ทำความเข้าใจการออกพระราชกำหนด

พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งรัฐบาลหวังว่า จะเป็นเครื่องมือในการยุติความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรในบ่ายวันที่ 24 ส.ค. ศกนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และท้วงติงจากหลายฝ่ายว่า หลายมาตราของกฎหมายฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการในการพิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะขั้นตอนของการพิจารณาในชั้นของรัฐสภา "ประชาไท"ขอทบทวนนิยาม ความหมาย และขั้นตอนการดำเนินการโดยสังเขป

 

พระราชกำหนด คือ อะไร

 

พระราชกำหนด หมายถึง กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นให้ใช้บังคับ ดังเช่นพระราชบัญญัติโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี แล้วนำเสนอให้สภาพิจารณาอนุมัติ

 

พระราชกำหนดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.       พระราชกำหนดทั่วไป

2.       พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา

 

พระราชกำหนดทั่วไป

ตราขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับ ดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ประกาศไช้พระราชกำหนดนั้นแล้ว ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้า

 

พระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา

คือ พระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีประกาศใช้ระหว่างสมัยประชุม กรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษาอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับ ดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ แล้วจะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด

จะเกิดขึ้นได้เป็น 4 กรณี ดังนี้

1.       กรณีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนด ให้พระราชกำหนดนั้น มีผลบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติต่อไป

2.       กรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไประหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

3.       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนด แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้น มีผลบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติต่อไป

4.       กรณีสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชกำหนด แต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไประหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

           

หากพระราชกำหนดนั้น มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด และพระราชกำหนดต้องตกไป ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกมีผลบังคับต่อไป นับแต่วันที่การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผล

 

การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท