Skip to main content
sharethis

นายกามารุซซามาน อัสกันดาร์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติศึกษา มหาวิทยาลัยซายน์ ประเทศมาเลเซีย บรรยายเรื่องการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการสัมมนานานาชาติ เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสันติภาพ ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548


การสร้างสรรค์สันติภาพ
โลกปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งมากมายที่ยังไม่อาจแก้ไขได้ การสร้างสันติภาพแม้จะเป็นวิธีเยียวยาปัญหาทางหนึ่ง แต่ผู้เกี่ยวข้องกับสันติภาพจะต้องเป็นนักแก้ไขกรณีพิพาทด้วย ต้องเชี่ยวชาญในปัญหา รู้ว่าควรทำอย่างไร และหยั่งรู้ถึงหลุมพรางและสิ่งท้าทายต่างๆ ด้วย

การสร้างสันติภาพกับความขัดแย้ง
ในการสร้างสันติภาพจำเป็นต้องทำความเข้าใจปัจจัยและประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ด้วย


 


1) ความขัดแย้งส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้กระบวนการพัฒนาชาติ และการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ล่าช้าลง รวมทั้งปัญหาอื่นๆด้วย เช่น ความยากจน ความไม่เสมอภาค ความไม่โปร่งใส ฯลฯ



2) แต่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาภายใน บางปัญหาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ที่ชักนำให้ชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยประเทศเล็กๆ หลายประเทศ ที่ประชากรบางส่วนมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือศาสนา เป็นต้น เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในประเทศหนึ่ง ก็อาจส่งผลกระทบต่อหรือมีอิทธิพลต่อประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ของประชาชนอันแนบแน่น



กล่าวได้ว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความแตกต่างๆทางเผ่าพันธุ์ ประเพณี และอัตลักษณ์ ซึ่งทำให้ความพยายามที่จะแก้ไข ยุ่งยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น จนอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงและความหวาดระแวงในระยะยาวได้



3) กลไกต่างๆ ที่ใช้แก้ปัญหา อย่างสภาสันติภาพทุกระดับที่มีอยู่อย่างจำกัด หรือบางครั้งรัฐที่น่าจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอม กลับเป็นฝ่ายที่สร้างความขัดแย้งเอง ดังนั้น การแก้ปัญหากรณีพิพาทและการสร้างสันติภาพ จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุม และสร้างวิธีการที่ชอบธรรมให้กับทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา



การสร้างสันติภาพต้องพึ่งพาการประนีประนอม เนื่องจากคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน อาจอยู่ร่วมกัน หรือห่างไกลกัน พวกเขาอาจเป็นคู่อริกันมาเนิ่นนาน หรือมีประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งและขมขื่น แต่หากไม่แสวงหาข้อเท็จจริงและการใช้หลักเมตตาธรรมและยุติธรรมแล้ว ก็ไม่อาจแก้ปัญหาและสร้างสันติภาพได้อย่างรวดเร็ว

ยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพทั่วไป
1. การพัฒนาหลักสูตรสันติภาพ โดยกำหนดว่าเป็นสันติภาพประเภทใด ใครจะเป็นผู้กำหนดสูตร ประเมินผล การประสานงาน และการสื่อสารอย่างเหมาะสมระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน
2. จัดผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น กลุ่มคลี่คลายกรณีพิพาท กลุ่มบรรเทาทุกข์ กลุ่มส่งเสริมสิทธิมนุษยธรรม นักกฎหมาย นักกิจกรรมเพื่อสร้างสันติภาพ และกลุ่มฟื้นฟูหลังจากคลี่คลายความขัดแย้ง เป็นต้น



สร้างเครือข่ายติดต่อสื่อสารทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อจัดหาทุนและทรัพยากรอื่นๆ เพื่ออำนวยการสร้างสันติภาพ และให้ความเป็นเจ้าภาพแก่กลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในกระบวนการสร้างสันติภาพ
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเงื่อนไขเฉพาะในการสร้างสันติภาพ กล่าวคือ ในอดีตองค์กรนานาชาติหลายองค์กรพยายามเข้ามาสร้างสันติภาพในกรณีความขัดแย้งที่พวกเขาเล็งเห็นผลประโยชน์เท่านั้น เช่น ปัญหาในกัมพูชาและติมอร์ ตะวันออก



ส่วนปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ แคว้นอาเจะห์ของอินโดนีเซีย หรือภาคใต้ประเทศไทยยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ความร่วมมือระหว่างองค์กรนานาชาติกับองค์กรระดับท้องถิ่นสามารถสร้างสันติภาพถาวรในภูมิภาคนี้ได้
อุปสรรคในการสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้ คือการขาดความจริงใจในการแก้ปัญหาของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกัน บางครั้งที่มีการลงนามในข้อตกลงกันแล้ว ความรุนแรงก็ยังไม่ยุติ จนถึงกับต้องมีการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ เช่นที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ หลังการลงนามในสนธิสัญญาโคฮา ในปี ค.. 2002 เป็นต้น



อีกประการหนึ่ง การสร้างสันติภาพไม่อาจดำเนินการได้ หากทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันไม่ได้กำหนดความต้องการที่ชัดเจน เพราะบุคคลหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ หรือคณะผู้ประนีประนอม หรือสื่อกลางในการสร้างสันติภาพไม่ทราบจุดยืนหรือเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายได้ อาจนำไปสู่การใช้สูตรสันติภาพที่ผิดพลาดได้ เช่น สิทธิการปกครองตนเองอาจถูกเข้าใจว่าเป็นเอกราช การกำหนดระยะเวลาและการดำเนินกระบวนการสันติภาพเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ผลประโยชน์ของชาติ อำนาจอธิปไตย การแทรกแซงระหว่างประเทศ ระดับความรุนแรงและจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นต้น โดยอาจก่อปัญหาด้านจริยธรรม และการวิภาควิจารณ์ตามมา จนอาจทำให้ผู้ให้การสนับสนุนยกเลิกการช่วยเหลือได้



