Skip to main content
sharethis









 


 

 

 

*ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราช สีมา  พาคณะฯ เดินทางไปดูงาน ศึกษาข้อมูลผลกระทบจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า)  ณ ประเทศเม็กซิโก  ระหว่างวันที่ 27ก.ค.-3 ส.ค.48

ส.ว.ไกรศักดิ์กล่าวกับ "ประชาไท" เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า  หลังจากเม็กซิโกเปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐมา11 ปี  "ตอนนี้ในเม็กซิโกไม่ว่าจะไปไหน เขาก็ยอมรับกันหมดว่า อเมริกันเอาขนมชิ้นใหญ่ไปแล้ว เขาบ่นว่าเม็กซิโกเนี่ยอยู่ห่างไกลจากพระเจ้าเหลือเกิน แต่อยู่ใกล้กับอเมริกามากเกิน"...อยู่ใกล้อเมริกาแล้วจะเป็นเช่นไร การค้าเสรีสร้างสิ่งใดไว้ให้ประเทศกำลังพัฒนาบ้าง บทเรียนที่ประเทศไทยควรศึกษายิ่งก่อนเซ็นเอฟทีเอ !


 


ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ประธานกมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา ในรายละเอียดของผลกระทบที่เม็กซิโกได้รับ หลังยินยอมพร้อมใจร่วมนาฟต้าเมื่อปี  2537 ซึ่งเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่าง สหรัฐอเมริกา-แคนาดา-เม็กซิโก ที่มีชายแดนติดกัน มุ่งหวังจะขจัดอุปสรรคทางการค้าและบริการระหว่างประเทศ ทั้งการยกเลิกภาษีศุลกากร การส่งเสริมการแข่งขัน ขยายโอกาสการลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญหา และการแก้ไขข้อพิพาททางการค้า โดยไม่มีเจตนาทำร้ายเกษตรกรครึ่งค่อนประเทศ หรือทำให้ชาวนาเม็กซิโกต้องหลั่งน้ำตาอย่างยาวนานแต่อย่างใด


 


ประชาไท  -  ทำไมสนใจเรื่องนาฟต้า และเลือกไปดูงานประเทศเม็กซิโก?


 


ไกรศักดิ์  -  มันต้องใช้งบประมาณเดินทางให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เม็กซิโกเป็นประเทศที่เซ็นสัญญาเขตการค้าเสรีกับสหรัฐ (นาฟต้า) มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว สภาพสังคมก็ใกล้เคียงกับเรามาก จึงเป็นตัวอย่างที่ดีเปรียบเทียบกับการทำเอฟทีเอที่เรากำลังเร่งอยู่ เพื่อที่จะได้ภาพสมบูรณ์ที่สุด เราไม่ได้พบเพียงฝ่ายกระทบเทือนเพียงอย่างเดียว แต่พบเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล พบบริษัทเอกชน รวมถึงนักวิชาการ และตัวแทนชาวไร่ชาวนา


 


ภาพในส่วนของอุตสาหกรรมเป็นเช่นไร?


 


เริ่มต้นเม็กซิโกพอใจที่จะได้ผลประโยชน์นี้พอสมควร ช่วงแรกมีการลงทุนจากสหรัฐค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า อิเลคทรอนิกส์ ฯลฯ กาลเวลาผ่านไป อุปสรรคมันเพิ่มขึ้น บริษัทของเม็กซิโกใหญ่ๆ ก็รู้สึกไม่สามารถแข่งขันได้ เมื่อสหรัฐเข้ามาลงทุน มีศักยภาพสูงกว่า และเปิดออฟฟิศที่เม็กซิโกซิตี้เลย


 


สุดท้ายต้องหันไปลงทุนในประเทศที่ 3 หรือตะวันออกกลางกัน เชื่อไหมเม็กซิโกเป็นประเทศใหญ่ที่สุดที่ลงทุนในอินโดนีเซีย อย่างนี้เป็นต้น เขาบอกว่าเขาต้องหนีอเมริกา เพราะไม่สามารถจะแข่งขันได้


