Skip to main content
sharethis

ประชาไท—18 ส.ค. 48  มหาวิทยาลัยมหิดล  ตบเท้าเข้าบ้านกะเหรี่ยง  เบิกทางวิจัยอาหารและโภชนาการ  โดยผูกโยงกับสิทธิของชุมชน  ที่บ้านสะเนพ่อง  จ.กาญจนบุรี  หวังปูทิศวิกฤตอาหารนำเข้าของคนเมือง  พร้อมพยายามชี้ให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าอาหารป่าหากินเอง


 


หลังจากสถาบันวิจัยโภชนาการ  ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท  มหาวิทยาลัยมหิดล  พบว่ายังมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการเลี้ยงดูที่เอื้อต่อการพัฒนาภาวะโภชนาการของเด็ก  แม้ว่าสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต  จึงได้ตั้งโครงการวิจัยสำรวจและประเมินภาวะโภชนาการในกลุ่มชาติพันธุ์  โดยได้วิจัยชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง  ต.ไล่โว่  อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี 


 


ทั้งนี้  เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิต  การบริโภคอาหาร  สุขภาพและภาวะโภชนาการ  รวมถึงวัฒนธรรม  ความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ  เพื่อเป็นฐานข้อมูลความรู้ในการพัฒนาสุขภาพ  ภาวะโภชนาการแก่คนในชุมชน อันจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม  และสุขภาพของคนในชุมชนรวมถึงชุมชนอื่นต่อไป


 


ดร.สุทธิลักษณ์  สมิตะสิริ  สถาบันวิจัยโภชนาการ  มหาวิทยาลัยมหิดล  คณะทำงานโครงการวิจัยกระบวนการและวิธีการในการพัฒนาสุขภาวะและโภชนาการที่ดีของเด็กและผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์(กะเหรี่ยงในชุมชนสะเนพ่อง)  กล่าวว่า  ในชนกลุ่มน้อยมีทัศนคติหรือความเชื่อที่หลากหลาย  ขณะที่มุมโภชนาการปัญหาระดับโลกกำลังเห็นความหลากหลายของพืชที่ลดต่ำลงไปมากซึ่งเกี่ยวข้องกับอาหารในชุมชนโดยตรง


 


"หมู่บ้านชาวชนบทต่างร่ำรวยในทรัพยากร  แต่ผู้อยู่ข้างนอกหรือคนเมืองกลับกำลังยากจนขึ้น  ซึ่งเราสนใจในความหลากหลายทางทรัพยากร  การดำรงชีวิต  การโภชนาการ  โดยชุมชนเผ่านี้มองว่าทุกอย่างล้วนเป็นวิถีชิวิตของพวกเขา"  ดร.สุทธิลักษณ์  กล่าว


 


ขณะเดียวกัน  ดร. สุทธิลักษณ์  เห็นว่า  ในระยะหลังไม่สามารถนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในภาคอีสานได้  และชาวบ้านมีความรู้สึกว่ามีความยากลำบากในการนำไปใช้จริง  การวิจัยครั้งนี้จึงอยากดูของจริงในหมู่บ้านที่มีความพอเพียงจริงๆ ว่าเขาเจอกับอะไร  เกิดอะไรบ้าง  และชาวบ้านเองคิดเห็นอย่างไร  โดยต้องการดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


 


"เราต้องเรียนรู้ร่วมกัน  แต่ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบ  วันนี้จึงมาเสนอมุมองค์ความรู้  ศึกษาว่าชาวบ้านเขามองอย่างไร  ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชาวบ้านต้องพิจารณาเอง  เราไม่ได้ไปบอกให้ชาวบ้านทำโน่นทำนี่  แต่บอกหนทางให้เด็กเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ  เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องเรียนรู้ และเขาก็ต้องดูทิศทางที่พอเป็นไปได้"  คณะทำงานโครงการ  กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม  ดร.สุทธิลักษณ์  เห็นว่า  ตอนนี้ระบบอาหารเริ่มหายากลำบากมากขึ้น  เด็กสุขภาพไม่ดีเพิ่มขึ้น  การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการดูแลชาวบ้านให้ปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์  ซึ่งภายในชุมชนมีการแบ่งปันจัดการอย่างสมดุลและพอเพียง  โดยที่อาหารและสิ่งแวดล้อมรักษาความเป็นชุมชนเอาไว้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net