จากประสบการณ์ที่ผ่านมาปรากฏชัดว่า หากองค์กรหรือบุคคลภายนอกภูมิภาคจะเข้าสนับสนุนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ ทุกระดับ ในขณะที่ประเพณีและศาสนาในทุกท้องถิ่นของภูมิภาค มีความอ่อนไหวอย่างรุนแรงหากถูกคุกคาม แม้จะเป็นไปเพื่อสันติภาพก็ตาม ทุกฝ่ายก็จะหลีกเลี่ยงการให้ความร่วมมือ



อาเจะห์ และภาคใต้ฟิลิปปินส์ เป็นพื้นที่ขัดแย้งมายาวนาน และสร้างสันติภาพทำได้ยากที่สุด เนื่องจากสังคมและพลเรือนที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมโดยตรงในการเปลี่ยนแปลงความแตกต่างด้านเผ่าพันธุ์ อุดมการณ์ทางการเมือง ประเพณี ศาสนา และความหลากหลายขององค์กรและกลุ่มผลประโยชน์ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับนานาชาติ ยิ่งสร้างความยุ่งยากสับสนในการคลี่คลายกรณีพิพาทและการสร้างสันติภาพ



อีกทั้งการปฏิบัติการลับของกลุ่มต่างๆ ยังสร้างบรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจต่อกันอีกด้วย

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
หลังยุคสงครามเย็น ปัญหาระหว่างประเทศในภูมิภาคที่ยังคลี่คลายไม่ได้ยังมีอยู่ เช่น กรณีฟิลิปปินส์กอ้างสิทธิเหนือดินแดนรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย ปัญหาชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย การแย่งสิทธิเหนือหมู่เกาะสเปรตลี ในทะเลจีนใต้ ปัญหาเกาะบาตู ระหว่างมาเลย์เซียกับสิงค์โปร์ เป็นต้น บางกรณีใช้วิธีทางการทูตในการคลี่คลายได้สำเร็จ แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ต้องพึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินชี้ขาด



สำหรับปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศในภูมิภาคที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ได้แก่ ปัญหากบฏคอมมิวนิสต์ และขบวนการแบ่งแยกดินแดนรูปแบบต่างๆ
นอกจากนี้ยังปรากฏกลุ่มศาสนาหัวรุนแรงภายใต้ชื่อต่างๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถทำลายล้างสันติภาพในภูมิภาคได้

ในการสร้างสันติภาพในภูมิภาคควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. ยอมรับว่าการสร้างสันติภาพ คือรากฐานสำคัญของกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพต้องใช้เวลายาวนาน และคลอบคลุมการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิด และทัศนะคติของประชาชน การสร้างความไว้วางใจ และการสนับสนุนทุน เป็นต้น
2. สร้างความสมดุลระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก
3. ให้มีการตัดสินใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชน
4. ศึกษาวิเคราะห์ความต้องการที่ชัดเจนของภูมิภาค ระหว่างสันติภาพและความยุติธรรม เพราะในบางกรณี เช่น ในกัมพูชา ประชาชนเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งที่ยาวนานเกินไป จนรู้สึกไม่ต้องการการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรม แต่ยอมแลกความยุติธรรมกับสันติภาพ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสันติภาพสร้างได้เร็วกว่ากระบวนการยุติธรรม
5. ให้ความสำคัญกับสำนักคิดที่หลากหลายในแง่ที่เป็นสถาบันการสร้างสันติภาพ เพราะบริเวณที่ขัดแย้งกัน หากสภาบันเข้มแข็งสันติภาพย่อมสร้างได้เร็วยิ่งขึ้น
6. การฟื้นฟูสถาบันทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดและรักษาสันติภาพในระยะยาวได้

โครงการและรูปแบบกิจกรรมเพื่อสร้างสันติภาพที่สามารถปฏิบัติได้
1) สร้างศักยภาพและอบรมสมาชิกสังคมในเรื่องการคลี่คลายความขัดแย้งและเรียกร้องสันติภาพ
2) จัดโปรแกรมการศึกษาระดับสูงในในหัวข้อ "สันติภาพและการแก้ปัญหากรณีพิพาท"
3) สร้างศูนย์การศึกษาสันติภาพทั่วภูมิภาคเพื่อศึกษาและวิจัยร่วมกัน
4) สร้างศูนย์ศึกษาสันติภาพร่วมระดับภูมิภาค
5) ส่งเสริมการศึกษาเรื่องสันติภาพและสร้างโปรแกรม เพื่อศึกษาเรื่องสันติภาพ
6) สนับสนุนการวิจัยเรื่องปัญหาความขัดแย้งและเงื่อนไขคลี่คลายความขัดแย้ง
7) เสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการและแก้ปัญหาความขัดแย้ง
8) ประเมินผลกระทบของความขัดแย้งในพื้นที่ขัดแย้ง เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบและความต้องการของประชาชน
9) จัดให้มีการเจรจาระหว่างคู่กรณีพิพาทหรือฝ่ายต่างๆที่ขัดแย้งในรูปแบบสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
10) แสดงจินตนาภาพอนาคตและทางเลือกที่สามารถทดแทนการใช้ความรุนแรง
11) เสนอโครงการต่างๆเพื่อบรรเทาความยากจน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งได้
12) สร้างระบบเตือนภัยและองค์กรบรรเทาทุกข์ในบริเวณพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง
13) ส่งเสริมการอ่านสื่อเพื่อสันติภาพและการฝึกอบรมบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net