ชำแหละ "ประชานิยม" ครั้งแรกของกรรมาธิการภาคประชาชน

"ประชานิยม" คำนี้ได้ยินกันมาพักใหญ่ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยครองอำนาจทางการเมืองมาหลายปี  นโยบายนี้แม้ได้ผลดีทางการเมือง แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลากหลายฝ่ายเป็นระยะๆ 

 

วันที่ 25-26 ส.ค.นี้ ที่อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะมีการตรวจสอบนโยบายประชานิยมอีกครั้งโดยคณะกรรมาธิการ....

 

แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะเป็น "กรรมาธิการภาคประชาชน" ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรต่างๆ รวมทั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อติดตามตรวจสอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและสังคม

 

แนวคิดนี้เริ่มป่าวประกาศครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.48 ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมสภาในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ซึ่งสมัชชาคนจนและองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ได้มาร่วมกันนำเสนอปัญหาและปิ๊งไอเดียการตรวจสอบรัฐบาลโดย "กรรมาธิการภาคประชาชน"

 

ผ่านมา 5 เดือน การประชุมาครั้งแรกได้ก่อรูปร่างขึ้น พร้อมกับงานศึกษาวิจัยที่สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ จากทีดีอาร์ไอหาทุนช่วยสนับสนุนผู้ทำการศึกษา เพื่อจะตรวจสอบความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบายประชานิยมหลายโครงการ ได้แก่ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แปลงสินทรัพย์เป็นทุน การพักชำระหนี้ และการประเมินนโยบายประชานิยมกับสวัสดิการรักษาพยาบาล

 

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่จะหยิบยกมาเป็นน้ำจิ้มคราวนี้คือ "บทวิเคราะห์เบื้องต้น นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กับปมปัญหาระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรในสังคมไทย" โดยนายกฤษฎา บุญชัย

 

กฤษฎา เริ่มต้นในที่มาของนโยบายนี้ว่า หยิบยืมมาจากแนวคิดของ เออนันโด เดอโซโต้ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมชาวเปรู มุ่งนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาในระบบที่สามารถบริหารจัดการและเก็บภาษีได้ โดยใช้ "ระบบกรรมสิทธิ์" เป็นเครื่องมือไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือทรัพยากรต่างๆ จึงจะเป็นข้อต่อสำคัญไปสู่โลกทุนนิยม

 

ถ้าดูในเปรู เดอโซโตมองผ่านบริบทของสังคมเมืองไม่ใช่สังคมชนบท เขามองจากสังคมเมืองที่ผู้คนมากมายจากภาคชนบทเข้ามาแออัด และเข้าไปเอาที่ปฏิรูปที่ดินหรือพื้นที่ต่างๆ แล้วสร้างระบบเศรษฐกิจนอกระบบ

 

"เดอโซโตถึงขนาดฟันธงว่าการพูดถึงกรรมสิทธิ์ร่วม หรือสิทธิชุมชนเป็นความเพ้อผัน"

 

แล้วมันกระโดดเข้ามาสู่สังคมไทยได้อย่างไร กฤษฎาชี้ว่า อันที่จริงแล้วแนวโน้มทิศทางของการแปรรูปทรัพยากรโดยใช้กรรมสิทธิ์แบบปัจเจกมีการสั่งสมกันมานาน การเติบโตของโครงสร้างเศรษฐกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมทำให้ "กรรมสิทธิ์เอกชน" มันโตขึ้นอย่างมาก และเข้าไปสลายระบบสิทธิแบบอื่นๆ เช่น สิทธิร่วม และสิทธิของชุมชนในแบบต่างๆ ซึ่งเอื้อให้เกิดสภาวะที่นโยบายประชานิยมอย่าง "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน" จะกระโดดเข้ามาสวมต่ออย่างง่ายดาย

 

 เมื่อรัฐบาลทักษิณนำแนวคิดนี้มาใช้ เขาพูดชัดเจนมากว่าเจตนารมณ์ก็คือ "สร้างโอกาสให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส เกษตรกร ผู้ยากจน และผู้ประกอบการค้ารายย่อย ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในระบบโดยใช้เอกสารสิทธิ์มาเป็นหลักฐานประกอบการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อก่อเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ"

 

เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ว่าจะนำไปบริโภคหรือลงทุน การเข้าถึงเงินกู้ไม่เท่าไร แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือการเปลี่ยนสถานภาพด้วย คือ ผู้ประกอบการ นี่คือเป้าหมายปลายทาง นอกจากนี้ยังถ่ายโอนเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างทุนทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

 

"เราจะเห็นได้ว่านโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนไม่ได้ตอบปัญหาความมั่นคงในการถือครองทรัพยากรทุกรูปแบบ นี่ไม่ใช่โจทก์ของเขา และไม่ได้ตอบคำถามการกระจุกตัวของทรัพยากรทุกรูปแบบ เพราะไม่มีเครื่องมือในการรื้อโครงสร้างการกระจุกตัว หมายความว่าพื้นที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าคนจนหรือคนรวยถือครองอยู่ ก็จะสำรวจและเร่งออกเอกสารสิทธิ์ได้เลย" กฤษดากล่าว

กฤษดาระบุว่า แม้ธนาคารเอกชนจะไม่ยอมรับโครงการที่ดูไม่มีกำไร แต่หากรัฐผลักให้ธนาคารรัฐมารับ ปล่อยเงินกู้ให้ชาวบ้านได้ ปัญหาหนี้สินก็ยิ่งหนักหน่วง เพราะรัฐยังตอบคำถามไม่ได้เรื่องตลาด ท้ายที่สุดหนี้เสียที่พอกพูน ทรัพยากรในมือของชาวบ้านก็จะหลุดลอย ดังที่รัฐระบุไว้แล้วว่า เกษตรกรที่มีปัญหาใช้หนี้ก็ต้องเปลี่ยนโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้อื่นที่มีความสามารถมากกว่า มีทุนและเทคโนโลยีมากกว่า

ดูเหมือนนโยบายแปลงทรัพย์ให้เป็นทุนจะไม่ได้สร้างแนวคิดใหม่เลย เพียงแต่ทำให้ระบบทุนนิยม กลไกตลาดเข้าไปทำงานให้สมบูรณ์แบบ และทรัพยากรทั้งหมดก็จะไหลไปสู่มือกลุ่มทุน การจัดการทรัพยากรก็เพื่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น

"นโยบาย กฎหมายเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ภาษีอัตราก้าวหน้า การวางผังจัดการที่ดินจะต้องเป็นนโยบายชุดแรกที่ต้องปฏิบัติการ เพื่อลดทอนการกระจุกตัวของที่ดินลงมา ให้ที่ดินราคาถูกลง ที่รัฐสามารถเข้าถึงและกระจายที่ดินให้แก่ประชาชนได้อย่างพอเพียง ในขั้นนี้ต้องยังไม่ดำเนินการแปลงทรัพย์เป็นทุนอะไรทั้งสิ้น จนกว่าเกษตรกร คนจนจะเข้าถึงที่ดินได้" กฤษดาสรุปทางออกสั้นๆ

ส่วนรายละเอียดทั้งงานวิจัยชิ้นนี้ ชิ้นอื่นๆ และการเสวนาวิวาทะต่างๆ ที่น่าสนใจต้องติดตามกันในภายในงาน 25-26 ส.ค.นี้  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท