Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 
ประชาไท—10  ส.ค.  48    "ประเทศไทยไม่ควรซื้อดาวเทียมธีออส แม้จะเซ็นสัญญาซื้อไปแล้วก็ควรเลิกดำเนินการต่อเพราะจะช่วยให้ได้กำไรมากกว่า และอย่าเพิ่งมีดาวเทียมตอนนี้เพราะเราไม่มีบุคลากรและทรัพยากรมากพอ"  ดร.ธวัช  วิรัตติพงษ์  กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วันนี้  ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้เชิญ ดร.ธวัช  วิรัตติพงษ์  ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ  "มองโลกจากอวกาศ....ประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างไร"  ทั้งนี้  ได้หยิบยกประเด็น  "บทเรียนราคาแพงจากดาวเทียม  6,440 ล้านบาท" กล่าวในช่วงท้ายด้วย 

 

 

 

 

 

ดร.ธวัช  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการห้องปฏิบัติการสำรวจอวกาศที่ไม่ใช่มนุษย์  โครงการออกแบบประกอบและติดตั้งเครื่องรับสัญญาณยานอวกาศจากนอกโลก  องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา  (นาซ่า)  ซึ่งเป็น 1 ในจำนวนชาวเอเชียที่มีประมาณ 10-15% ที่ได้ร่วมงานกับองค์การนาซ่า

 

 

 

 

 

ขณะนี้ ดร.ธวัช  กำลังรับผิดชอบการปรับปรุงระบบการสื่อสารรับสัญญาณนอกโลกของนาซ่า โดยการสร้างจานดาวเทียมในวงเงิน 1.6 พันล้านบาท ได้แสดงทัศนะต่อการดำเนินการจัดซื้อดาวเทียม

 

 

ธีออสของไทย ว่าไม่สมเหตุสมผล ดังนี้

 

 

 

 

 

ประการแรก  การใช้ดาวเทียมเพื่อทำการค้าให้ได้กำไร   ดร.ธวัช  กล่าวว่า  แม้แต่เจ้าของโครงการยังบอกว่าเราจะขาดทุนหลายพันล้าน ซึ่งถ้าขาดทุนตั้ง  80-90% จึงนับเป็นเหตุผลทั้งหมด  แต่ถ้าจะยังทู่ซี้ทำต่อก็ต้องมีเหตุผลมาหักล้างที่ดีมาก

 

 

                                 

 

 

"ประการต่อมา  เพื่อเรียนรู้การออกแบบและสร้างดาวเทียม ประเทศไทยจะได้ตามเขาทัน  ผมว่าไม่ใช่  เพราะการออกแบบเพื่อใช้จริงนั้นไม่ใช่ทำกันเล่นๆ ไม่ไช่ทำกันง่ายๆ  และการส่งคนไป 20-30 คน เพื่อไปอบรม 2-3 ปี  ใครๆ ก็รู้ว่าถึงยังไงก็กลับมาทำดาวเทียมเองไม่ได้"  วิศวกรไทยในนาซ่า ชี้แจง

 

 

 

 

 

ประการที่สาม  ดาวเทียมเพื่อทำการจารกรรม  ดร.ธวัช  ก็กล่าวหนักแน่นว่าทำไม่ได้  เพราะ resolution  2 เมตร  หรือความละเอียดในการอ่านยังน้อยเกินไป  ถ่ายรูปก็ยังมองไม่เห็นและยังต้องใช้เวลาถึง 26 วัน ดาวเทียมถึงจะโคจรกลับมาที่เก่าซึ่งไม่ทันการณ์แน่นอน

 

 

 

 

 

