กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ดร.เปรมประชากล่าวว่า ได้เตรียมการแผนสองเอาไว้แล้ว  หากได้รับจัดสรรงบไม่พอ  ก็ต้องหาทางดูแลให้บริหารจัดการให้ได้  สำหรับนักเรียนม.ปลาย ก็ยังคงให้กู้กยศ. ต่อ แล้วเงินทุนให้เปล่าแก่เฉพาะนักเรียนเข้าใหม่ม.4  และอาจจะต้องมีการออกพันธบัตร  หรือขอเงินให้เปล่าจากกองทุนหวยบนดิน  หากงบประมาณไม่เพียงพอจริงๆ


 


ขณะเดียวกัน  ศ.ดร.บุญเสริม  วีสกุล  กรรมการอำนวยการปฏิรูปการเงินอุดมศึกษา  อธิบายเพิ่มเติมสำหรับเงินทุนให้เปล่าว่า  เนื่องมาจากพ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี โดยกำหนดเงินทุนให้เปล่าเป็นเงินจ้างให้นักศึกษาทำงาน  เพื่อให้เกิดสำนึกในคุณค่าของเงินมากขึ้น 


 


"นี่เป็นระยะเปลี่ยนผ่านกันก็คงต้องให้ผ่านไปก่อน  แล้วค่อยคิดกันใหม่  การจัดการเงินขยายฐานคงต้องของบในรอบที่ 2,3 ต่อไป"  ศ.ดร.บุญเสริม  กล่าว


 


ขณะที่นายวิบูลย์  แช่มชื่น  คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา  เห็นว่า  กรอ.ไม่แตกต่างกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คือไม่ว่าคนรวยหรือจนก็สามารถกู้ได้หมด วิธีคิดตรงนี้น่าจะไม่ถูกต้อง จึงน่าจะมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน  เพราะมีเงินจำกัดไม่สารถให้กับทุกคนได้


 


"แทนที่จะทำแบบโครงการ 30 บาท ฯ เราต้องชัดเจนกว่านี้ จุดที่ต้องการปรับปรุงผมสนใจด้านคุณภาพมากกว่า  ตอนนี้เงินมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้งบเพิ่มหลังจากมีกรอ.  เพียงแต่มีการโอนเงินกู้ให้มหาวิทยาลัยเท่ากับนักศึกษาเป็นหนี้แทน  เท่ากับรัฐประหยัดเงินและยังผลักภาระหนี้ให้ผู้ปกครองด้วย ผมไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร"  ส.ว. วิบูลย์  กล่าว


 


ขณะเดียวกัน  นางอรวรรณ  ชยางกูร  ผู้อำนวยการจัดทำงบประมาณด้านการศึกษา  สำนักงบประมาณชี้แจงว่า  งบประมาณทั้งประเทศมี 1.36 ล้านล้านบาท  ส่วนการทรวงศึกษาธิการ  เป็นกระทรวงในลำดับแรกที่ได้รับเงินสูงสุดถ้าไม่นับงบกลาง  ประมาณ 2.55 แสนหรือคิดเป็น 16.58% ซึ่งเป็นงบบุคลากรเป็นส่วนใหญ่  จึงยากที่จะจัดการงบลงทุนในด้านอื่นเพราะเพียงค่าใช้จ่ายบุคลากรอย่างเดียวประมาณ  60-70% โดยมหาวิทยาลัยมีทั้งหมด 78 แห่ง  มีงบประมาณทั้งหมด 47,672 ล้านบาท 


 


"ต่อไปกรอ.ต้องวางยุทธศาสตร์และสนับสนุนในสาขาที่ประเทศมีความต้องการมาก นั่นคือสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เพื่อกำกับทิศทางคนของประเทศ  คงเริ่มในปีต่อไปด้วยการอาศัยการพัฒนาฐานข้อมูล"  นางอรวรรณกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net