Skip to main content
sharethis

 


 


ประชาไท—6 ส.ค. 48  ประธานกก.สิทธิฯ "เสน่ห์ จามริก" ใช้เวทีรัฐบาลเปิดตัวเค้าโครงแผ่นแม่บทสิทธิมนุษยชน ระบุ 5 ประเด็นสำคัญ เน้นการตระหนักรู้ของคนในสังคม โดยมุ่งพัฒนาไปสู่ วัฒนธรรมสิทธิฯ และนโยบายสาธารณะในทุกระดับ


 


"ผมขอเสนอเค้าโครงร่างแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนที่สร้างสรรค์  ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ที่เป็นหลักเป็นฐานและทั่วถึงรอบด้าน ทั้งนี้เคยมีแผนแม่บทปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนมาแล้วในปี 2542 แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติใช้  ร่างเค้าโครงนี้มี 5 ประเด็น  ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม  จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม  และนำไปสู่การคิดอ่านร่วมกัน เผยแพร่ให้เกิดการตื่นตัวและใช้ปฏิบัติจริงในชีวิต"  ศ.เสน่ห์  จามริก  ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าว


 


ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ใช้โอกาสการถ่ายทอดสดการประชุมเชิงปฏิบัติ การ  "สิทธิมนุษยชนสังคมไทย...มาตรฐานสู่การปฏิบัติ" ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม  นำเสนอเค้าโครงร่างแผนแม่บทดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีและสาธารณชน


 


ศ.เสน่ห์  กล่าวว่า  รัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นเพียงกฎหมายสูงสุดของประเทศ  แต่ยังเป็นอัตชีวประวัติของสังคมด้วย  โดยนำบทเรียนในอดีตมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันและยังต้องมีวิสัยทัศน์ไปสู่อนาคต 


 


ทั้งนี้เค้าโครงร่างแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  เพื่อการพัฒนาสิทธิฯที่ต่อเนื่องและฝังรากลึกในสังคมวัฒนธรรมไทยในอนาคตด้วย


 


ศ.เสน่ห์ ได้สรุปประเด็นสำคัญ 5 ประการในเค้าโครงแผนฯ โดยในประเด็นแรกเน้นถึงคุณค่าและความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เนื่องจากที่ผ่านมาต่างคนต่างพูดไปเรื่อยโดยไม่ตระหนัก  โดยจะ ต้องให้รับรู้ความสำคัญของสิทธิฯอย่างแท้จริงไม่เช่นนั้นก็จะเป็นอันตราย 


 








กล่าวโดยสรุป  สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ช่วยหนุนเสริมการพัฒนาประเทศ โดยเป็นต้นทุนทางสังคมทั้งในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม  สิทธิฯจึงเท่ากับ 2 ด้านของเหรียญ   ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถพัฒนาและแข่งขันให้หลากหลาย  การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมต้องให้โปร่งใสและเปิดเผยทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ ส่งเสริมเสรีภาพและความเป็นธรรมเพื่ออยู่กันกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุข และต้องคำนึงถึงในฐานะประเทศไทยเป็นสมาชิกของสมาคมนานาชาติต่างๆ ด้วย



 


ประการต่อมา  สิทธิมนุษยชนต้องอ้างอิงฐานบังคับใช้ตามกติการัฐธรรมนูญในประเทศและกติการะหว่างประเทศ  โดยมองที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้แก่  ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ  ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ  ซึ่งกก.สิทธิฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 2 ด้านตามเจตนารมณ์ดังกล่าว  นั่นคือ  แสวงหาความร่วมมือกับภาครัฐและพยายามสร้างเครือข่ายกับภาคประชาสังคม 


 


"สำหรับปฏิญญาสากลและอนุสัญญาระหว่างประเทศ ผมดีใจที่พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพูดถึง  ผมไม่อยากรอให้องค์การสหประชาชาติเรียกเราไปตอบคำถาม  ถ้าเรามีการเตรียมพร้อมก็จะสามารถเสนอรายงานด้านความสำเร็จได้"  ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าว


 


ทั้งนี้  ประการที่ 3  เป็นแผนปฏิบัติการและการพัฒนาสิทธิมนุษยชน  โดยเน้นให้ทุกคนมีสิทธิอยู่รวมกันแบบบูรณาการส่งเสริมทั้งบุคคลและชุมชน กำหนดแผนคุ้มครองกลุ่มเป้าหมาย  ส่งเสริมการเรียนรู้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น  รวมทั้งปกป้องบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากร โดยให้มีลักษณะเครือข่ายระดับชุมชนเกิดขึ้น


 


ประการที่ 4  ข้อเสนอแผนพัฒนาวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน  โดยใช้หลักนิติธรรม  คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่าการปฏิรูปการเมืองต้องใช้สิทธิมนุษยชนเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกัน ต้องมีการฝึกอบรมปฐมนิเทศเจ้าหน้าที่แบบบูรณาการโดยมีกฎเกณฑ์มาตรฐานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  พร้อมทั้งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจเอกชน  การศึกษา  และในระดับครอบครัวชุมชน 


 


 "กระบวนการจัดทำแผนแม่บท ควรต่อเนื่องทั้งในระยะ 5 -10-15 ปี โดยกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกัน และจำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศ"ศ.เสน่ห์ กล่าวถึงประการสุดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net