อานันท์ชี้ "ผู้นำ" ตัวการขวางสันติภาพ

ประชาไท - 16 ส.ค.48      "ความรักชาติก็มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่คนมีความภาคภูมิใจ แต่ในขณะเดียวกันความคลั่งชาติ ความบ้าชาตินิยม การสร้างวัฒนธรรมให้มีความเกลียดชัง และมีความเคียดแค้นประหัตถ์ประหาร จนไม่รู้ว่าต้นเหตุและสาเหตุของปัญหานั้นอยู่ที่ไหน ย่อมทำให้ผู้นำและรัฐบาลนั้นเดินทางที่ผิด"

 

นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวปาฐกถา "สันติภาพและความปรองดองในสังคมไทย" ในงานฉลอง 60 ปีวันสันติภาพไทย โดยระบุว่าสันติภาพระหว่างประเทศขณะนี้อาจจะดีขึ้น แต่ปัญหาของสันติภาพภายในแต่ละประเทศกลับไม่ดีขึ้น เพราะแม้สันติภาพเป็นคำที่ใช้กันบ่อยครั้งที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประเทศขวาจัด ซ้ายจัด สังคมนิยมหรือทุนนิยม แต่สันติภาพขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้นำและรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรง หรือกำลังกองทัพ

 

นายอานันท์ กล่าวว่า ถามว่าจิตใจของผู้ปกครองเปลี่ยนไปแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ทิศทางของสงครามในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และนิสัยของการใช้กำลัง ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา แม้ว่าจะผ่อนคลายไปบ้าง แต่ยังไม่ถึงระดับที่ประชาคมโลกจะรู้สึกปลอดภัย  ทั้งนี้ หนทางที่สร้างสันติภาพได้ รัฐบาลทั้งหลายและประชาชนในสังคม จะต้องเปลี่ยนทัศนคติ อย่ามองประเทศหรือรัฐบาลเป็นแต่วัตถุ หรือมองว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติสำคัญสูงสุด ตราบใดที่ขาดความเมตตากรุณา จิตสำนึกของสันติภาพ และขาดธรรมะ ตราบนั้นประเทศรัฐบาล และประชาชน ก็ต้องต่อสู้กันต่อไป

         

"สิ่งที่ผมกล่าวเป็นสิ่งที่ปรากฏในใจของรัฐบาลหลายประเทศ แต่ในแต่ละประเทศก็มีปัญหาแตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยนั้น ยังน้อยกว่าที่เกิดในประเทศอื่นมาก เมื่อมองดูทั่วโลกจะพบเรื่องตะวันออกกลาง ที่เป็นสงครามแย่งพื้นที่ มีเหตุมาจากศาสนา และวิถีชีวิต อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะสู้กันมานานเท่าใด สุดท้ายตาต่อตาฟันต่อฟันหมดความหมาย และจบลงด้วยการเจรจา อย่างล่าสุดขบวนการไออาร์เอ หรืออาเจะห์ ต่างก็เจรจากับรัฐบาลของตน "นายอานันท์ระบุ

 

 นอกจากนี้นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า ประธานาธิบดีรูสเวลส์ แห่งสหรัฐอเมริกา เคยพูดไว้ว่า โลกมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาสภาวะปราศจากความกลัว ความหิวโหย สภาวะที่อำนวยต่อการแสดงความคิดเห็น และอำนวยต่อการชุมนุม ทั้ง 4 ประการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ออกลูกหลานมาเป็นสนธิสัญญา หรือปฏิญญา

 

 ในยามที่ประเทศหรือสังคมหลายประเทศ มีการก่อการร้าย รัฐบาลก็มีสิทธิที่จะออกกฎหมาย หรือมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งอาจกระทบบั่นทอนสิทธิการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม และสิทธิอื่นๆ การบังคับใช้กฎหมายต้องระวัง รอบคอบ มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และให้กระทบสิทธิมนุษยชนน้อยที่สุด โดยเฉพาะตราบใดที่มีการชุมนุมโดยสันติวิธี ปราศจากอาวุธ และความรุนแรง ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงยกย่อง ให้ความเคารพ

 

"นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่องการพัฒนา คำถามคือความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงกับการ พัฒนาจะไปด้วยกันอย่างไร ซึ่งจะมีความมั่นคงไม่ได้ ถ้าไม่มีการพัฒนา หรือจะมีการพัฒนาไม่ได้ ถ้าไม่มีความปลอดภัย ที่สำคัญจะไม่มีทั้ง 2 ประการนี้ หากไม่มีการเคารพสิทธิมนุษยชน แม้รัฐของประเทศต่างๆในโลก จะเปิดโอกาสการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม การแก้ปัญหาความหิวโหย หรือความปลอดภัย สุดท้าย หากสังคมใดไม่มีความยุติธรรม สังคมนั้นก็หาความสันติสุขไม่ได้ ซึ่งหลายสังคมเกิดปัญหานี้ คือจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมในทางนโยบาย กฎหมาย ความยุติธรรมโดยไม่ยุติธรรม ที่อยู่บนพื้นฐานเชื้อชาติ ศาสนา ผิวพรรณ"

          

นายอานันท์ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนต้องทวงถามคือ การให้ความเสมอภาคอย่างทั่วหน้า ไม่เลือกตัวบุคคลตำแหน่ง ยศ ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ อย่างไรก็ดี ความยุติธรรมเกิดมาจากตัวบทกฎหมาย ซึ่งนักกฎหมายรู้ดีว่า กฎหมายหลายฉบับไม่เอื้อต่อความยุติธรรม แต่ก็ยังใช้กันอยู่ เพราะฉะนั้นการเคารพสิทธิมนุษยชน จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานกฎหมายเท่านั้น แต่ที่คนต้องการ คือความยุติธรรมควบคู่กับความเป็นธรรม โดยความเป็นธรรม เกิดจากการอบรมสั่งสอน บางคนสอนเท่าไรไม่รู้จักจำ บางคนสอนมาเป็นปีก็ไม่รู้ว่าความเป็นธรรมคืออะไร ดังนั้นต้องดูที่พื้นฐานการเจริญเติบโต ตั้งแต่การเลี้ยงดูจากครอบครัว โรงเรียน และในสังคม ว่ารู้จักธรรมะแค่ไหน

        

"เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ พระองค์ท่านมีปฐมบรมราชองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยาม" จึงอยากให้ทุกคนน้อมรับ และนำปฏิบัติเพื่อความสันติสุข" ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท