Skip to main content
sharethis

 








15 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก กฎหมายที่เริ่มต้นจากประชาชนอย่างร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในรัฐสภาเหมือนเคย แต่คราวนี้มีนิมิตหมายอันดีว่าทั้งส.ส.และส.ว. รวมถึงคนนอกที่อยู่ในคณะกรรมาธิการร่วม น่าจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้ ดังที่ "พนัส ทัศนียานนท์" ส.ว.ตาก เองก็คาดหมายว่าคงเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา สมัยนิติบัญญัติ 22 ส.ค.นี้ได้ทันแน่นอน

 


หากจะกล่าวถึงความเป็นมา กฎหมายฉบับนี้ผ่านมือคณะกรรมาธิการมา 4 ชุดแล้ว หลังจากรัฐบาลรับร่างพ.ร.บ.นี้ครั้งแรกเมื่อเดือนก.ค.43 แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา จนผ่านการพิจาณาของสภาผู้แทนฯ ไปยังวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาอีก


 


กระทั่งเดือนมี.ค.45 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติให้เปลี่ยนหลักการสำคัญ "มิให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้" แล้วส่งกลับมา แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย จึงตั้งกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง 2 สภา ประชุมกันจนได้แนวทางออกมาเป็น 2 ร่างเมื่อเดือนม.ค.48 แต่ยังไม่ทันได้มีมติใดๆ ก็หมดสมัยรัฐบาลทักษิณ1 


 


ที่เถียงกันมายาวนานมีอยู่ไม่กี่ประเด็นใหญ่คือ จะให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่ และการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนนั้นควรมีขอบเขตอย่างไร  


 


คณะกรรมาธิการร่วมชุดที่ 2 ตั้งเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลทักษิณ2 ยืนยันร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อ แต่บรรยากาศคราวนี้ ค่อนข้างแตกต่างกับครั้งที่แล้วอย่างน่าสนใจ เพราะส.ว.ที่เคยค้านการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ อย่าง ส.ว.ผ่อง เล่งอี้ ส.ว.พนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ฯ นั้นมีทีท่าอ่อนลง


 


บุคคลภายนอกที่เข้าร่วมกรรมาธิการร่วมเล่าว่า ในที่ประชุมมีการนำข้อมูลต่างๆ มาพูดคุยกันมากขึ้น และส.ว.หลายคนมีทีท่าที่ยอมรับฟัง จึงคลายความวิตกกังวลเดิมๆ ลงมาก


 


การพิจารณาครั้งนี้ยึดร่างพ.ร.บ.ฉบับของวุฒิสภา และร่างอีก 2 ฉบับที่กมธ.ร่วมครั้งที่แล้วร่างไว้  ฉบับหนึ่งมีดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ ขณะที่อีกฉบับหนึ่งมีปรมาจารย์ด้านกฎหมาย คืออาจารย์พนัส เป็นผู้จัดทำ ซึ่งในส่วนของอาจารย์พนัสนี้ต้องการให้ป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ มีความหมายเฉพาะส่วนที่เป็นโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)


 


ในที่ประชุมกรรมาธิการร่วมมีการถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่พักหนึ่ง แต่แล้วเรื่องหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่นี้ก็มีอันตกไป


 


อย่างไรก็ตาม อาจารย์พนัส ได้กล่าวในที่ประชุมครั้งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องป่าอนุรักษ์ที่มนุษย์ไม่ควรแตะต้องดังที่อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ "สารคดี" จะเบาบางลงแล้ว


 


"มนุษย์คือ ศัตรูตัวฉกาจของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มนุษย์ทำลายและดัดแปลงสิ่งแวดล้อมตามสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด ปรับเปลี่ยนสภาพธรรมชาติเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน ไม่ใช่แค่ให้พออยู่พอกินไปวัน ๆ แต่ต้องเพื่อความสะดวกสบายของตัวเองด้วย พอมีความเป็นอยู่ดีขึ้นก็จะเปลี่ยนแปลงดัดแปลงธรรมชาติมากขึ้น จนในที่สุดก็จะกลายเป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น .... ผมไม่เชื่อว่ามนุษย์จะบรรลุโสดาบันถึงขนาดว่าพากันรักป่าด้วยกันหมด" (นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน 2545)


 


ถึงที่สุดอาจารย์พนัสก็ยังเห็นด้วยกับโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ซึ่งแบ่งที่ดินออกเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และป่าไม้หมู่บ้าน  โดยกำหนดให้เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของชุมชน ส่วนพื้นที่จากการบุกรุกส่วนที่เหลือมอบให้รัฐเพื่อฟื้นฟูเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่อไป


 


"ถ้าจะรักษาป่าก็ต้องคิดต้องทำให้ทั้งระบบ เพราะชาวบ้านจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน มันต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้เขาด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ ก็บอกให้เขารักษาป่า" ส.ว.พนัสกล่าว


 


ขณะที่เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือก็พยายามนำเสนอว่า การจัดการแบบโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่นั้นสร้างปัญหาให้กับชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะในการทำมาหากิน เช่น ชาวบ้านที่ทำไร่หมุนเวียน ซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ทำกินหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ภายในขอบเขตที่แน่นอน ฯลฯ


 


 แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ดูเหมือนคณะกรรมาธิการร่วมพยายามประนีประนอมกับแนวคิดหลากหลายว่าด้วยเรื่องการรักษาป่า คงเพราะอยากผลักดันให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ใช้เสียที โดยตกลงร่วมกันว่าจะกำหนดมาตรการขอจัดตั้ง ตลอดจนการดูแลรักษาที่เข้มงวดรัดกุม และห้ามทำไม้โดยเด็ดขาด


