Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 
ประชาไท—17 ส.ค. 48  ศาลอาญาชั้นต้น  ตัดสินลดโทษชาวบ้านบ่อนอกในฐานะที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรชาติ โดยยกฟ้องและรอลงอาญา 2 ปี  ในข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าฯ  โดยมีชาวบ้านบ่อนอก-บ้านกรูด-จะนะ กว่า 500 คน เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลังจากมีการพิจารณาคดีมาเป็นเวลา 3 ปี  วันนี้  ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา  คดีโรงไฟฟ้าบ่อนอกกล่าวหาว่าชาวบ้านบ่อนอกทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่บริษัทกัลฟ์  เพาเวอร์  เจเนอเรชั่น   โดยจำเลยทั้ง 5 คน  ประกอบด้วย  1. นายเจริญ  วัดอักษร  2.นางวิไล  สัตย์ซื่อ  3.นางลัดดา  สิงห์เล็ก  4.นางกรณ์อุมา  พงษ์น้อย  และ 5.นายชัยยศ  แก่นทอง 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้  ชาวบ้านบ่อนอก,บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์  และชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย จ.สงขลา จาก อ.จะนะ ประมาณ 500 คน ได้ร่วมเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายแกนนำชาวบ้านใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะตกลงกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าฟังคำพิพากษาในคดีดังกล่าว

 

 

 

 

 

ขณะเดียวกัน นายเจริญ วัดอักษร  พร้อมพวกรวม 5 คนเป็นจำเลยในข้อหาความผิดต่อเสรีภาพและหน่วงเหนี่ยวกักขัง  กระทำการให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย  และข้อหาทำร้ายร่างกายให้ได้รับอันตราย  โดยจำเลยที่ 1 คือนายเจริญ วัดอักษร  ซึ่งได้เสียชีวิตแล้ว  ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีออกจากระบบการพิจารณา

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับจำเลยที่ 2 นางวิไล ถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกาย แต่พยานฝ่ายโจทย์ไม่มีใครเบิกความว่าเห็นว่าทำร้าย  เพียงอยู่ในเหตุการณ์  ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

 

 

 

 

 

ส่วนจำเลยที่ 3 นางลัดดาและจำเลยที่ 4 นางกรณ์อุมา ในข้อหาทำร้ายร่างกายและข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยศาลพิจารณาแล้ว ศาลตัดสินยกฟ้องในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานโจทย์ยืนยัน แต่จำเลยทั้ง 2 มีหลักฐานว่าทำร้ายร่างกายให้เกิดความสาหัสจริง

 

 

 

 

 

ขณะที่  จำเลยที่ 5 นายชัยยศ ถูกกล่าวหาในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังและทำให้ปราศจากเสรีภาพทางร่างกายและอีกข้อหาหนึ่งคือทำร้ายร่างกาย จากการนำสอบของโจทย์บอกว่าจำเลยบังคับให้ลงเรือและขับเรือขึ้นฝั่งจริง  แต่ไม่มีพยานโจทย์เห็นว่าจำเลยทำร้ายร่างกาย   ศาลจึงตัดสินยกฟ้องในข้อหาทำร้ายร่างกาย   ส่วนการบังคับเรือนำโจทย์ขึ้นฝั่งนั้นเป็นความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว 

 

 

 

 

 

ศาลจึงตัดสินลงโทษจำเลยที่ 3และ4  ให้รับโทษจำคุก 2 ปี  สำหรับจำเลยที่ 5 ให้รับโทษจำคุก 2 ปีและปรับ 4,000 บาท  แต่จำเลยที่ 5 ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อศาลในการนำสืบให้ยอมรับจึงยกโทษให้ 1 ใน 4  เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน  และปรับ 3,000 บาท 

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม  ศาลเห็นว่าจำเลยทั้ง 3 คนไม่เคยได้รับโทษมาก่อน  และความผิดดังกล่าวเป็นการแสดง อกถึงความหวงแหนธรรมชาติซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของชาติที่จะต้องช่วยกันดูแล  แต่ว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมาย  จึงให้โอกาสจำเลยประพฤติปฏิบัติตนเสียใหม่   ศาลจึงมีคำตัดสินให้รอลงอาญากำหนด 2 ปี  และคุมความประพฤติในกำหนดดังกล่าวโดยต้องรายงานต่อศาลทุก 3 เดือน  และต้องทำงานบริการสังคม  ตามที่จำเลยทั้ง 3 และพนักงานคุมความประพฤติเห็นชอบไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net