จาก The Little Boy ถึง ซาดาโกะ ในสงครามยังมีความหวัง

  ห้วงขณะนี้  หากนับวันเวลาที่ผ่านจนถึงบัดนี้  นับได้ว่าอายุของ เจ้าหนูน้อย หรือ The Little Boy อะตอมมิกส์บอมบ์ที่สหรัฐอเมริกานำไปถล่มเมืองฮิโรชิมา  มีอายุครบ 60  ปี  ในขณะที่เด็กหญิงชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ซาดาโกะ  ซาซาโกะ  หากเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจะมีอายุได้  62  ปี แล้ว

ทั้งเจ้าหนูน้อย กับซาดาโกะ  แม้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก ทว่าเมื่อมองให้ลึกลงไป  กลับมองเห็นความแปลกแยกแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดว่า- - The Little Boy หรือ เจ้าหนูน้อยนั้นอุบัติขึ้นมาเพื่อการทำลายล้าง  แต่สำหรับเธอ ซาดาโกะ  เธอเกิดมาเพื่อยืนยันในสันติภาพ  ความศรัทธาหวัง  และพลังในการดำรงอยู่ของชีวิต.

1.  

The Little Boy  "เจ้าหนูน้อยมหันตภัย"
หลายคนคงได้ยินชื่อและคุ้นเคยกับฉายา "เจ้าหนูน้อย" ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำขึ้นจากธาตุยูเรเนียม 235 ขนาดกว่า 10 กิโลตัน (ทีเอ็นที) ที่กองทัพสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2448  และถูกนำไปถล่มเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเช้าวันที่ 6 สิงหาคม 2488 

เป็นผลทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที  70,000 คน  จากประชากรทั้งหมด 300,000 คน  และคาดว่ายังมีผู้เสียชีวิตจากกัมมันตภาพรังสีของระเบิดดังกล่าวในเวลาต่อมาอีกไม่น้อยกว่า 100,000 คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตมาได้ ก็มีชีวิตอยู่อย่างทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส  เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นความโหดร้ายที่สุด เท่าที่มนุษย์หยิบยื่นให้แก่กัน

ว่ากันว่า  เดิมทีนั้น  สหรัฐอเมริกาตั้งใจไว้ว่าจะใช้ระเบิดนิวเคลียร์กับเยอรมนี  แต่ในช่วงที่มีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกที่นิวเม็กซิโกนั้น   เยอรมนีกำลังเพลี่ยงพล้ำ  สหรัฐอเมริกาจึงพุ่งเป้าหมายไปที่ญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นกำลังรุกคืบหน้าออกไป  แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรสามารถตีโต้ญี่ปุ่นได้ทุกด้านก็ตาม แต่คาดว่าจะใช้เวลานาน และต้องสูญเสียผู้คนและทรัพยากรอีกมากมายมหาศาลกว่าญี่ปุ่นจะยอมแพ้

ดังนั้น ทางเดียวที่จะทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ในเวลาอันรวดเร็วก็คือ ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้

เกาะติเนียน (Tinian) เกาะขนาดเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่นประมาณ 2,500 กิโลเมตร คือที่ตั้งของกองพัน 509 แห่งกองทัพสหรัฐฯ ที่นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นแห่งภารกิจถล่มญี่ปุ่นด้วยระเบิดนิวเคลียร์ "เจ้าหนูน้อย"  หรือ The Little Boy ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำจากธาตุยูเรเนียม 235  และ "เจ้าอ้วน"  หรือ The Fat Man  ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำจากธาตุพลูโตเนียม 239   ได้ถูกลำเลียงไปเก็บไว้บนเกาะดังกล่าวก่อนหน้านั้นเรียบร้อยแล้ว 

สนามบินในที่ตั้งของกองพัน 509 ของกองทัพสหรัฐฯ  มีลู่วิ่งยาว เหมาะสำหรับเครื่องบินที่มีการบรรทุกหนักในการบินขึ้น  แผนที่กำหนดไว้คือ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบบี-29 จำนวน 7 เครื่อง สามเครื่องแรกมุ่งสู่เมืองฮิโรชิมา โคคุระ และ นางาซากิ ตามลำดับ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเป้าหมายและสภาพอากาศ

เหตุที่เลือกเมืองเหล่านี้เป็นเป้าหมาย  เนื่องจากเป็นเมืองหลักที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ทำให้สามารถหวังผลการโจมตี และหลีกเลี่ยงการตอบโต้ได้ดี

เครื่องบินนามว่า "เอโนลา เกย์" ใช้บรรทุก "เจ้าหนูน้อย" เครื่องบินเครื่องหนึ่งใช้บินคุ้มกันและประเมินผล อีกสองเครื่องสำรองไว้กรณีเครื่องอื่น ๆ ขัดข้อง กำหนดวันเวลาปฏิบัติการคือ เช้ามืดวันที่ 6 สิงหาคม 2488 และต่อไปนี้คือบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวตามเวลาที่เกาะติเนียน (ช้ากว่าญี่ปุ่น 1 ชั่วโมง)