 


อย่างไรก็ตาม บริษัทอย่างโคโรนา(เบียร์โรนา-ผู้สัมภาษณ์)เขาก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ในการขยายตลาดในสหรัฐได้มากขึ้น แต่ปัญหามันเริ่มตามมาคือ รัฐแต่ละรัฐของสหรัฐมีกฎระเบียบของตัวเองนอกเหนือจากที่รัฐบาลกับรัฐบาลคุยกันไว้แล้ว


 


แต่ช่วง 4-5 ปีมานี้ ราวปี 2001 - 2002 บริษัทอเมริกันเริ่มถอนตัวออกจากเม็กซิโก เพราะตลาดจีนเปิด เขาบอกหายไป 20-25% ของการลงทุนทั้งหมด เพราะจีนมีปัจจัยที่น่าลงทุนกว่า


 


ภาคเกษตรได้รับผลกระทบหรือไม่ อย่างไร?


 


ภาคเกษตรเป็นเรื่องที่ชาวเม็กซิกันนั้นเขาบอกว่าได้ประโยชน์ แต่ปรากฏว่าที่ได้ประโยชน์มันเป็นเพียงบริษัทใหญ่ของเม็กซิโกเอง


 


แต่องค์กรชาวไร่ชาวนาขนาดเล็กกับขนาดกลางเขาบอกว่าสูญเสียมหาศาล แล้วนี่เป็นจำนวนคนราว 35-40% ของประชากรทั้งหมด 105 ล้านคน ค่อนข้างจะเยอะมาก การเกษตรนี่ไม่สามารถแข่งขันกับสหรัฐได้เลย ราคาถูกกว่ากันเยอะ


 


เพราะสหรัฐสนับสนุนบริษัทส่งออกโดยคิดดอกเบี้ยต่ำมาก แล้วให้เครดิตฟรี 3 ปี ไม่ต้องใช้คืน มิหนำซ้ำยังมีกฎหมายสนับสนุนชาวไร่ชาวนา เป็นเงินต่อหัวปีหนึ่งหลายหมื่นบาท ไม่รวมเครดิตในการซื้ออุปกรณ์การเกษตร เมล็ดพันธุ์ต่างๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เราเป็นห่วงในประเทศไทยด้วย


 


กระทั่งพวกยากจนในเม็กซิโกนั้นออกอาการ 2-3 อย่าง อาการแรกคือ เม็กซิโกกลายเป็นประเทศที่มีอาชญากรรมสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีการลักขโมยตัวคนรวยบ่อยที่สุด ถึงขั้นว่าเศรษฐีต้องจ้างการ์ด ซื้อรถกันกระสุนสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง อาการที่สอง คือมีการค้ายาเสพติดเพิ่มขึ้น แก๊งใหญ่ๆ นี่สามารถครองรัฐที่ติดกับชายแดนสหรัฐเลย ตำรวจก็ไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ หลายจุดสหรัฐเองก็ถอนเจ้าหน้าที่จากพื้นที่ อาการอีกอันคือ แต่ละปีจะมีชาวเม็กซิกันลักลอบเข้าไปในสหรัฐโดยผิดกฎหมายราวแสนกว่าคน ปัจจุบันเพิ่มถึง 4 แสน และคนที่ขอเข้าไปอย่างถูกต้องเพิ่มจาก 1 ล้านคนเป็น 8 ล้านคนต่อปี ตัวเลขคนที่ต้องการเข้าไปทำงานมันน่าตกใจมาก


 


มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างหลังจากผ่านนาฟต้ามา 10 ปี?


 


สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ สินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในเม็กซิโก คือ ข้าวโพด 10 ปีมานี้ตกไปราว 54% ข้าว


โพดสหรัฐเข้ามาครองตลาดในเม็กซิโกมากกว่า 50% แล้ว ตัวเลขบางปีบอกเกือบถึง 80% หรืออย่างเนื้อหมู ซึ่งคนเม็กซิกันกินกันมากเหลือเกิน ก็สั่งจากสหรัฐเพิ่มขึ้น 400%


 


อีกประเด็นคือ บริษัทใหญ่ มีราว 9 บริษัทที่ครองทั้งการซื้อและขายสินค้าปลีกจากภาคเกษตร แล้วครึ่งหนึ่งเป็นของอเมริกัน เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


 


อันที่สามคือ ด้านห้างสรรพสินค้าใหญ่ เม็กซิโกไม่มีศักยภาพแข่งกับสหรัฐเลย ไม่มีห้างเซ็นทรัล โรบินสันของตัวเอง โดนครอบงำอย่างสิ้นเชิง วอลมาร์ท หรือเซียร์นี่เราเห็นทุกหนทุกแห่งในเม็กซิโก


 


อันที่สี่คือ เมื่อก่อนเม็กซิโกมีหลายร้อยแบงก์ โดยมีสาขาทั่วประเทศ ปัจจุบันนี้แบงก์ในเม็กซิโกนั้นเหลือเพียง 15 แบงก์ และมีแบงก์เดียวด้วยที่เป็นของชาวเม็กซิกัน นอกนั้นของอเมริกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น อัตราเงินไหลออกมันก็สูงมาก แน่ละ บางทีอาจเห็นว่าเม็กซิโกอาจจะได้เปรียบบ้างในด้านการค้า แต่ถ้าดูบัญชีเดินสะพัดแล้วเงินออกจากเม็กซิโกนั้นเงินออกมากกว่าในอดีต


 


แล้วชนชั้นกลางก็โดนปู้ยี่ปู้ยำจากการครอบงำทางการเงินมหาศาล เขาบอกว่าชนชั้นกลางเขาโดนทำลายอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถตั้งเนื้อตั้งตัว มีร้านมีธุรกิจของตัวเองได้


 


ทำไมจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ขึ้นในประเทศเม็กซิโก?


 


ในอดีตเม็กซิโกเป็นประเทศที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาบนพื้นฐานของ "สังคมนิยม" รัฐจะสนับสนุนอุตสาห


กรรมก็ดี การเงินก็ดี ที่ดินก็ดี การปฏิรูปที่ดินก็เป็นเรื่องใหญ่ การสนับสนุนชาวไร่ชาวนาในรูปแบบของเงินกู้ อุปกรณ์การเกษตร พวกนี้เป็นนโยบายมา 50 กว่าปี ตั้งแต่การปฏิวัติเม็กซิโกมา แล้วก็ไม่มีใครเคยแกะอันนี้ได้เลย


 


แต่ว่ากาลเวลาผ่านไป เม็กซิโกมีการเปลี่ยนแปลงในด้านความคิดทางการเมือง การศึกษาของคนก็พึ่งพากับสหรัฐมากขึ้นๆ แล้วก็หันมานิยมทฤษฎีหรืออุดมการณ์ว่าด้วยการค้าเสรีมากขึ้น ก็เลยนำเอามาใช้ แล้วกลุ่มการเมืองที่ยึดถือแบบนี้ก็ได้ชัยชนะทางการเมือง ก็เลยเปิดประเทศ ในพรรคปฏิวัติถาวรของเขาก็ได้ผู้นำที่ไปเชื่อฟังเรื่องการค้าเสรีกับอเมริกา ในที่สุดพรรคฝ่ายขวาซึ่งไม่เคยมีอำนาจขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็เลยตะลุมบอนเปิดหมดเลยทุกประตู แล้วผลก็เป็นแบบนี้


 


แต่ในอนาคตจะมีพรรคประชาธิปไตยปฏิวัติขึ้นมาครองความเป็นใหญ่ เป็นพรรคที่สามปัจจุบันที่เริ่มได้คะแนนเสียงมากขึ้นๆ และตัวผู้นำคงจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป แต่ทว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายนาฟต้านี้ได้หรือเปล่า ก็ต้องเฝ้าดูไปอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเม็กซิโกยังมีวัฒนธรรมการฉ้อราษฎร์บังหลวงค่อนข้างสูงด้วย ต้องดูว่าพรรคฝ่ายซ้ายจะสู้ระบบนี้ได้ไหม


