Skip to main content
sharethis







ขณะที่ภาคตะวันออกกำลังเปิดศึกแย่งชิง "น้ำ" กันอย่างหนัก พื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด กลับประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี จากอิทธิพลของดีเพรสชั่น ทำให้เกิดฝนตกหนักเมื่อวันเสาร์ (13 ส.ค.) ที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณทิวเขาผีปันน้ำใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ต้นกำเนิดสายน้ำปิง ซึ่งมีความยาวกว่า 760 กม.และมีลุ่มน้ำสาขากว่า 20 ลุ่มน้ำ

 



ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เฉพาะเชียงใหม่จังหวัดเดียว กระทรวงมหาดไทยประเมินเป็นตัวเลขกลมๆ ไว้ราว 5,000 ล้านบาท


 


หลังจากกระแสน้ำผ่านไป แนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยก็หลากไหลตามมา ทั้งการปัดฝุ่นโครงการเก่าอย่างการขุดลอกลำน้ำปิง จัดการผู้บุกรุกพื้นที่ริมตลิ่งและการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ อย่างการรื้อฝายหินทิ้ง แล้วสร้างฝายยางของนายกรัฐมนตรี หรือการสร้างเขื่อนกั้นน้ำริมตลิ่ง รวมไปถึงมาตรการ "เด็ดขาด" ที่จะจัดการกับผู้บุกรุกทำลายป่า


 


น่าจับตาเป็นยิ่งว่า โครงการใดบ้างที่คณะรัฐมนตรีจะไฟเขียว มาตรการใดอีกที่จะผุดโผล่ หลังการประชุมวันนี้ (23 ส.ค.) 


 


--------------


 


แนวทางหนึ่งที่ได้รับการจับตามองคือ โครงการสร้างเขื่อนสูง 5 เมตรเลียบ 2 ฝั่งลำน้ำปิง ตลอดเขตเมืองเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ที่นายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทยถึงกับออก มาระบุหลังสถานการณ์น้ำลดใหม่ๆ ว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการเรียบร้อยแล้ว


 


ขณะที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทยระบุว่า แม้เทศบาลจะออกแบบแล้วเสร็จ แต่ตนได้สั่งระงับไว้ เพราะต้องรอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองศึกษาระบบการระบายน้ำและการแก้ปัญหาทั้งระบบเสียก่อน จึงจะตัดสินใจได้อีกครั้งว่าจะสร้างหรือไม่ โดยการศึกษาของกรมโยธาธิการฯ นั้นได้รับอนุมัติงบประมาณแล้วกว่า 29 ล้านบาท


 


ส่วนการขุดลอกลำน้ำปิงนั้น เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ดำเนินการกันมายาวนานตั้งแต่นายกรัฐมนตรี "คนเมือง" นี้เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ในปี 2545 มีการอนุมัติโครงการขุดลอกร่องน้ำแม่ปิง จ.เชียงใหม่ -ลำพูน ซึ่งวางแผนจะขุดลอกน้ำปิงลึก 1.5-2 เมตร รวมระยะทาง 61.8 กม. แต่โครงการก็ล่าช้าติดขัดเป็นช่วงๆ มาโดยตลอด


 


ทั้งปัญหาเรื่องการบุกรุกชายตลิ่งของนายทุนใหญ่ที่ยังจัดการไม่ได้ ไม่ว่าจะก่อสร้างเป็นโรงพยาบาล โรงแรมฯ ขณะที่กรณีการบุกรุกของรายย่อย หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 22 ส.ค.2548 ได้สรุปเป็นเคียงข่าวระบุว่า แบ่งเป็นกลุ่มคดีที่ถึงที่สุดแล้ว 8 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 7 คดี ศาลนัดพิจารณา 4 คดี และอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ 11 คดี


 


นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแย่งชิงทรายเป็นล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่าหลายร้อยล้านบาทใต้ผืนน้ำที่จะทำการขุดลอก ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกติกาการดำเนินการ ส่งผลให้โครงการต้องล่าช้าออกไป


 


นี่ยังไม่นับรวมยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือรายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ


 


ลงดาบรุกป่าต้นน้ำ


 


หันมามองปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่นายกรัฐมนตรีระบุบ้าง เรื่องนี้เป็นปัญหาที่อยู่ในความรับรู้ แต่ไม่อยู่ในความใส่ใจของสังคมไทยมาเนิ่นนานพอควร และเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นมาครั้งใดก็จะมีการพูดถึงปัญหานี้อย่างจริงจังขึ้นมาสักพักใหญ่


 


น่าสังเกตว่าคราวนี้นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำประเด็นนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะหลังจากลงทุนนั่งเฮลิ คอปเตอร์ บินตรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำ ในเขต อ.แม่แตง และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยได้มอบหมายให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ จัดการปัญหาการทำลายป่าอย่างเร่งด่วน ให้"ฟัน" ไม่เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นนายทุนฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล


 


พร้อมกันนั้นยังกำชับให้นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไล่เบี้ยเอากับชาวเขาจากประเทศเพื่อนบ้านมักลักลอบเข้ามาถากถางป่าเพื่อแปรเป็นพื้นที่ทำกิน  ซึ่งจะต้องจับกุมอย่างจริงจัง


 


เป็นนิมิตหมายอันยิ่งใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ แต่หากท่านจะสำรวจให้ละเอียดสักนิด ก็น่าจะเห็นว่า พื้นที่ป่าไม้จำนวนมากของหลายจังหวัดในภาค เหนือถูกแปรเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวอันกว้างใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะ "สวนส้ม"  ลำพังเชียงใหม่จังหวัดเดียวก็กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของ 4 อำเภอใหญ่ ฝาง แม่อาย ไชยปราการ และล่าสุดลามไปถึงเชียงดาว


 


"ขณะที่การแก้ปัญหาบุกรุกป่าต้นแม่น้ำปิง ก็เคยมีการรวบรวมรายชื่อและแปลงที่ดินที่บุกรุกป่ามาก่อนแล้ว เคยมีการประกาศด้วยซ้ำว่ามีการบุกรุกป่ามากกว่า 3 หมื่นไร่ ในระหว่างการแก้ปัญหาสวนส้ม 3 อำเภอตอนเหนือ แต่เรื่องกลับเงียบหายไปเฉยๆ" หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ" ฉบับล่าสุดรายงาน !!!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net