สำหรับ  ประการที่สี่  หากคาดการณ์ว่าอายุดาวเทียมอาจมากกว่า 10 ปี  ดร.ธวัชก็ยังมองว่ายังไม่คุ้ม  โดยดร.ธวัช ให้เหตุผลว่าไม่มีใครรู้จริงว่าดาวเทียมจะมีอายุการใช้งานเท่าไรแน่  อาจจะตั้งแต่ 0-14 ปีก็ได้  ขึ้นอยู่กับการออกแบบ  สำหรับดาวเทียมธีออสถูกออกแบบให้ใช้งานได้ 5 ปี  ดังนั้นผลกำไรก็ต้องยึดตัวเลขตรงนี้ในการคำนวณ 

 

 

 

 

 

ประการที่ห้า  ดาวเทียมจะทำให้สะดวกรวดเร็วในการได้ภาพถ่ายจากดาวเทียม เพราะเป็นของไทยเอง  ดร.ธวัชค้านว่า อาจจะไม่จริง  เพราะว่าดาวเทียมจะโคจรถึงจุดเดิมทุกๆ 26 วัน  และยังมีอยู่แค่ดวงเดียวทำให้ไม่สะดวก  โดยถ้าเลือกซื้อข้อมูลจากดาวเทียมอื่นจะสะดวกกว่า  อีกทั้งมีคุณภาพดีและแนวโน้มราคาถูกลงด้วย

 

 

 

 

 

ประการสุดท้าย  หากมองว่ารัฐบาลตกลงทำสัญญาและจ่ายเงินไปเมื่อปีที่แล้ว หากยกเลิกประเทศจะขาดทุนเป็นพันล้านบาท  ดร.ธวัช  กลับเห็นว่าถ้ารัฐบาลยกเลิกจะทำให้ได้กำไรถึง 5 พันกว่าล้านบาท  และยังสามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนได้อีกเป็นจำนวนมาก

 

 

 

 

 

ทั้งนี้  ดร.ธวัช  กล่าวว่า  หากรัฐบาลยังคิดจะอยู่กับโครงการนี้ต่อไป 5-6 ปี ข้างหน้าเมื่อดาวเทียมหมดอายุก็ต้องซื้อดาวเทียมดวงใหม่  เท่ากับว่าประเทศไทยจะขาดทุนอีกหลายพันล้าน 

 

 

 

 

 

ในที่สุด  ดร.ธวัช  ก็สรุปว่า  "จากที่กล่าวมาทั้งหมด  ผมจึงหมดเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจะต้องซื้อดาวเทียมธีออส"

 

 

 

 

 

ขณะเดียวกัน  ดร.ธวัช  ได้เสนอทางออกสำหรับประเทศไทย  โดยกล่าวว่า  ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าของดาวเทียมในขณะนี้  โดยสามารถซื้อภาพถ่ายจากดาวเทียมอื่นๆ จะช่วยประหยัดจำนวนเงินไปได้มาก  พร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของไทยให้มากยิ่งขึ้น 

 

 

 

 

 

 

 

"ถ้ารัฐบาลเลือกได้เอากลับมา 5 พันล้านดีกว่า  ผมไม่ใช่ต่อต้านรัฐบาลแต่มองว่าอะไรไม่ถูกก็ไม่ควรทำ  และเราควรซื้อดาวเทียมเรดาร์มากกว่า  เพราะสามารถถ่ายได้แม้มีเมฆและเป็นที่นิยมมาก ซึ่งขณะนี้ประเทศเวียดนาม และสิงคโปร์ก็กำลังใช้อยู่"  นายช่างไทยในนาซ่า  อธิบาย

 

 

 

 

 

ทั้งนี้  ดร.ธวัช เสนอว่า  ทางที่ดีที่สุดคือซื้อภาพจากดาวเทียมอื่นจะได้ราคาถูกกว่า สะดวกกว่าและเร็วกว่า  ในขณะเดียวกันก็มีดาวเทียมนับสิบดวง  ซึ่งค่าใช้จ่ายปีหนึ่งๆ ไม่ถึง 200-300 ล้านบาทแน่นอน เพราะประเทศไทยไม่ได้ซื้อเป็นจำนวนมากและยังสามารถเลือกได้อีกด้วย

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net