Skip to main content
sharethis








 

 

ประชาไท - 25 ส.ค.48      "ยงยุทธ" ยืนยันกันพื้นที่ต้นน้ำพิเศษไม่ให้จัดตั้งป่าชุมชน ขณะที่กมธ.ให้กระทรวงไปทำการบ้านนำเสนอรายละเอียดพื้นที่ต้นน้ำทั่วประเทศในการประชุมครั้งหน้า เพราะข้อมูลยังไม่ชัดเจน ตอบคำถามประชาชนลำบาก

 



"พื้นที่ต้นน้ำลำธารพิเศษที่ไม่อนุญาตให้ทำป่าชุมชน จะเป็นนิวเคลียสของพื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น   ซึ่งเนื้อที่คร่าวๆ ไม่เกิน 20% ของพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนจำนวนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้กำลังให้เจ้าหน้าที่สำรวจอยู่ และจะไม่มีการใส่ชุดลายพรางหิ้วตัวชาวบ้านออกจากป่าเด็ดขาด จะเน้นการอลุ่มอล่วย และให้ระยะเวลาปรับตัว" นายยงยุทธ ติยะไพรัช  รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน


 


นายยงยุทธระบุว่า ขณะนี้ทางทส.กำลังสำรวจพื้นที่ต้นน้ำลำธารพิเศษนี้อยู่ โดยใช้หลักเกณฑ์เรื่องความลาดชันของพื้นที่สูง การสำรวจการอุ้มน้ำของดิน โดยพื้นที่ป่าดิบเขา 1 ตร.กม. มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้กว่า 900,000 ลบ.ม. พื้นที่ป่าดิบชื้นมีความสามารถอุ้มน้ำได้กว่า 700,000 ลบ.ม. รวมทั้งหลักความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะจุลินทรีย์ 


 


"ที่ผ่านมาพื้นที่ต้นน้ำนั้นครอบคลุมถึงเขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์ป่า ป่าสงวน พอประกาศห้ามไม่ให้ทำป่าชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ จึงเกิดปัญหาหาว่าทางเราหมกเม็ด ถึงต้องทำให้ชัดเจน ต้องกำหนดขอบเขตใหม่โดยใช้ระบบดาวเทียม และการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่เพื่อหาจุดนิวเคลียสที่แท้จริง และต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี" รมว.ทรัพยากรฯ กล่าว


 


นอกจากนี้นายยงยุทธยังกล่าวว่า เรื่องแผนที่ของประเทศไทยก็มีปัญหามากตลอดมา เนื่องจากข้อมูลของหลายหน่วยงานไม่ตรงกัน ดังนั้น ทางทส.ได้มอบหมายให้กรมที่ดินเชิญทุกหน่วยงานมาหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติเรื่องเขตพื้นที่ที่ชัดเจนภายในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ให้เป็นแผนที่ประเทศไทยฉบับเดียวกัน มีสัดส่วน 1 ต่อ 50,000 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ป่าและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าได้ด้วย


 


จากนั้นนายอภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ รองปลัดทส. ได้เสนอที่ประชุมในมาตราว่าด้วยการจัดตั้งป่าชุมชน ให้กระทำได้เฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนพื้นที่ป่าต้นน้ำพิเศษที่มีราว 17 ล้านไร่ หรือ 20% ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด 85 ล้านไร่นั้น จะไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนเพราะอาจกระทบต่อระบบนิเวศน์ได้


 


ส่วนการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ รองปลัดทส.ยังคงเห็นด้วยกับหลักการตามมติที่ประชุมเดิม คือ ต้องเป็นชุมชนที่มีถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ ต้องดูแลรักษาป่ามาไม่น้อยกว่า 5 ปีก่อนวันที่พ.ร.บ.ป่าชุมชนใช้บังคับ และยังดูแลรักษาป่าอย่างต่อเนื่องจนถึงวันขอจัดตั้งป่าชุมชน รวมทั้งมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมแห่งการอยู่อาศัยที่เกื้อกูลต่อการรักษาป่าและระบบนิเวศ 


 


ขณะที่นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร หนึ่งในคณะกรรมาธิ


การฯ กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการของนายอภิวัฒน์ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะต้องบัญญัติเรื่องพื้นที่ต้นน้ำลำธารพิเศษไว้ในพ.ร.บ.ป่าชุมชน เพราะคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานก็สามารถพิจารณาไม่ให้จัดตั้งป่าชุมชนได้อยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เพียงในพื้นที่ป่าต้นน้ำ แต่อาจรวมถึงแรมซาไซด์ หรือพื้นที่มรดกโลกด้วย


 


"ส่วนการเขียนเรื่องพื้นที่ป่าต้นน้ำพิเศษไว้ในกฎหมายนั้นจะกลายเป็นปัญหามากกว่า เพราะต้องอธิบายต่อประชาชนค่อนข้างมาก ขณะที่ข้อมูลของทางกระทรวงก็ยังไม่ชัดเจน และในทางปฏิบัติจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเสร็จทัน 1 ปี ดังนั้นไม่เขียนก็ได้จุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่การเขียนจะเกิดปัญหามากกว่า" นายบัณฑูรกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ถกเถียงในประเด็นนี้กันมาก และในที่สุดนายผ่อง เล่งอี้ ประธานคณะกรรมาธิการ่วมฯ ได้สรุปว่า ให้นายอภิวัฒน์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ของป่าต้นน้ำลำธารพิเศษที่แน่นอน รวมถึงจำนวนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่นั้นมาเสนอที่ประชุมคราวหน้าเพื่อพิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net