Skip to main content
sharethis

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" ผู้อภิปรายประกอบด้วย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกวุฒิสภา นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีนักศึกษาและผู้สนใจร่วมรับฟังกว่า 300 คน

 

 

 

 

นายปริญญา กล่าวว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ จะผ่านการพิจารณาจากสภาในวันที่ 24 สิงหาคม 2548 นี้ อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก ถึงกระนั้นในส่วนของประชาชนก็ยังมีโอกาสแก้ไขกฎหมายที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ ด้วยการร่วมกันลงชื่อ 50,000 รายชื่อ เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับดังกล่าวในสาระสำคัญ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 

 

 

 

 

1. ยกเลิกมาตรา 11 (1) ออกประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้น กระทำการ หรือร่วมมือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง

 

 

 

 

 

2. ยกเลิกมาตรา 11 (6) ออกประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน

 

 

 

 

 

3. ยกเลิกมาตรา 16 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง

 

 

 

 

 

4. ยกเลิกมาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับ หรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย  ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

 

 

 

 

 

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ในหลักการตนไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดนี้ และในฐานะสมาชิกรัฐสภา ตนจะไม่ยกมือผ่านกฎหมายฉบับนี้แน่นอน แต่ขณะเดียวกัน ตนก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาขนลงชื่อกัน 50,000 ชื่อ เสนอร่างแก้ไขกฎหมายนี้ในขณะนี้ ควรปล่อยให้มีการบังคับใช้ไปสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ นำมาใช้แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้

 

 

 

 

 

นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ตนมั่นใจว่าพระราชกำหนดนี้ จะผ่านสภาอย่างแน่นอน ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่เป็นเพราะสมาชิกรัฐสภา รับสภาพปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้แล้ว จนมีความรู้สึกร่วมกันว่า ต้องให้เครื่องมือกับรัฐบาลเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยไม่สนใจว่าเครื่องมือนั้น จะเป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไป จนอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกเดียวกันกับประชาชนทั่วประเทศในขณะนี้

 

 

 

 

 

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวว่า พระราชกำหนดนี้ ไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแน่นอน เพราะพระราชกำหนดฉบับนี้มาจากรัฐตั้งโจทก์ผิดมาตลอด 50 ปีว่า คนมลายูท้องถิ่นต้องการแบ่งแยกดินแดน จึงต้องสลายความเป็นมลายูท้องถิ่นลงให้ได้ ซึ่งนำมาสู่การปิดกั้นการแสดงออกทางวัฒนธรรมของคนมลายู ทั้งในส่วนของวิถีปฏิบัติ และความเชื่อในทางศาสนา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

 

 

 

"การมให้อำนาจนายกรัฐมนตรีล้นฟ้าเช่นนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ มีแต่จะยิ่งเพิ่มปัญหามากขึ้นเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 - เดือนกรกฎาคม 2548 ซึ่งอยู่ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 2,441 ครั้งมีคนตาย 730 คน คนเจ็บ 1,313 คน ส่วนใหญ่เป็นราษฎรทั่วไป ข้อมูลนี้เป็นของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งผมเห็นว่าตัวเลขนี้น่าจะต่ำจากความเป็นจริง" นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าว

 

 

 

 

 

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อเหมือนกับคนอื่นๆ ว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ นำมาใช้แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้านำมาใช้ผิดพลาด เช่น จับผิดตัว ฆ่าผิดคน ก็จะเกิดสภาพตายสิบเกิดแสน จากการอยู่ในพื้นที่มากว่า 30 ปี และได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ให้ลงรับฟังความคิดเห็นประชาชน ตนพบว่า คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ 75 ไม่ใช่คนที่ใช้ความรุนแรง คนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร้อยละ 73 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เป็นคนกลุ่มนี้ คนที่ใช้ความรุนแรงมีเพียงร้อยละ 5 - 10 เท่านั้น คนกลุ่มนี้จะไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

 

 

 

 

"จากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีมานี้ ทำให้คนท้องถิ่น 2 กลุ่ม มองปัญหาต่างกันคนละขั้ว กลุ่มชาวไทยพุทธกับกลุ่มคนจีน เห็นด้วยกับพระราชกำหนดนี้ เพราะต้องการให้รัฐบาลจัดการกับกลุ่มผู้ก่อปัญหารายวันแบบเด็ดขาด ในขณะที่คนมุสลิมซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ เห็นว่าปัญหามาจากกลไกรัฐอยุติธรรม การเข่นฆ่ารายวันสืบเนื่องมาจากการกระทำของอำนาจรัฐ" นายประสิทธิ์ กล่าว

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net