Skip to main content
sharethis

ประชาไท-24 ส.ค. 48       หัวหน้าทีมศึกษา "กระบวนการยุติธรรม" ของกอส. เสนอ ร่างยุทธศาสตร์ 5 ข้อในงานสัมมนา "การดำเนินการกระบวนยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ปัญหาและแนวทางแก้ไข" ที่ โรงแรมสยามซิตี้


               


ดร. จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย หัวหน้าทีมศึกษา การดำเนินกระบวนยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน คณะอนุกรรมการไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน กล่าวถึง ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่น 5 ประการในการดำเนินกระบวนยุติธรรม ที่ควรจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ยุทธศาสตร์แรก รัฐจะต้องมีนโยบายการบริหารงานยุติธรรมแบบบูรณาการในพื้นที่ โดยจะต้องกำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมให้ชัดเจน รวมทั้งต้องมีความต่อเนื่องจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ และต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดปัญหาความขัดแย้งซึ่ต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชน ที่สำคัญ ต้องหาดุลยภาพระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับหลักสิทธิมนุษยชนให้ได้


 


ส่วนยุทธศาสตร์ที่2 รัฐจะต้องเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รัฐจะต้องออกคู่มือสำหรับเจ้าน้าที่โดยเร็วที่สุดด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องจัดทำคู่มือและให้ความรู้ด้านสิทธิของประชาชนเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา หรือเมื่อมีการเชิญตัวไปสอบปากคำ


 


ยุทธศาสตร์ที่ 3 รัฐต้องสลายเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมในสังคมให้ได้ โดยเฉพาะต้องทำให้ผลกระทบจาก พ.ร.ก. การบริหารราชการฯ มีน้อยที่สุด และยกเลิกการใช้ให้เร็วที่สุด รวมทั้งต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการสื่อสาร โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการใช้ภาษามลายูในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น


 


ยุทธศาสตร์ที่ 4 ต้องปรับกระบวนทัศน์ของเจ้าหน้าที่ โดยยึดพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 6 เป็นแนวทางซึ่งระบุว่า


 


"... ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลรัฐปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยม เยือกเย็น มิใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มหรือส่งไปเป็นการลงโทษเพราะเลว... เมื่อจะส่งไปต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติระมัดระวัง...ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่องอบรมกันต่อๆไปในคุณธรรมเหล่านั้นเนืองๆ ใช่แต่คอยให้พลาดพลั้งลงไปแล้วจึงจะลงโทษ..."


 


ส่วนยุทธศาสตร์ประการสุดท้าย คือการส่งเสริมบทบาทของประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรม โดยควรจะต้องมีการกระตุ้นและผลักดันให้มีการจัดตั้ง "หน่วยพิทักษ์ยุติธรรม" ซึ่งจะประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ติดตาม ตรวจสอบและเสนอแนะด้านกระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นอกจากนี้ ต้องหนุนองค์การที่มีอยู่แล้วมาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ด้วย และสนับสนุนให้ทุนทางสังคม เช่น การสอนหลักธรรมทางศาสนา


 


นายสุทธิ สุขยิ่ง นักวิชาการจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่า ยุทธศาตร์ที่นำเสนอเป็นการรองรับปัญหาด้านกระบวนยุติธรรมที่พบในพื้นที่ ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างหลักกฎหมายกับหลักสิทธิมนุษยชน ที่ในประเทศไทยยังไม่มีจุดสมดุล รวมทั้งปัญหาความเคยชินในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่


 


นายสุทธิ ได้ระบุปัญหาด้านกระบวนยุติธรรมในพื้นที่อีกว่า ที่ผ่านมาการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางกฎหมายของไทยมีหลักการดีมาก แต่ปัญหาที่พบกลับอยู่ที่การกระทำของเจ้าหน้าที่ คือไม่ได้ศึกษากฎหมายและปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น และที่สำคัญมากคือเจ้าห้าที่ยังเข้าใจว่ายังสามารถวิสามัญฆาตกรรมได้ ซึ่งความจริงเป็นกฎหมายเก่า เจ้าหน้าที่สามารถยิงผู้ร้ายได้ในการป้องกันตัวเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net