Skip to main content
sharethis


วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2548

 


นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร


ทำเนียบรัฐบาล


ถนนพิษณุโลก, ดุสิต


กรุงเทพฯ 10300


 


เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี


 


เรื่อง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


 


แม้เราจะเข้าใจดีถึงปัญหาความมั่นคงในภาคใต้ และการที่กลุ่มติดอาวุธกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง แต่องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ รู้สึกกังวลอย่างยิ่งที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้ละเมิดพันธะของประเทศไทย ทั้งต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และต่อรัฐธรรมนูญ/กฎหมายอื่นๆ ของประเทศไทยเอง รวมทั้งยังอาจทำให้สถานการณ์ในภาคใต้เลวร้ายลงอีกด้วย ทั้งนี้เรามีความกังวลเป็นพิเศษต่อประเด็นดังต่อไปนี้


 


v      ไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสมจากฝ่ายตุลาการในการจับกุม, การคุมขัง และการเรียกบุคคลมาพบเจ้าหน้าที่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีการทรมาน และการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว หรือถูกสอบสวน


 


v      ไม่มีมาตรการอนุมัติ หรือการควบคุมอย่างเหมาะสมจากฝ่ายตุลาการในการตรวจค้น และการยึด/อายัด


 


v      การดึงอำนาจออกไปจากศาลปกครอง ในการที่จะดำเนินการต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


v      การจำกัดโอกาสที่เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะสามารถเรียกร้องการชดเชยผ่านกระบวนการทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย


 


v      โอกาสความเป็นไปได้ที่จะใช้อำนาจเซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นการสวนทางพัฒนาการของเสรีภาพของสื่อในประเทศไทย


 


v      ข้อกำหนดที่ให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำนั้นได้เปิดโอกาสที่จะมีการใช้ "สถานที่ลับ" สำหรับควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เหมาะสม


 


v      การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม, เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งเป็นมาตรการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยปราศจากเหตุผลอันควร


 


v      การให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อนายกรัฐมนตรีในการที่จะ "ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน" ซึ่งสามารถบังคับใช้กับผู้ใด หรือองค์กรใดก็ได้ การให้อำนาจในลักษณะที่กว้างขวางเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นลักษณะของการปกครองระบอบเผด็จการ มากกว่าสังคมเสรีประชาธิปไตย


 


ถึงแม้พระราชกำหนดฉบับนี้จะไม่ได้เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ได้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย โดยในการนี้ได้วางรากฐานทางกฎหมายสำหรับอำนาจพิเศษที่จำกัด และระงับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการรับประกันภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง


 


ในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ประเทศไทยจะต้องเคารพ และดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน ถึงแม้มาตรา 4 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองจะอนุญาตให้รัฐภาคีสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ในกรณีที่มีสถานการณ์คุกคามต่อชีวิตของประชาชาติ ซึ่งในเงื่อนไขที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐภาคีสามารถลดความผูกพันภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองได้ตามความจำเป็นเท่านั้น โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อพันธะของรัฐภาคี ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งจะต้องไม่ตั้งอยู่บนอคติทางเชื้อชาติ, สีผิว, เพศ, ภาษา, ศาสนา หรือสังคม นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังระบุว่า การกำหนดระยะเวลา, พื้นที่ทางภูมิศาสตร์, และขอบเขตของภาวะฉุกเฉินนั้นจะต้องสอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์ รวมทั้งการดำเนินการใดๆ ภายใต้ภาวะฉุกเฉินจะต้องใช้ความระมัดระวัง และจะต้องเหมาะสมต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง เช่น ข้อกำหนดในเรื่องสิทธิในการมีชีวิต, เสรีภาพจากการถูกทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายทารุณผิดมนุษย์, เสรีภาพในทางความคิด และ เสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นจะไม่สามารถถูกจำกัดได้ ไม่ว่าจะภายใต้เงื่อนไขใดก็ตาม นอกจากนี้ การดำเนินการใดๆ ที่เบี่ยงเบนออกจากหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการไต่สวนพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เช่น การถือว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ความผิดก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน รัฐภาคียังจะต้องเคารพหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ดังนั้น เราจึงเรียกร้องให้ท่านประกาศแจ้งเรื่องเหล่านี้ให้กองทัพ, ตำรวจ, หน่วยข่าวกรอง และหน่วยราชการต่างๆ ทราบอย่างเปิดเผย


 


เรามีความกังวลเกี่ยวกับการที่พระราชกำหนดฉบับนี้ระบุให้ภาวะฉุกเฉินมีระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนในการประกาศแต่ละครั้ง โดยไม่ได้จำกัดว่าสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินต่อไปได้อีกกี่ครั้งนั้น ได้สร้างความเสี่ยงที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพตามอำเภอใจจะดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุด


 


ถึงแม้จะมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส แต่อำนาจหลายๆ ส่วน ซึ่งนำมาใช้ภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้นั้นสามารถนำมาใช้ได้ทั่วทุกส่วนของประเทศไทย อำนาจเช่นนี้ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องเป็นสัดส่วนกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต


 


พระราชกำหนดฉบับนี้ไม่มีมาตรการป้องกันในทางบริหาร และทางตุลาการที่เหมาะสมสำหรับที่จะป้องกัน และระงับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ในทางกลับกันนั้น ได้มีการสร้างอุปสรรคที่ไม่จำเป็นขึ้นมาปิดกั้นโอกาสที่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจะดำเนินการทางกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งประเด็นทั้งสองเรื่องนี้ได้ตอกย้ำ "บรรยากาศของการไม่ต้องรับผิด" ต่อการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งระบุอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงกลายปีที่ผ่านมา ข้อสรุปเกี่ยวกับ "บรรยากาศของการไม่ต้องรับผิด" ไม่เคยถูกนำมาใช้อธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ภายใต้การบริหารของท่านนั้น ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และปฏิบัติการในลักษณะเหนือกฎหมาย โดยไม่ต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังจะเห็นได้จากกรณีการฆาตกรรมมากกว่า 2000 คดีในระหว่างที่มีการ "ทำสงครามต่อต้านยาเสพติด" เมื่อปี พ.ศ. 2546, กรณีใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และการสังหารกลุ่มติดอาวุธที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน ปี พ.ศ. 2547 และกรณีปราบปราบกลุ่มผู้ชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดที่ต้องรับผิดต่อการลักพาตัว, การทรมาน และการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของประเทศไทย เราเห็นด้วยกับข้อสังเกตของฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทย ที่เชื่อว่า  "บรรยากาศของการไม่ต้องรับผิด" เช่นนี้ได้มีส่วนช่วยกระพือความรุนแรงของสถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทยในช่วง 19 เดือนที่ผ่านมา


 


เรามีความกังวลเป็นพิเศษต่ออำนาจที่พระราชกำหนดฉบับนี้มอบให้กับนายกรัฐมนตรีอย่างผิดปกติวิสัย เราไม่คิดว่า จะมีบุคคลใดควรที่จะมีอำนาจในลักษณะที่พระราชกำหนดฉบับนี้มอบให้กับท่าน อาทิเช่น การสั่งให้ หรือการห้ามมิให้ประชาชนกระทำการใดๆ ก็ได้, การเซ็นเซอร์สื่อ, การให้อำนาจในการตรวจค้น และการยึด/อายัดโดยไม่มีหมาย, การสั่งอพยพโยกย้าย และอำนาจที่ผิดปกติวิสัยอื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประวัติของรัฐบาลของท่านที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพแล้ว เรามีความกังวลว่า ท่านจะใช้อำนาจที่ได้รับจากพระราชกำหนดฉบับนี้ไปในทางที่มิชอบ


 


วิธีการที่ท่านผ่านพระราชกำหนดฉบับนี้ โดยปราศจากการตรวจสอบของรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นแนวโน้มที่น่าวิตกเกี่ยวกับการละเมิดหลักการของกระบวนการประชาธิปไตย และการปิดกั้นโอกาสที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยจะสามารถมีส่วนร่วมในการอภิปราย และเสนอแนะนโยบาย, กฏหมาย และมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ของประเทศไทย


 


ทั้งนี้ ในสังคมประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม กฎหมายที่มีอำนาจกว้างขวางเหมือนในลักษณะของพระราชกำหนดฉบับนี้นั้นควรที่จะได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ และระมัดระวังผ่านกระบวนการที่เปิดกว้าง และโปร่งใส ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในกรณีนี้ ดังที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองามกล่าวในการแถลงข่าวภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติผ่านร่างพระราชกำหนดฉบับนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลได้เตรียมการศึกษาที่จะจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนกฎอัยการศึกในจังหวัดยะลา, ปัตตานี และนราธิวาสมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นกฎหมายที่รวบรวมเอามาตรการ และอำนาจต่างๆ ที่ระบุไว้ใยกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่มีอยู่ 7 ฉบับเข้าด้วยกัน เราได้รับทราบมาว่า การเตรียมการศึกษากฎหมายดังกล่าว ในฐานะทางเลือกของนโยบายสำหรับแก้ไขสถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทยได้ดำเนินมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่เราไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใด รัฐบาลกลับเลือกที่จะไม่นำเอาข้อสรุปเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา แทนที่จะประกาศใช้เป็นพระราชกำหนดอย่างเร่งด่วนรวบรัดเช่นนี้? นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลต่อคำประกาศของท่าน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่จะไม่เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นการปิดกั้นการอภิปรายเกี่ยวกับความจำเป็น และเนื้อหาของพระราชกำหนดฉบับนี้ได้ในทันที จนดูเหมือนว่า รัฐบาลหลีกเลี่ยงที่จะถูกตั้งคำถามโดยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ และเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาล


 


นับตั้งแต่การสิ้นสุดอำนาจของเผด็จการทหารเมื่อปี พ.ศ. 2535 ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชน, หลักนิติธรรม และความเป็นประชาธิปไตย แต่พระราชกำหนดฉบับนี้กลับได้ฝังเมล็ดพันธ์ของระบอบเผด็จการที่อาจเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ในฐานะมิตรที่มีความปรารถนาดีต่อประเทศไทย มีความความกังวลเป็นอย่างมาก


 


ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องในท่านยกเลิกพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งที่มีลักษณะของการใช้อำนาจเผด็จการกดขี่ และยังเป็นกฏหมายไม่มีความจำเป็น รวมทั้งเปิดโอกาสให้รัฐสภา และภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทยสามารถอภิปราย และมีส่วนร่วมในการการเสนอแนะนโยบาย และมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรง และการก่อความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งนี้ ถ้าหากท่านตัดสินใจที่จะยกเลิกพระราชกำหนดฉบับนี้ ท่านจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ได้ระบุไว้ในจดหมายฉบับนี้ และรายงานอื่นๆ รวมทั้งรายงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาอย่างเร่งด่วนด้วย


 


ในท้ายที่สุด เราพบว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากบุคคลต่างๆ ซึ่งได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงในสังคมไทย รวมทั้งนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่ได้กล่าวว่า "... ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่มีประสิทธิภาพ  ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาได้ แต่ไปจับบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง สร้างความบาดหมางไม่ไว้วางใจ ดังนั้นถ้าไปมอบอำนาจให้กว้างขวางมากขึ้น โอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จะนำอำนาจที่ได้รับเพิ่มขึ้น สร้างความรุนแรงมากขึ้น และนำไปสู่วิกฤติที่แท้จริง" และ "... รัฐบาลขณะนี้อยู่ในสภาพที่เรียกว่าประชาชนทางภาคใต้หวาดระแวง ไม่ไว้ใจ ไม่มีความเชื่อถือ คนในเมืองบางส่วนก็ไม่ไว้ใจ และไม่เชื่อถือ ... เพราะฉะนั้นน้ำหนักจึงอยู่ที่ว่าอำนาจที่ให้กับนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือเปล่า เวลาใช้อำนาจภายใต้ พระราชกำหนดฉบับนี้เป็นการใช้โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และตัวบทกฎหมายอื่นๆ หรือเปล่า ... ที่เป็นห่วงคือ กลัวว่าว่าจะใช้ไปในทางไม่ถูกต้อง" ซึ่งเราไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใด ท่านจึงตัดสินใจใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของการสร้างความสมานฉันท์ เราหวังว่า ท่านจะรับฟังเสียงทักท้วง และข้อกังวลของบุคคลต่างๆ ซึ่งได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงในสังคมไทย รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ เหมือนเมื่อครั้งที่ท่านยกเลิกนโยบายที่จะแบ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำหนดความช่วยเหลือในการพัฒนาตามรหัสสีแดง-เหลือง-เขียว


 


เราได้แนบข้อสังเกต และความเห็นโดยละเอียดเกี่ยวกับพระราชกำหนดฉบับนี้มาด้วย และหวังว่า รัฐบาลของท่านจะศึกษาอย่างระมัดระวัง


 


 


แบรด อดัมส์


ผู้อำนวยการบริหาร แผนกเอเซีย


องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์



ภาคผนวก: ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


 