6 สิงหาคม 2488
 

02.45           เครื่องบินแบบบี-29 เครื่องแรกเริ่มออกจากเกาะติเนียนมุ่งสู่ประเทศญี่ปุ่น
03.00            เริ่มประกอบส่วนต่าง ๆ ของ "เจ้าหนูน้อย"
เข้าด้วยกัน
03.15            การประกอบ "เจ้าหนูน้อย"
เสร็จสมบูรณ์
07.30 .            เคลื่อน "เจ้าหนูน้อย"
เข้าประจำตำแหน่ง รอการทิ้งลงสู่เป้าหมาย
07.41 .
            เครื่องบินไต่เพดานบินสู่ระดับสูง เครื่องบินล่วงหน้าสามเครื่องแจ้งว่า
                        ทัศนะวิสัยเหนือเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิดีมาก

08.38 .            เครื่องบินไต่ขึ้นสู่ระดับ 32,700
ฟุต
08.44 ทดสอบวงจร "เจ้าหนูน้อย"
เป็นครั้งสุดท้าย ผลปรากฏว่าเรียบร้อยดี
                        ลดระดับเพดานบินสู่เป้าหมาย
09.09 .           
มองเห็นที่ตั้งของเมืองฮิโรชิมาอยู่เบื้องล่าง
09.15 .            "เจ้าหนูน้อย" ถูกปล่อยลงไป

เมื่อ "เจ้าหนูน้อย" ถูกปล่อยลงไป นักบินได้รับคำเตือนให้ใส่แว่นดำแบบพิเศษที่เตรียมไว้ แล้วไต่เพดานบินขึ้นสู่ระดับสูงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงนาที ไม่กี่อึดใจต่อมา ปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่นิวเม็กซิโกเมื่อเดือนก่อนก็อุบัติขึ้นอีกเหนือเมืองฮิโรชิมาบนระดับสูงขึ้นไปท้องฟ้า 600 เมตร

ลูกไฟขนาดมหึมาสว่างวาบขึ้น ความร้อนและแรงขับดันมหาศาลทำลายเมืองฮิโรชิมาเป็นจุลในเวลาไม่กี่นาที พื้นที่บริเวณระเบิดตกประมาณ 8 ตารางกิโลเมตรราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตทันที 70,000 คน บาดเจ็บอีกจำนวนเท่ากัน

วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์อาซาฮี (Asahi Shimbun) หนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของญี่ปุ่น รายงานข่าวในกรอบเล็ก ๆ ว่า "เมืองฮิโรชิมาถูกโจมตีด้วยระเบิดเพลิง เสียหายเล็กน้อย" แสดงว่าญี่ปุ่นยังไม่ยอมจำนน

กองพัน 509 แห่งสหรัฐฯ จึงกำหนดภารกิจถล่มเมืองนางาซากิ ด้วย "เจ้าอ้วน" ในวันที่ 9 สิงหาคม 2488   ผลคือ มีผู้เสียชีวิตทันที 40,000 คน บาดเจ็บ 60,000 คน พื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตรราบเป็นหน้ากลอง

ปฏิบัติการถล่มญี่ปุ่นด้วยระเบิดนิวเคลียร์ทั้งสองครั้ง ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2488

2.

ซาดาโกะ  ซาซากิ "เด็กหญิงผู้ศรัทธาเชื่อมั่นต่อชีวิต"

"ซาดาโกะ  ซาซามิ"  เด็กผู้หญิงชาวญี่ปุ่น  เธอกำเนิดขึ้นมาลืมตาดูโลกเมื่อ วันที่ 7 ม.ค.2446  ที่เมืองฮิโรชิมา  ประเทศญี่ปุ่น 

6  สิงหาคม ค.ศ.2448  ขณะนั้นเธออายุได้ 2 ขวบ  เครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ  พยายามที่จะยุติสงครามโลกครั้งที่สอง  ด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกที่เมืองนี้

หลังจากมีการทิ้ง "เจ้าหนูน้อย" ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำจากธาตุยูเรเนียม 235 ลงบอมบ์เมืองฮิโรชิมา   10 ปีผ่านไปหลังจากนั้น  เด็กหญิงซาดาโกะ  ก็เสียชีวิตลง  หลังจากที่เธอต่อสู้เผชิญกับโรคร้ายอยู่ถึง  8  เดือน 

"หนูเป็นโรคจากระเบิดปรมาณูจริงๆ หรือคะ?"  ซาดาโกะถามพ่อ  แววตาของนายซาซากิแสดงถึงความลำบากใจ

"หมอเขาอยากตรวจสอบอะไรบางอย่างแค่นั้นแหละจ๊ะ" พ่อของซาดาโกะพูดได้แค่นั้น

ความกล้าหาญของเธอในการต่อสู้กับโรคร้าย  โดยปราศจากคำพร่ำบ่น  รำพึงรำพันใดๆ  และความศรัทธาเชื่อมั่นต่อชีวิตที่เป็นอยู่  เห็นได้จากความมุ่งมั่นของเธอ  ในห้วงขณะที่เธอเจ็บป่วยอยู่นั้น  เธอเฝ้าเพียรพับนกกระเรียนทีละตัวๆ  เพื่อให้ครบ 1,000  ตัว 

