Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-22  ส.ค.48      แฉเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย  เรียกเก็บเงินชาวบ้านรายละ 300-700  บาท  และมีการทำหนังสือขอเงินอุดหนุน จาก อบต.ทั้ง 4  แห่ง แห่งละ  80,000  บาท  รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 320,000  บาท  โดยอ้างเพื่อปรับปรุงข้อมูลการให้สัญชาติ  ในขณะที่หลายฝ่ายชี้ไม่เหมาะสมไปเบียดบังงบท้องถิ่น อีกทั้งการดำเนินการลงทะเบียนสถานะบุคคล การให้สัญชาติกลับไม่มีความคืบหน้า


 


นายวิวัฒน์  ตามี่  ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)เปิดเผยว่า  หลังจากที่ได้เข้าไปทำงานรณรงค์เผยแพร่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาในเขตพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย พบว่า มีชาวบ้านมาร้องเรียนที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภอ ร่วมกับผู้นำชุมชนบางกลุ่ม ได้มีการเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านรายละ 300-700  บาท ในการดำเนินเรื่องการลงทะเบียนสถานะบุคคล


 


"อีกทั้งทางอำเภอ  ยังมีทำหนังสือถึงองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 4 แห่งๆ การขอรับงบประมาณจากละ 80,000 บาท เป็นจำนวนทั้งหมด 3 แสน 2 หมื่นบาท โดยอ้างว่า เพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินงานการลงรายการสัญชาติไทย หรือการสถานะบุคคลได้ถูกต้องครบถ้วน ในเขต อ.แม่ฟ้าหลวง  แต่ที่ผ่านมา  ชาวบ้านไม่เคยได้รับการลงรายการสัญชาติไทยสักคนเดียว อีกทั้งการลงรายการสถานะบุคคลนั้น  ทางกรมการปกครองก็ออกมาระบุชัดเจนว่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทาง อ.แม่ฟ้าหลวง  ก็ยังมีการเรียกเก็บเงินในลักษณะนี้อยู่  ซึ่งทำให้ทั้งชาวบ้านและ อบต.ทั้ง  4 แห่งได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนกันเป็นอย่างมาก"  นายวิวัฒน์  กล่าว


 


นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นกล่าวว่า กรณีที่มีการเรียกเก็บเงินจากชาวบ้านรายละ 300-700 บาท ในการดำเนินการลงทะเบียนสถานะบุคคลนั้น  ถือว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์  ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของนโยบายรัฐบาล  และเมื่อสอบถามกรมการปกครองก็ยืนยันบอกว่า ไม่มีนโยบายเก็บเงินแต่ก็ยังมีการดำเนินการเช่นนั้นกันอยู่


 


"ยิ่งมีข่าวว่า  ทางอำเภอได้เรียกเก็บเงินจาก อบต.ทั้ง 4 แห่ง คือ อบต.แม่ฟ้าหลวง  อบต.เทอดไท  อบต.แม่สะลองนอกและ อบต.แม่สะลองใน  แห่งละ  80,000  บาท รวมเป็นเงินที่สูงถึง  320,000 บาท  โดยอ้างว่า เพื่อปรับปรุงข้อมูลราษฎรในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง  ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำเภอ กับอบต.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งปกติ จริงๆ แล้ว  อำเภอจะต้องเป็นฝ่ายอุดหนุนงบประมาณให้กับทาง อบต. แต่นี่กลับกลายเป็นว่า  อบต.เป็นฝ่ายสนับสนุนเงินให้แก่อำเภอ  ถือว่าเป็นเรื่องที่คาใจของคนแม่ฟ้าหลวงเป็นอย่างมาก  ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ทางอำเภอแม่ฟ้าหลวงออกมาชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วย" นายสุมิตรชัย  กล่าว


 


ทั้งนี้  ทางฝ่ายทะเบียนและบัตร  อำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย  โดยนายสมชัย  รุ่งสาคร  นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง  ได้มีหนังสือราชการออก เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2547  ถึงนายก อบต.ทั้ง  4  แห่ง  โดยแจ้งว่าสำนักทะเบียนราษฎรอำเภอแม่ฟ้าหลวง  มีความประสงค์ขอรับเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2548  จากองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง  4 แห่ง ๆ ละ  80,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงข้อมูลราษฎรในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง


 


โดยในโครงการ ระบุว่า จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรของสำนักทะเบียนราษฎร อ.แม่ฟ้าหลวง มีประชากรอยู่ประมาณ  81,224  คน  และมีราษฎรอีกไม่น้อยกว่า  20,000 คน  ยังไม่ได้รับการพิจารณากำหนดสถานะบุคคล  ทำให้ข้อมูลจำนวนประชากรของ อ.แม่ฟ้าหลวง  คลาดเคลื่อนจากข้อมูลจริงไปเป็นจำนวนมาก  เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาและวางแผนด้านต่างๆ  ทั้งของหน่วยงานราชการ  องค์กรปกครองท้องถิ่น  และหน่วยงานอื่นๆ 


 


แต่เนื่องจากสำนักทะเบียนของ อ.แม่ฟ้าหลวง  ไม่มีงบประมาณและบุคลากรเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ  ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปได้  ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนในเขต อ.แม่ฟ้าหลวงได้รับการลงรายการสัญชาติไทย หรือกำหนดสถานะบุคคลได้ถูกต้องครบถ้วนและจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลสัญชาติไทย  รวมทั้งจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่สามารถกำหนดสถานะให้แก่ราษฎรที่ยังไม่ได้รับลงรายการ  จำนวนประมาณ  20,000 คน ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง  ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2548


 


ในขณะที่มีรายงานจากในพื้นที่ว่า หลังจากที่ทางอำเภอได้นำงบประมาณจาก อบต.ทั้ง 4 แห่งไปแล้ว  จนถึงขณะนี้  กลับไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานการลงรายการสัญชาติ หรือกำหนดสถานะบุคคลใดๆ  เลย  นอกจากนั้น ในการยื่นคำร้อง ทางเจ้าหน้าที่อำเภอก็ไม่เคยฉีกหางบัตรยื่นคำร้องให้ชาวบ้านเลย  ซึ่งทำให้ไม่มีหลักฐานในการยืนยัน  นอกจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ อบต.หลายหมู่บ้าน  ได้โอดครวญว่า  ทางอำเภอพยายามรวบอำนาจทั้งหมดไว้  โดยไม่ให้ชาวบ้านและทาง อบต.เข้าไปมีส่วนร่วม  จนเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติงานของทางอำเภอว่า เป็นไปด้วยความชอบธรรมหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net