1) มาตรา 11 (1) และมาตรา 12 ของพระราชกำหนดฉบับนี้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้ง "พนักงานเจ้าหน้าที่" ให้มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัวบุคคลเป็นระยะเวลา 7 วัน โดยที่ได้รับอนุญาตจากศาล อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการระบุว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่" ดังกล่าวจะเป็นใครได้บ้าง, จะต้องได้รับการอบรมทางกฎหมาย และความรู้ด้านต่างๆ อย่างไร และยังไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสมจากฝ่ายตุลาการในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งได้สร้างความกังวลอย่างมากว่า จะเปิดโอกาสให้มีการจับกุม และควบคุมตามอำเภอใจ, การทรมาน และการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว หรือถูกสอบสวน ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาร้ายแรงในภาคใต้ ดังที่รายงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้ระบุว่า "ควรจะห้ามมิให้มีการควบคุมตัวนานกว่า 48 ชั่วโมง โดยปราศจากการตรวจสอบจากภายนอก" ทั้งนี้ เนื่องจาก ยิ่งมีการควบคุมตัว โดยปราศจากกลไกการตรวจสอบที่เหมาะสมนานเท่าใด ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมอย่างไม่เหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น


 


2) มาตรา 12 กำหนดให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำนั้นได้เปิดโอกาสที่จะมีการใช้ "สถานที่ลับ" สำหรับควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เหมาะสม ข้อกำหนดที่แปลกประหลาด และไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นนี้มีอันตรายอย่างมากในการที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ "การทำให้หายสาบสูญ"


 


3) ไม่มีหลักประกันว่า ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุม และควบคุมตัวจะมีสิทธิเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฏหมาย และการเข้าเยี่ยมของสมาชิกครอบครัว, สิทธิในการโต้แย้งต่อศาลเกี่ยวกับเหตุผลในการจับกุม และควบคุมตัว หรือมาตรการใดๆ ที่จะป้องกันไม่ให้มีการทรมาน และการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณผิดมนุษย์ในช่วงระยะเวลา 30 วันของการควบคุมตัวภายใต้อำนาจของพระราชกำหนดฉบับนี้ ถึงแม้รัฐบาลจะระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลเสนอต่อศาลที่มีคำสั่งอนุญาต ตามวรรคหนึ่ง และจัดสำเนารายงานนั้นไว้ ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ญาติของบุคคลผู้นั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวไว้ แต่พระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่า การจัดทำ และเสนอรายงานดังกล่าวต้องแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งในทางปฏิบัติ ศาลอาจจะไม่ได้รับรายงานทันท่วงทีที่จะเข้าระงับไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่จะไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจำกัดระยะเวลาการควบคุมตัวไม่ให้เกิน 48 ชั่วโมง, การเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย และสิทธิในการโต้แย้งต่อศาลเกี่ยวกับเหตุผลในการจับกุม และควบคุมตัว นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังห้ามมิให้มีการทรมาน และการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว


 


ถึงแม้รัฐบาลได้ยืนยันที่จะประกาศระเบียบเพิ่มเติมเพื่อรับประกัน สิทธิในการเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฏหมาย และการเข้าเยี่ยมของสมาชิกครอบครัว แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า ระเบียบดังกล่าวจะประกาศใช้เมื่อใด และมีเนื้อหาอย่างไร? เราขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ถูกจับกุม และควบคุมตัวภายใต้อำนาจของพระราชกำหนดฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งข้อมูลว่า เกิดอะไรขึ้นกับบุคคลเหล่านั้น?, บุคคลเหล่านั้นถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด? และบุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงทนาย หรือมีสมาชิกครอบครัวมาเยี่ยมได้หรือไม่? เราขอเรียกร้องให้มีการเคารพประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญในการจับกุม และความคุมตัวตามอำนาจของพระราชกำหนดฉบับนี้


 


4) มาตรา 16 ปิดกั้นโอกาสที่จะมีการใช้กลไกของศาลปกครอง เพื่อโต้แย้งสถานะทางกฎหมายของการประกาศภาวะฉุกเฉิน และการใช้อำนาจภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่สำคัญของรัฐธรรมนูญสำหรับการเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐชิอำนาจโดยมิชอบ และละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังเป็นกลไกในการตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาล ดังนั้น มาตรา 16 ของพระราชกำหนดฉบับนี้จึงควรที่จะถูกยกเลิก


 


