Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน ฉบับที่ 2 หยุดพฤติกรรมลุแก่อำนาจ คืนชีวิตและธรรมชาติให้ชุมชน


 


สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 13 มิถุนายน 2548 ที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร ตำบลบ้านกลาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โดยกล่าวหาว่าขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้น ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2548 เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านกลางได้ส่งหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่  11 สิงหาคม 2548 จำนวนทั้งสิ้น 5 คน โดยแบ่งเป็นผู้นำชาวบ้าน 2 คน และที่ปรึกษาอีก 3 คน ประกอบด้วย นายชุมพล คำเบ้า นางละมัย ดวงดารา นายอนุศักดิ์ แก้วนรินทร์ นายอดิศักดิ์ ใจหาญ และนายสิทธิศักดิ์ สมิงทา ในข้อหารวมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำผิด ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด และร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติตามหน้าที่


 


เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความสะเทือนใจต่อชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อกลาวหาที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้แจ้งความต่อชาวบ้านนั้น ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง กล่าวคือพื้นที่ห้วยกลทา บ้านห้วยระหงส์ และบ้านห้วยหวาย ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหมู่บ้านที่ถูกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดงทับที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน ต่อมาปี พ.ศ.2548 สำนักบริหารในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 ได้กำหนดเป็นบ้านห้วยกลทาเป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ความขัดแย้งจากปัญหาดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้รวมตัวเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง กระทั่งวันที่ 26 เมษายน 2548 ชาวบ้านได้ชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ผลการชุมนุมรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ (นายปรีชา เรืองจันทร์) ได้นัดประชุมเจรจาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 ที่สำนักสงฆ์บ้านห้วยระหงส์ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ (นายดิเรก ถึงฝั่ง) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานในวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 จากนั้นคณะทำงานได้ดำเนินการเพื่อตรวจสอบการถือครองการทำประโยชน์ที่ดิน และความเสียหายจากการอพยพราษฎร อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ป่าภูผาแดง ได้เข้าดำเนินการสำรวจรังวัดพื้นที่ และจับกุมข่มขู่ และไม่ให้ความร่วมมือการทำงานตามกลไกที่ตกลงกันไว้ กระทั่งเกิดเหตุการณ์วันที่ 13 มิถุนายน 2548 ที่ชาวบ้านกำลังประชุมเพื่อปรึกษาหารือแผนปฏิบัติงานตามผลการประชุมของคณะทำงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาในที่ประชุม โดยบอกว่าจะเข้ารังวัดพื้นที่ แต่ชาวบ้านเสนอให้รอคณะทำงานที่จะลงพื้นที่ในวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ก่อน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม พร้อมกับบอกชาวบ้านให้รออยู่ที่นี่ จะไปบอกตำรวจมาจับ เนื่องจากขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ กระทั่งช่วงเวลาประมาณบ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจและปลัดอำเภอหล่มสักได้เข้ามาถึงพื้นที่ โดยชาวบ้านได้เสนอข้อเท็จจริงตามที่ตกลงในที่ประชุมคณะทำงาน และเหตุการณ์ได้ยุติไปในวันดังกล่าว


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านได้เดินทางเข้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์อีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงและผลการประชุมคณะทำงาน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประชุมเจรจากับตัวแทนชาวบ้าน


 


ผลการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดได้นัดหมายหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาประชุมในวันที่ 21 มิถุนายน 2548 เพื่อกำชับให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งในการชุมนุมวันนั้นได้ข้อสรุปให้นัดหมายคณะทำงานประชุมในวันที่ 28 มิถุนายน 2548


 


ส่วนกรณีการกำหนดบ้านห้วยกลทา เป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ให้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะทำงานด้วย ซึ่งในส่วนชาวบ้านได้จัดประชาคมกันแล้วมีมติไม่เอาโครงการดังกล่าว พร้อมกับนำเสนอโครงการนำร่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนบ้านห้วยกลทา


 


เมื่อชาวบ้านไม่ยอมรับโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามหว่านล้อมในสารพัดรูปแบบก็ตาม ทำให้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายกับประชาชนในที่สุด ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งใดๆ ก็ได้ และมีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นวิธีคิดและพฤติกรรมของสังคมอำนาจนิยม ในขณะที่สังคมไทยได้เข้าสู่ยุคปฏิรูปการเมือง ตามนัยของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 แล้ว


 


นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหากรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง กล่าวได้ว่ามีการจัดประชุมเจรจา กระทั่งได้ข้อตกลง กลไกการทำงาน และได้ร่วมปฏิบัติตามมติที่ประชุม และมีเจตนาสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดเวลา


 


เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน ในฐานะองค์กรประชาชนที่ประสบปัญหาโดยตรงกับกรณีดังกล่าว ขอเรียนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือนที่ผ่านมา พวกเราพยายามดำเนินการทุกเรื่องทุกประการเพื่อให้เกิดการดำเนินการร่วม ภายใต้หลักการข้อตกลง และมติที่ประชุมร่วมของคณะทำงาน และแนวทางสันติวิธี


 


พร้อมกันนี้ การดำเนินการทั้งปวงเกิดขึ้นจากหลักเหตุผล ที่มีการวิเคราะห์เงื่อนไข ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ที่พวกเราไม่สามารถยอมรับได้ และมีข้อเสนอทางออกที่เป็นไปได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด นั่นคือ โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนบ้านห้วยกลทา แต่ในที่สุด เจ้าหน้าที่กลับใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรมกับพวกเรา


 


ดังนั้น พวกเราจึงขอเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายยงยุทธ ติยะไพรัช) พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวอย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องต่อสื่อสารมวลชน ผู้รักความเป็นธรรมทุกท่านประณามการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนต่อไป


 


เชื่อมั่นในพลังประชาชน


เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net