Skip to main content
sharethis


 


ในที่สุดเส้นก็พ้นกำหนดเส้นตายมาแล้วเมื่อตอนตี 4 ของเมื่อวานนี้ (17 สิงหาคม ตามเวลาในประเทศไทย)ตามคำสั่งของนายเอเรียล ชารอน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่ให้รื้อถอนนิคมชาวยิวในฉนวนกาซา เพื่อคืนดินแดนแห่งนี้ให้กับปาเลสไตน์ซึ่งอิสราเอลยึดครองอยู่นานถึง 38 ปี และรวมทั้งนิคมชาวยิวอีก 4 แห่งจาก 120 แห่ง ในเขตเวสต์แบงค์ โดยการกระทำครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง


 


ในภาพรวมแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับสากล การตัดสินใจของเอเรียล ชารอนที่จะคืนดินแดนฉนวนกาซาให้กับปาเลสไตน์นั้นนับเป็นความชอบธรรมยิ่ง เพราะดินแดนนี้แต่เดิมนั้นเป็นของชาวอาหรับที่ทางอิสราเอลตีมาได้เมื่อครั้ง"สงครามหกวัน"กับอาหรับเมื่อปี 1967 ซึ่งในครั้งนั้น อิสราเอลนั้น ได้ยึดเอาเมืองมาจากกลุ่มประเทศอาหรับมาได้ถึง 6 พื้นที่ ได้แก่บริเวณที่ราบสูงโกลัน (จากซีเรีย) ภาคตะวันออกของเยรูซาเล็ม ( จากจอร์แดน)  เขตเวสต์แบงค์ ด้านตะวันตกของจอร์แดน ฉนวนกาซา และแหลมซีนาย ( จากอียิปต์) และสงครามระหว่างอิสราเอลกับอาหรับก็มีมาโดยตลอด


 


ต่อมาหลังจากมีการตกลงสันติภาพอิสราเอลยอมคืนแหลมซีนายให้กับอียิปต์ ในปี 1979 แลกกับอียิปต์ยอมรับสิทธิในการดำรงอยู่ของประเทศอิสราเอล แต่การต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์นั้นก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ เอเรียล ชารอน นายกรัฐมนตรีคนนี้เอง ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและเป็นหัวหน้าพรรคลิคุตซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางการกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง ที่ให้อิสราเอลต้องถ่ายโอนอำนาจบางส่วนของอิสราเอลให้กับปาเลสไตน์ รวมทั้งต้องคืนดินแดนฉนวนกาซาให้กับปาเลสไตน์ สันติภาพในตะวันออกกลางจึงดูว่าจะเป็นเรื่องยาก


 


เอเรียล ชารอน ซึ่งถือว่าเป็นสายเหยี่ยวมากๆเคยประกาศกร้าวในเรื่องนี้มาโดยตลอด และได้ให้ชาวยิวไปตั้งนิคมอยู่ที่ฉนวนกาซาซึ่งอยู่ติดกับปาเลสไตน์และสามารถถูกปาเลสไตน์โจมตีได้ทุกเมื่อ เพื่อประกาศว่าพื้นที่แห่งนั้นเป็นของอิสราเอล ผู้คนที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่นจึงเคยได้รับคำชื่นชมว่าเป็นวีรชน ผู้ซึ่งมีจิตใจกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวที่จะปกป้องประเทศ


 


แต่แล้วถึงพ.ศ.นี้ เมื่อนโยบายของอิสราเอลเกิดหักเหขึ้น ชารอน เห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องคืนดินแดนให้กับปาเลสไตน์ได้แล้ว เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่อิสราเอลในสองสถานด้วยกันคือ ประการแรกเพื่อแสดงให้เห็นว่าอิสราเอลนั้นพร้อมเข้าสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางแล้ว และ ประการที่สอง อันที่จริงก็มีจุดประสงค์อีกอย่าหนึ่งคือเพื่อรักษาดินแดนเยรูซาเล็มที่สำคัญกว่าเอาไว้ ต้องไม่ลืมว่า เยรูซาเล็มนั้นถูกเรียกว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นที่กำเนิดของ 3 ศาสนาด้วยกัน คริสต์ จูดา ( ศาสนาของชาวยิว) และ อิสลาม ก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าอิสราเอลได้ผนวกเอาเยรูซาเล็มตะวันออกเข้ามาเป็นดินแดนของตนเองด้วย ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นของปาเลสไตน์ ทั้งสองประเทศต่างก็อ้างว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของตน(ในทางสากลเทล-อาวีฟ เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล)