 


ตอนนี้ในเม็กซิโกไม่ว่าจะไปไหน เขาก็ยอมรับกันหมดว่า อเมริกันเอาขนมชิ้นใหญ่ไปแล้ว เขาก็บ่นว่าเม็กซิโกเนี่ยอยู่ห่างไกลจากพระเจ้าเหลือเกิน แต่อยู่ใกล้กับอเมริกามากเกิน


 


การทำเขตการค้าเสรีกรณีเม็กซิโกเปรียบเทียบกับประเทศไทยเป็นอย่างไร?


 


ไทยเองก็ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เหมือนกัน มองแต่ผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่ๆ ชัดเจนที่สุดในกรณีเอฟทีเอที่ทำกับจีน เรายังไม่เห็นชัดเจนเลยว่าทำไปเพื่ออะไร จะได้อะไรที่เป็นรูปธรรม  ทำโดยไม่มีการศึกษาเลยว่าสินค้าเขาถูกกว่าเราหลายเท่า ภาคเหนือย่อยยับหมด สินค้าจีนเพิ่มขึ้น 260% เมื่อก่อนนี้เราจะส่งออกพืชผลเพิ่มขึ้นปีหนึ่งราว 64% ปัจจุบันลดเหลือปีละ 24%


 


แล้วเราจะแย่กว่าเม็กซิโกอีก เพราะเราเซ็นเอฟทีเอกับทั้งจีนและอเมริกาในเวลาเดียวกัน ออสเตรเลียอีก แล้วถ้าจีนขยายข้อตกลงไปในด้านอื่นด้วยล่ะก็ไปเลยทีนี้ แต่อเมริกันและออสเตรเลียเรียกร้องด้านต่างๆ แล้ว เขาเรียก comprehensive


 


นี่คือเรื่องที่น่าเป็นห่วง เราเซ็นสัญญาทุกเอฟทีเอไม่เคยมีข้อมูลให้ประชาชน ไม่มีการเตรียมเนื้อเตรียมตัว เราไม่มียุทธศาสตร์ มีแต่คำพูดออกมาว่า เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องก้าวไปข้างหน้า ถามว่าก้าวไปยังไง เราไม่มีข้อมูล แล้วไม่สามารถใช้ทรัพยากรในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวไร่ชาวนา รัฐสภา วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพื่อที่จะไปอ้างในการต่อรองได้ เพราะไม่ยอมบอกเรา ไม่ปรึกษาเราแต่แรก ยิ่งตอนนี้คุณทักษิณ (ชินวัตร) คุณสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) มาบี้ทีมเจราจาว่าต้องเซ็นให้ได้ ยิ่งเร่งก็ยิ่งเสียเปรียบ ยิ่งไม่ได้ต่อรอง


 


คิดว่าใครได้ประโยชน์จากการเร่งเซ็นเอฟทีเอ?


 


วันก่อนนี้เราเห็นแล้วว่าตอนนี้คนไทยยิ่งใหญ่ที่สุด ช่อง 5 บอกเราน่าจะภาคภูมิใจ เพราะไอพีสตาร์ของเราขึ้นสู่วงโคจรของโลกแล้ว เรื่องโทรคมนาคมประเทศไทยนี่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้แล้ว


 


เรื่องนี้มันก็อยู่ในการเจรจาทุกครั้ง แต่กระทรวงพาณิชย์ก็จะบอกว่าไม่อยู่ มันต้องอยู่ แน่นอน เพราะว่า comprehensive มันต้องคุยทุกเรื่อง แล้วต่างประเทศจะมาลงทุนในไทยเรื่องโทรคมนาคมไม่ได้อีกแล้ว เพราะกฎหมายของเรายังไม่ยอมเปลี่ยนกัน มีการร้องห่มร้องไห้กันในวุฒิสภา บอกว่าถ้าให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมากกว่า 50% แล้วเราจะตกเป็นทาสเขาในด้านโทรคมนาคม