5) ในทำนองเดียวกัน มาตรา 17 ได้มอบภูมิคุ้มกันที่ไม่จำเป็นต่อการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งจะไม่ต้องรับผิดในทางอาญา, ทางแพ่ง และทางวินัย ผู้ที่จะร้องเรียนกลับต้องมีภาระในการพิสูจน์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านั้นมิได้กระทำการไปโดย "การกระทำที่สุจริต, ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น" ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เพราะขณะนี้ปรากฏแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ศาลมักจะหลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธที่จะรับพิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ของประเทศไทย ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นข้อกำหนดของมาตรา 17 จึงคล้ายคลึงกันกับกฏหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเองของรัฐบาลทหารในอดีต เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึด และควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 ถึง 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 กฎหมายเหล่านี้เป็นผลผลิตในทางตรง และทางอ้อมของเผด็จการทหาร ซึ่งการอนุญาตให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนลอยนวลไม่ต้องรับผิดต่ออาชญากรรมที่ก่อไว้นั้นไม่ควรที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยจะปฏิบัติตาม แม้แต่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน เหยื่อของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องสามารถมีช่องทางสำหรับโต้แย้งต่อกลไกของสถาบันตุลาการเกี่ยวกับถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะต้องจัดให้มีการดำเนินคดี และชดเชยความเสียหายใดๆ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเมิดสิทธิในการมีชีวิต, การทรมาน, การปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณผิดมนุษย์ และ "การทำให้หายสาบสูญ"


 


6) มาตรา 11 (2) ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการที่จะ "ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน" ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถแสวงหาข้อมูลข่าวสาร และความร่วมมือจากประชาชนในการสืบสวนอาชญากรรม แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมที่ผ่านๆ มาของตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในภาคใต้ของประเทศไทยที่มักจะไม่เคารพสิทธิที่จะนิ่งเงียบของผู้ที่ถูกเรียกมารายงานตัว หรือถูกสอบสวนแล้ว เรามีความกังวลว่า อำนาจของพระราชกำหนดฉบับนี้จะถูกนำไปใช้อย่างมิชอบ โดยเปิดโอกาสให้มีการทรมาน และการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณผิดมนุษย์ต่อผู้ที่ถูกเรียกมารายงานตัวเพื่อบีบบังคับให้บอกข้อมูล ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องกลไกที่เหมาะสมสำหรับควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 11 (2) นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลต่อการที่กลุ่มติดอาวุธมักมุ่งที่จะจ้องทำร้ายผู้ที่ร่วมมือ หรือให้ข้อมูลใดๆ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งรัฐบาลจะต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ และจัดมาตรการดูแลความปลอดภัยของบุคคลเหล่านั้นด้วย


 


7) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย และการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่มาตรา 9 (3) ของพระราชกำหนดฉบับนี้อนุญาตให้มีการเซ็นเซอร์ได้ด้วยเหตุผลที่คลุมเครือ เช่น "การเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งอาจถูกนำมาปิดกั้นความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลได้ง่ายๆ ทั้งในในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือทั่วทุกส่วนของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนั้นย่อมไม่มีความเหมาะสม หรือได้สัดส่วนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และจะกลายเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง


 


8) มาตรา 9 (2) อนุญาตให้มีการระงับสิทธิในการที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุม และการสมาคม โดยปราศจากการกำหนดมาตรการที่จะป้องกันมิให้เกิดการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการห้าม หรือสลายการชุมนุมรวมตัวของประชาชน เรามีความกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรง และความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งทำให้มีการเสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยจนถึงขณะนี้ ยังไม่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ปัญหานี้กลายเป็นเชื้อที่เติมให้ความรุนแรง และการก่อความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทยยังคงดำเนินต่อไป


 


9) มาตรา 11 (4) อนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถ "ออกคำสั่งตรวจค้น, รื้อ, ถอน หรือทำลายอาคาร, สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที" ขณะที่มาตรา 11 (5) อนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถ "ออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย, หนังสือ, สิ่งพิมพ์, โทรเลข, โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับ หรือยับยั้งการติดต่อ หรือการสื่อสาร" ข้อกำหนดเหล่านี้จำกัดสิทธิในความเป็นส่วนตัว โดยที่ไม่ได้มีมาตรการใดๆ สำหรับควบคุม และป้องกันการใช้อำนาจที่มิชอบแต่อย่างใด


 


10) มาตรา 9 (6) อนุญาตให้ "อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด" อำนาจนี้ควรนำมาใช้เป็นมาตรการขั้นสุดท้าย และจะต้องใช้อย่างระมัดระวังไม่ให้ดำเนินไปโดยมิชอบ เพราะการบังคับให้ประชาชนต้องโยกย้าย โดยไม่มีเหตุผลที่ได้รับการยอมรับภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้นอาจถือได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net