 


ถึงวันนี้ชาวยิวในฉนวนกาซาที่ถูกย้ายออกมาทั้งหมด 8,500 คนนั้น มีเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อถอนนิคมชาวยิวที่นี่ จึงรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจและรู้สึกต่อต้านการกระทำของรัฐบาล ด้วยไม่คาดคิดว่าสิ่งที่ตนเองได้กระทำก่อนหน้านี้ที่เคยเรียกว่าวีรกรรม มาบัดนี้กลายเป็นอาชญากรรมไปเสียแล้ว  และรู้สึกว่า ชารอน ผู้เคยเป็นวีรบุรุษบัดนี้ก็มากลายเป็นผู้ทรยศไปเสียแล้ว ความร้าวรานใจของชาวยิวในฉนวนกาซาจึงเกิดขึ้น


 


ภาพการต่อต้านการเคลื่อนย้ายที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับเป็นความน่าสลดใจที่เกิดขึ้น มีผู้หญิงคนหนึ่งถึงกับจุดไฟเผาตัวเองต่อหน้ากองกำลังทหารที่จะเข้าไปจับกุมเธอ พ่ออุ้มลูกน้อยวัยไม่ถึง 2ขวบ บอกว่าจะโยนเด็กลงไปจากชั้น 3 ของอาคารแล้วก็จะกระโดดตามหากเข้ามาจับตัวเขา


 


ในการเข้าไปรื้อถอนชุมชนชาวยิวในฉนวนกาซาในครั้งนี้รัฐบาลได้ใช้กองกำลังผสมไม่ติดอาวุธถึง 52,000 นาย โดยบอกว่าจะจัดการให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน (วันที่ 4 กันยายน)  มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนหนึ่งได้ออกมาขัดขวางที่ประตูไม่ให้กำลังทหารในเขตชุมชนได้  ทางตำรวจก็จับกุมกลุ่มวัยรุ่นได้ 50 คน นอกจากนั้นยังมีการจับกุมผู้ประท้วงการรื้อถอน และไม่ยอมย้ายออกไปในครั้งนี้ถึง 800 คน


 


เอเรียล ชารอน ออกมากล่าวทางโทรทัศน์เป็นเวลา 5 นาที แสดงความรู้สึกกังวลใจและขอความร่วมมือจากประชาชน เขาบอกว่าเขาเองก็รู้สึก "หัวใจสลาย" เมื่อเห็นภาพชาวยิวในฉนวนกาซาต้องร่ำไห้ที่ต้องจากบ้านมา แล้วขอร้องให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยทั้งหลายว่าอย่าทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาปฏิบัติการรื้อถอนเลย ของให้ตำหนิที่ตัวเขา (ชารอน)  เพราะเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น เขา (ชารอน) เป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ทั้งหมด พร้อมกับบอกว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น มาจากวัยรุ่นหัวรุนแรงที่เป็นพวกชาตินิยมสุดโต่ง บางคนก็อยู่ที่เวสต์แบงค์แต่ได้แทรกซึมเข้ามาขัดขวางแผนการของรัฐบาล


 


ในความพยายามที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในตะวันออกกลางนั้น ความพยายามของเอเรียล ชารอน จากสายเหยี่ยวที่ยอมประนีประนอมมากขึ้นนั้น ยังมีเรื่องต้องติดตามดูต่อว่า ในส่วนของอิสราเอลเองจะมีคิดที่แตกแยกกันเองจนถึงขั้นเป็นปัญหาความวุ่นวายภายในประเทศหรือไม่ และ สอง จะมีเหตุการณ์ประศาสตร์ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดกับยิดซัค ราบิน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งสนับสนุนแนวทางสันติภาพหรือไม่  กล่าวคือ จะมีกลุ่มวัยรุ่นชาตินิยมสุดโต่งที่กำลังประท้วงอยู่ในขณะนี้จะกระทำการขึ้นขั้นการลอบสังหาร เอรียล ชารอน เหมือนดั่งที่เคยกระทำไว้กับราบิน เมื่อปี 1995 หรือไม่ คงต้องดูการเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ของชารอนกันต่อไป


 

ส่วนประเด็นที่ว่าสันติภาพในตะวันออกกลางจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net