 


เรื่องราวดูเหมือนดำเนินไปอย่างลื่นไหล กระทั่ง เมื่อ28 ก.ค.ที่ผ่านมา รองปลัดทส. "อภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์" ได้โยนประเด็นใหม่เข้าสู่ที่ประชุม "ป่าต้นน้ำไม่ควรให้มีการจัดตั้งป่าชุมชน"  ด้วยความเป็นห่วงว่าหากไม่แยกพื้นที่ต้นน้ำออกมาจาป่าชุมชนให้ชัดเจน จะทำให้ป่าสมบูรณ์ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำหร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ


 


ปัญหามีอยู่เพียงว่า "ป่าต้นน้ำ" ที่ว่านี้ในความเป็นจริงมีพื้นที่กว้างขวางแค่ไหน? ซึ่งรองปลัดทส.เองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันถูกประกาศตามมติครม.เมื่อปี 2532 อย่างกว้างขวางคลอบคลุมพื้นที่อื่นๆ จำนวนมาก รวมทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเดิมของชาวบ้านด้วย


 


รองปลัดทส.ยืนยันว่า แม้จะยังไม่รู้พื้นที่ป่าต้นน้ำที่แท้จริง แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ป่าต้นน้ำถูกทำลายไปแล้วกว่า 10 ล้านไร่แล้ว


 


"ตอนนี้เรากำลังสำรวจพื้นที่กันใหม่ เพื่อให้ได้พื้นที่ต้นน้ำที่รัดกุม ประชุมกันมา 3 ครั้งแล้ว เพราะมันเป็นไข่แดงที่ควรสงวนไว้ ส่วนป่าชุมชนจะทำในพื้นที่ไหนก็ทำไป"รองปลัดทส.กล่าว


 


ประเด็นนี้ทำให้เครือข่ายป่าชุมชน โดยเฉพาะภาคเหนือต้องออกมาเคลื่อนไหว บุกไปหารือกับ "ยงยุทธ ติยะไพรัช" ถึงกระทรวงเพราะเท่ากับเป็นการพยายามดึงเรื่องไว้ให้วนอยู่ในอ่าง แต่เจ้าของกระทรวงยังคงมีท่าทีไม่ชัดเจน โดยให้ยืนยันความสำคัญของป่าต้นน้ำ พร้อมกับให้เครือข่ายชุมชนภาคเหนือไปทำบทเฉพาะกาลในประเด็นคนอยู่ในต้นน้ำมาเพื่อเสนอคณะกรรมาธิการร่วม


 


"เราเข้าใจและเห็นด้วย แต่ในความเป็นจริงการประกาศเขตพื้นที่ต้นน้ำครอบคลุมพื้นที่ป่าจำนวนมากทั้งป่าสงวน พื้นที่อาศัย ทำกินของชาวบ้านเป็นการประกาศจากข้อมูลแผนที่ในจอคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานราชการ ถ้ากำหนดอย่างที่ทส.เสนอก็เท่ากับห้ามนำป่าทุกหย่อมหญ้ามาทำป่าชุมชน" นายเดโช ไชยทัพผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือเคยให้สัมภาษณ์


 


ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือระบุว่า พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ที่ทางการประกาศนั้นครอบ คลุมพื้นที่ป่าทั่วประเทศถึง 84 ล้านไร่ ขณะที่ป่าอนุรักษ์ เขตห้ามล่าต่างๆ ที่ประกาศทั่วประเทศนั้นยังมีเพียง 56 ล้านไร่ และส่วนที่เตรียมประกาศเพิ่มเติมอีก 15 ล้านไร่


 


พร้อมกันนั้นเครือข่ายป่าฯ เสนอว่า หากมีข้อกังวลเรื่องนี้จริง ก็ให้ทำบทเฉพาะกาลแนบท้ายไว้ว่า หากกฎหมายป่าชุมชนประกาศใช้ก็ให้ชาวบ้านขอจัดตั้งได้ และเมื่อการสำรวจเสร็จเรียบร้อยแล้วพบว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ จึงให้ทบทวนแผนการจัดการป่าให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของป่าต้นน้ำ


 


เรื่องราวยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมครั้งถัดมาในวันที่ 4 ส.ค.นั้นไม่ครบองค์ประ ชุม มีผลให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไปประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค.นี้ หลังจากรัฐสภาเริ่มประชุมสมัย


นิติบัญญัติแล้ว


 


ขณะที่อีกด้านหนึ่งทส.ก็ได้ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์นิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เชียง ใหม่ มูลนิธิธรรมนาถ และศูนย์ประสานงานองค์กรอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 31 องค์กร จัดทำร่างยุทธศาสตร์ป่าต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ มีเป้าหมายรักษาป่าต้นน้ำตามที่ครม.ประกาศไว้ ไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มไม่ว่าวิธีการใดๆ และสนับสนุนให้ชุมชนฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากป่าในรูปแบบป่าไม้หมู่บ้าน นอกพื้นที่อนุรักษ์ 


 


ด้วยวิธีคิดในการรักษาป่าที่ยังคงแตกต่างกันไป ทุกคนต่าง "เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ" ขณะที่ทั้งสองแนว


คิดนี้ก็ปรากฏตัวอย่างทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวเช่นกัน


 


จึงยังต้องหวั่นไหวกันต่อไปว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน นี้จะได้ข้อยุติเช่นไร และจะออก มาทันสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้หรือไม่ !  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net