 


ที่ไหนได้น้ำตานั้น ร้องผิดแห่ง ร้องผิดที่ ร้องโดยไม่มีข้อมูล กฎหมายนี้เลยผ่านไปว่าต่างชาติคุมไม่ได้เกิน 50% แต่บริษัทเดียวที่มีหุ้นส่วนมากกว่า 50% ก็คือ เอไอเอส ฝรั่งก็ไม่สนใจจะมาลงทุนด้วย คนไทยก็มีอยู่แค่นี้  


 


แต่ที่เราเห็นคือ เรื่องโทรคมนาคม ดาวเทียมนี่ เราเป็นประเทศที่ไปลงทุนประเทศอื่นหนักที่สุด เกือบ 400 ล้านเหรียญ และมี Gate Way ทั่วภูมิภาคนี้ ซึ่งมันไม่เคยมีใครทดลองอันนี้มาก่อนเลย แล้วตลาดใหญ่ที่สุดของเราอยู่ที่จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และเอเชียอาคเนย์ ทุกประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่เราทำเอฟทีเอด้วย และเร่งเหลือเกิน


 


ถึงขั้นที่ออสเตรเลีย มีการส่งเอกสารเป็นทางการจากกระทรวงต่างประเทศและการค้าของเขาเลยว่า สิ่งที่ชาวออสเตรเลียจะได้คือ ระบบบรอดแบรนด์ แซทเทลไลท์ ที่ดีที่สุดจากประเทศไทย จากการเซ็นเอฟทีเอ ฉะนั้นขอให้ประชาชนออสเตรเลียสนับสนุนรัฐบาลให้เซ็นเอฟทีเอกับไทย นิวซีแลนด์ก็ประกาศเช่นเดียวกัน แล้วก็มีกาลงทุนหลายร้อยล้านแล้วในการทำ Gate Way ที่ออสเตรเลีย


 


ดังนั้น ในเรื่องการทำเอฟทีเอ คนที่จะได้มากที่สุดก็คือ ครอบครัวชินวัตร จะให้ผมอธิบายอย่างอื่นได้อย่างไร ผมพยายามจะมอง หาข้อมูล ดูกราฟดูอะไรแล้ว


 


เชื่อเรื่อง "การค้าเสรี" หรือไม่?


 


ทฤษฎีของการค้าเสรีมันไม่มีอยู่แล้วในโลกนี้ บางคนจบมาจากสหรัฐก็ไม่กล้าเถียงเรื่องเอฟทีเอ นักวิชาการหลายคนก็อ้ำๆ อึ้งๆ อยู่เพราะเชื่อทฤษฎีการค้าเสรี แต่ประเทศทั่วโลกเป็นอาณานิคมมาตลอด เสียเปรียบด้านการค้ามาตลอดแม้จะในโลกเสรี มันมีตัวอย่างอันไหนบ้างที่ทำให้เห็นว่าการค้าเสรีได้ประโยชน์  นอกจากระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมัน อังกฤษกับยุโรป ถ้าจะบอกว่าประเทศเล็กๆ จะได้ประโยชน์มันเอามาจากไหน มันเรียนกันมาได้ยังไง แล้วมานั่งสอนกันอยู่ได้ยังไง ไอ้ทฤษฎีว่าด้วย comparative advantage เขียนมาไม่รู้กี่ร้อยปีแล้ว


 


มีความเป็นไปได้ที่เรื่องการทำเอฟทีเอจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่?


 


มันต้องโผล่ออกมา มันหนีไม่พ้น เพราะทำกับสหรัฐ หนึ่งต้องมีเรื่องยาเข้ามา ซึ่งเป็นประเด็นด้านสาธารณสุขที่ต้องมีการถกเถียงกันมาก และแนวร่วมในการต่อต้านก็มีสูง เพราะยาต้องแพงขึ้นแน่ เขาต้องไม่ให้เรียกร้องไม่ให้ผลิตยา วัคซีนต่างๆ ที่ติดสิทธิบัตรที่บริษัทอเมริกันจดทะเบียนไว้ ไม่ว่าจะเป็น โรคเอดส์ โปลิโอ ไข้หวัด ทุกวันนี้เรายังมีกฎหมายปกป้องคนยากคนจนอยู่เกี่ยวกับยา แต่เขาจะเรียกร้องให้แก้กฎหมายหมดเลย


 


แล้วยังต้องแก้กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพแน่ ต้องแก้ให้เหมือนสหรัฐ กฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาต้องแก้ให้เหมือนสหรัฐ ไม่งั้นเขาไม่ยอมเซ็น อันนี้ขาดลอยเลย สหรัฐใช้พืชของเราหลายชนิดไปทำหยูกยา ถ้าเราเซ็นตามเขามันก็เข้าล็อกเขาแล้ว อีกหน่อยเราจะใช้พืชพันธุ์ของเราหลายอย่างไม่ได้ คงขึ้นศาลกันหูดับตับไหม้


 


ผมไปแวะที่แอลเอมาเขาบอกว่าซอสพริกศรีราชาตอนนี้มีโรงงานอยู่ที่แอลเอ ชื่อ ศรีราชาซอส บริษัทสหรัฐไปจดทะเบียนแล้วเราก็ทำอะไรเขาไม่ได้ การนวดแผนไทยหรือที่เรียกว่า Thai Massage เราไปเปิดร้านเขียนว่า Thai Massage ไม่ได้ เพราะมีบริษัทอเมริกันไปจดทะเบียนไว้แล้ว ขนาดว่าหมอนวดนี่เป็นเงื่อนไขที่เราต้องการในเอฟทีเอนะ


 


มันมีเรื่องซ่อนเร้นเยอะ แล้วคณะที่เจรจาก็ไม่ยอมพูดความจริงทั้งหมดด้วย เพราะไปสัญญากับทีมเจรจาของสหรัฐไว้ว่าจะไม่เปิดเผยทั้งหมด ซึ่งมันผิดกฎหมายสหรัฐนะ สหรัฐเขายังเปิดเผยต่อสาธารณะ ของเขาวางกรอบเลยเซ็นเอฟทีเอกับใครต้องใช้กฎหมายสหรัฐเป็นพื้นฐาน ก็เหมือนอาณานิคมแล้วถ้าเป็นอย่างนั้น


 


มองอนาคตประเทศไทยหลังเซ็นเอฟทีเอกับสหรัฐอย่างไร จะเหมือนเม็กซิโกหรือไม่?


 


ตอนนี้เราเริ่มเจอแล้ว ประเทศไทยระดับล่างที่เคยเลี้ยงตัวเองได้ และเวลาเดียวกันผลิตอาหารอย่างเต็มที่แล้วยังหลากหลายให้ภายในประเทศบริโภค อันนี้มันจะหายไป security ด้านอาหารจะไม่มี ความมั่นคงด้านสังคมคงลดลงแน่ และนำไปสู่การสลายตัวของความมั่นคงด้านการเมือง หมายความว่า ชาวบ้านจะไม่มีทางเลือกต้องก่อตัวกันขึ้นมาแล้วทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง ต้องคัดค้านรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่คิดแบบซีอีโอหน้าเลือด โดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เพราะเกษตรนี่เป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่หน่วยการผลิต


 


แต่การเปลี่ยนแปลงอันนี้อาจเจอการควบคุมอย่างรุนแรง โดยอำนาจรัฐ มาตรการที่เราเห็นๆ จะแรงขึ้นๆ เพราะเราเห็นแล้วว่าเขาเตรียมพร้อมที่จะปะทะเรื่องนี้แล้วเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้ เขาต้องรู้แน่ว่าจะกระทบยังไง ไม่อย่างนั้น พ.ร.ก.การบริการหาราชการฉุกเฉินจะออกมาทำไม มันไม่ได้คุมปักษ์ใต้อย่างเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net