"เกษตรระยอง"โต้รัฐลงพท.ดูน้ำของจริงแทนโชว์ในกระดาษ







ประชาไท - 15 ส.ค. 48 "มาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐฯ ยุติธรรมหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ คนของรัฐพูดความจริงกันไหม เน้นว่าอย่าเอาตัวเลขมาโชว์ในกระดาษ อยากให้ไปดูของจริงในพื้นที่ด้วย" นายไพฑูรย์ ปฏิบัติ ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพเกษตร

กรรม เครือข่ายผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรลุ่มน้ำประแสร์ กล่าว หลังรับฟังข้อมูลจากตัวแทนกรมทรัพยากรน้ำ ที่ชี้แจงว่าปริมาณน้ำที่มีเหลืออยู่ในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออกยังมีเพียงพอ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้เริ่มส่งน้ำให้กับประชาชนไปบางส่วนแล้ว

 

 

โดยนายไพฑูรย์แย้งว่า อ่างเก็บน้ำประแสร์นั้นยังดำเนินการสร้างคลองส่งน้ำไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ได้ส่งน้ำให้ชาวบ้าน อีกทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตจังหวัดระยอง คือ 1,300 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้นซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตจังหวัดจันทบุรีซึ่งตกประมาณ 3,500 มิลลิลิตรต่อปี

 

และสภาพความเป็นจริงของอ่างเก็บน้ำทั้งชลบุรี และระยอง อยู่ในสภาพน้ำแห้งหมดทุกอ่าง ไม่มีน้ำที่จะเอามาใช้ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นเพราะต้องการสรรหาน้ำไปป้อนให้กับอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรในชุมชน

 

ด้านนายศักดา ทรัพย์สุข  ตัวแทนกลุ่มพัฒนากลุ่มเกษตรกร อำเภอแกลง กล่าวถึงกรณีที่จะมีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์เพื่อส่งให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่า รู้สึกว่ามีหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากอ่างเก็บน้ำประแสร์นั้นเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับเกษตรกรรม แต่เกษตรกรก็ยังไม่ได้ใช้

 

"จริงๆ แล้วในส่วนของอ่างเก็บน้ำประแสร์พวกผมยังไม่ได้ใช้ สภาพเมื่อปีที่แล้วสวนต้องปั๊มน้ำบาดาลแล้วเอาไปให้ค่าไฟฟ้า แต่ถามว่าเราจะปล่อยให้ต้นไม้ตายมันทนไม่ได้หรอก มันสืบโคตรเหง้ากันมานาน เราหล่อเลี้ยงประเทศมาด้วยอาชีพเกษตรกรรม แล้ววันนี้เราจะร่วมกระทืบให้มันตายเหรอครับ"

 

ทั้งนี้ นายศักดา กล่าวต่อไปว่า ประชาชนไม่ได้หวงน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ แต่ก็จะไม่ให้ และเสนอว่าในการจัดการปัญหาน้ำแล้งนั้น รัฐบาลควรจะต้องรับฟังประชาชนในพื้นที่

 

"เรามาฟื้นฟูกันใหม่ดีกว่า จริงๆ เราให้กันได้ แต่ให้ดูให้เหมาะสมว่า สภาพอ่างเป็นอย่างไร แล้วเพื่อการเกษตรได้ใช้หรือยัง วิงวอนเถอะครับ ถือว่าเป็นการขอ เราไม่เคยไปประท้วงหน้ารัฐสภาเพราะไม่มีปัญญาครับ"

 

ทั้งนี้ ก่อนที่ตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดระยองจะตอบโต้ข้อมูลจากทางกรมทรัพยากรน้ำนั้น นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ ได้นำข้อมูลตัวเลขสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ของกรมทรัพยากรน้ำขึ้นมาชี้แจง โดยแบ่งพื้นที่ ความต้องการน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และระยองออกเป็น 4 โซน

 

โซนแรก คือ มาบตาพุด-บ้านฉาง-สัตหีบ ซึ่งมีความต้องการน้ำ 320,000 ลบ.ม./วัน โดยรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ในจังหวัดระยอง โซนที่สอง คือ ชลบุรี-แหลมฉบัง มีความต้องการน้ำ 195,000 ลบ.ม./วัน รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จังหวัดชลบุรี โซนที่สามคือ พัทยา ความต้องการน้ำ 100,000 ลบ.ม./วัน รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองค้อ และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในจังหวัดชลบุรี และโซนที่สี่ บริเวณบ่อวิน มีความต้องการน้ำ 30,000 ลบ.ม./วัน โดยรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล

 

ส่วนโซนพิเศษ จะเป็นของนิคมโรจนะ (TPI) และการประปาระยอง ซึ่งจะมีการสูบน้ำจากแม่น้ำระยองไปใช้ ในปริมาณ 150,000 ลบ.ม./วัน (TPI 100,000 ลบ.ม./ การประปา 50,000 ลบ.ม.) ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิกฤติน้ำ ยืนยันว่าที่ผ่านมาสามารถจ่ายน้ำได้ครบตามจำนวนความต้องการ และช่วงหลังยังมีการจ่ายปริมาณน้ำเกินความต้องการด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท