Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 19 ส.ค.48 "ขณะนี้มีความพยายามของภาคประชาสังคมที่ร่วมกันตั้งคณะกรรมการและร่างจริยธรรมสำหรับสื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อควบคุมกันเองและจัดการดูแลบล็อกเว็บที่ไม่เหมาะสม มีบทบาทเหมือนกับสภาการหนังสือพิมพ์ คาดว่าจะเสร็จราวปลายเดือนสิงหานี้ และเปิดให้มีการประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึง"

นายปรเมศวร์ มินศิริ อุปนายกสภาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยกล่าวถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของสมาคมฯ หลังจากแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐใช้อำนาจปิดเว็บไซต์วิทยุชุมชนเอฟเอ็ม 92.25 (www.fm9225.com) ภายในงานสัมมนา"เว็บไซต์ไทยกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน" จัดโดย คณะกรรมาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)


นายปรเมศวร์ กล่าวว่า คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยหลายหน่วยงาน อาทิ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สภาทนายความ กสม. ซึ่งได้ร่วมกันร่างจริยธรรมวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไซต์ไทย และจัดตั้งศูนย์อินเตอร์เน็ตฮอตไลน์ โดยดึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมประชุมเพื่อออกกฎกติกาในการปฏิบัติร่วมกัน และพิจารณากันเองว่าเว็บไซต์ใดไม่เหมาะสมและควรบล็อก โดยให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทั้งหมดร่วมกันรับรอง ไม่เช่นนั้นจะเกิดกรณีดังที่รัฐสั่งบล็อกเว็บไซต์วิทยุชุมชนเอฟเอ็ม 92.25 แทนที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เหมาะสมขึ้นมาอีก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้ประสานงานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อร่างกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาการออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงการนำเสนอข่าวทุกประเภททางสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมดด้วย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้


ด้านนายวิบูลย์ ศรีพิศุทธิ์ ตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาของกระทรวงไอซีทีคือไม่มีกฎหมายที่ทันสมัยรองรับเรื่องอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะ และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่มีอำนาจในการจัดการเท่าที่ควร ทำได้เพียงวิเคราะห์ว่าเว็บไซต์ซึ่งมีการร้องเรียนมานั้นผิดจริงหรือไม่ และส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งตรวจสอบยาก



"เว็บไซต์ที่ละเมิดสิทธิหรือผิดกฎหมายถ้าเป็นในประเทศยังพอไล่ทัน แต่ถ้าเข้ามาจากต่างประเทศเราก็ไม่รู้ว่าจะใช้กฎหมายหรือมาตรฐานอะไร"นายวิบูลย์กล่าวและว่า แม้จะยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่ทางไอซีทีพยายามสร้างพันธมิตร โดยเฉพาะการให้ความรู้ในสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ และผู้ปกครอง


ส่วนกรณีที่ครม. นอกจากนี้ ครม.ยังได้มอบหมายให้นายสุรนันทน์ ประสานงานกับไอซีที เพื่อร่างกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาการออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงการนำเสนอข่าวทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมดนั้น ยังไม่แน่ใจในรายละเอียด แต่คาดว่าน่าจะต้องมีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันดูแลเนื้อหาการนำเสนอในมิติต่างๆ


นายเถกิง สมทรัพย์ อนุกรรมาการสิทธิในการสื่อสารและเสรีภาพสื่อมวลชน กสม. กล่าวสรุปว่าที่ประชุมมีความห่วงกังวลเรื่องเว็บไซต์ที่เนื้อหาผิดจริยธรรม มอมเมาเยาวชน ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งตนคิดว่าถ้าดูเปรียบเทียบกับเว็บไซต์ เอฟเอ็ม 92.25 นั้นเกิดขึ้นเพราะถูกจำกัดการแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมือง เว็บโป๊ต่างๆ ก็เช่นกัน ดังนั้น ควรเปิดพื้นที่ให้มีการศึกษาเรื่องเพศกันอย่างสร้างสรรค์


นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการเสนอเกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูลเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์สำหรับเยาวชน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น รวมถึงการให้ความรู้ผู้ปกครองและครูอาจารย์ในโรงเรียน เพื่อให้แนะนำการใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตในทางที่ถูกต้องได้


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net