Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 ส.ค.48        ศาสตราจารย์พิเศษภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา ผ่านกองทุนให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) หรือ ICL ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากมหาวิทยาลัยต่างๆ  เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ


 


"ข้อมูลที่เร่งด่วนในตอนนี้มี 3 ส่วนซึ่งเกี่ยวโยงเป็นลูกโซ่ คือ ข้อมูลนักศึกษาซึ่งสถาบันอุดมศึกษาดูแลรับผิดชอบอยู่ ข้อมูลหลักสูตร ข้อมูลอาจารย์  ถ้ามีข้อมูลเหล่านี้ก็จะทำให้ขับเคลื่อนระบบ ICL ได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม และในปีหน้าทาง สกอ. จะขยายการจัดทำระบบข้อมูลการเงินด้วย" เลขาธิการ กกอ. กล่าว


 


เลขาธิการ กกอ. ระบุว่า ในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีระบบข้อมูลของสถาบันอยู่แล้ว แต่จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ขอให้แต่ละแห่งส่งข้อมูลมาสู่ระบบกลางของสกอ. เพื่อให้การรายงานผลออกมาในรูปแบบเดียวกัน และขณะนี้ได้มีสถาบันอุดมศึกษาส่งข้อมูลครบทั้ง 3 ส่วนแล้วทั้งหมด 63 แห่ง จากทั้งหมด 127 แห่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐยังขาดอยู่เพียง 14 แห่งเท่านั้น  


 


"ถ้าระบบข้อมูลของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ สามารถทำเป็นระบบเดียวกันได้ก็จะดีที่สุด ดังนั้น สกอ. จึงวางแผนที่จะให้คำแนะนำสำหรับสถาบันอุดมศึกษาใหม่ หรือสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องการพัฒนาระบบข้อมูลให้จัดทำฐานข้อมูลให้อยู่รูปแบบเดียวกัน" เลขาธิการ กกอ. กล่าว


 


เมื่อถามถึงกรณีที่นักศึกษาใช้บริการกองทุน ICL แล้วเรียนไม่จบนั้น เลขาธิการ กกอ. ชี้แจงว่า ในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาข้อสรุปว่าจะวางแนวทางอย่างไร อย่างไรก็ตาม การชำระหนี้ยังผูกติดกับระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลของกรมสรรพากร ซึ่งถ้าระบบการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ ระบบการจัดเก็บหนี้สินของ ICL ก็จะมีประสิทธิภาพตามไปด้วย โดยอาจจะต้องขอความร่วมมือกับนายจ้างให้มีระบบการหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net