ด้วยความหวังตามความเชื่อในเรื่องเล่าโบราณที่เพื่อนๆ บอกกับเธอว่า  นกกระเรียนนั้นมีอายุยืนเป็นพันปี  ถ้าคนป่วยพับนกกระเรียนได้หนึ่งพันตัว  เทพเจ้าจะรับคำอธิษฐานและอวยพรให้แข็งแรงดีอีกครั้ง

เธอพับนกกระเรียนได้ทั้งหมด  644 ตัวเท่านั้น ยังไม่บรรลุตามหวังที่ตั้งเอาไว้ว่า  จะต้องพับนกกระเรียนให้ได้  1,000  ตัว  ซาดาโกะ  เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25  ตุลาคม 2457  ในขณะที่เธอมีอายุ 12  ขวบ  

เพื่อนๆ  ร่วมชั้นเรียนของเธอ  ช่วยกันพับนกกระเรียนเพิ่มอีก  356  ตัว  เพื่อให้ครบหนึ่งพันตัว  แล้วฝังไปพร้อมกับเธอ  ซาดาโกะ  ซาซากิ  หลังจากพิธีฝังศพของเธอผ่านไป  นักเรียนชั้นต้นไผ่ก็ได้รวบรวมจดหมายของซาดาโกะ  และบันทึกของเธอมาพิมพ์เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง  โดยตั้งชื่อว่า "โคเคชิ"  ตามชื่อตุ๊กตาไม้ที่พวกเขาได้ให้ซาดาโกะ  ตอนที่เธอป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล  หนังสือเล่มนี้ถูกส่งไปทั่วญี่ปุ่น  และในไม่ช้า  ทุกคนก็รู้เรื่องของ ซาดาโกะ กับนกกระเรียนพันตัวของเธอไปทั่ว

เพื่อนๆ  ของซาดาโกะ  เริ่มฝันที่จะสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่เธอ  และบรรดาเด็กๆ  ที่ถูกสังหารด้วยระเบิดปรมาณู  กลุ่มเยาวชนทั่วประเทศช่วยกันรวบรวมเงินเพื่อโครงการนี้  ในที่สุด  ความฝันของพวกเขาก็เป็นจริง 

ในปี ค.ศ.1958  รูปปั้นก็ถูกเปิดผ้าคลุมออกในสวนสันติภาพฮิโรชิมา  เป็นรูปปั้นซาดาโกะ ยืนอยู่บนภูผาสวรรค์  สร้างด้วยหินแกรนิต  กำลังถือนกกระเรียนสีทองอยู่ในอุ้งมือที่เหยียดชูขึ้น

หลังจากนั้น  ชมรมพับนกกระเรียน  ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ  ต่อมาสมาชิกของชมรมได้เริ่มแผ่ขยายไปทั่วโลก  เด็กเยาวชนจากหลายๆ  ประเทศ  ได้ร่วมกันพับนกกระเรียน  และนำนกกระเรียนไปวางไว้ให้รูปปั้นของซาดาโกะ  ในวันสันติภาพ  ทุกวันที่  6  สิงหาคม ของทุกปี 

พวกเขาร่วมกันอธิษฐานพร้อมกัน  ด้วยคำอธิษฐานที่ถูกจารึกไว้บนฐานของรูปปั้นนั้นว่า...

นี่คือคำร้องของเรา

นี่คือคำอธิษฐานของเรา

ขอสันติภาพจงบังเกิดแก่โลกด้วยเถิด.

3.

  ห้วงขณะนี้  หากนับวันเวลาที่ผ่าน  จนถึงบัดนี้  นับได้ว่า อายุของ เจ้าหนูน้อย หรือ The Little Boy  มีอายุได้ 60  ปี  ในขณะที่เด็กหญิงชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ซาดาโกะ  ซาซาโกะ  หากเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจะมีอายุได้  62  ปี  และไม่น่าเชื่อว่า  ทั้งเจ้าหนูน้อย กับซาดาโกะ  แม้เราจะมองกันว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก 

ทว่าเมื่อมองให้ลึกลงไป  กลับมองเห็นความแปลกแยกแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดว่า- - The Little Boy หรือ เจ้าหนูน้อย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการทำลายล้าง  แต่สำหรับเธอ ซาดาโกะ  เธอเกิดมาเพื่อยืนยันในสันติภาพ  ความศรัทธาหวัง  และพลังในการดำรงอยู่ของชีวิต.

เอกสารอ้างอิง
อดิศร ฟุ้งขจร. การตรวจจับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินโดยวิธีทางแผ่นดินไหว. กรมอุตุนิยมวิทยา, กรุงเทพฯ, กันยายน - ธันวาคม 2530

Eleanor  Corrr เขียน.พินทุสร  ติวุตานนท์  แปล.ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว.สำนักพิมพ์ชานชาลา,กันยายน 2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท