งานศึกษานโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน-บทสรุปเบื้องต้น

บทความชิ้นนี้วิเคราะห์นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนจากแง่มุมเรื่องสิทธิในที่ดินและทรัพยากรชายฝั่งที่เป็นฐานทรัพยากรสำคัญของเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนประมงพื้นบ้าน ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของประวัติศาสตร์ทุนนิยมไทย เมื่อระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกต่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อการขับเคลื่อนทุนนิยมไทยมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชน เนื่องจากระบบดังกล่าวแปลกแยกและขัดแย้งกับระบบการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นที่เน้นสิทธิการใช้ และสิทธิการจัดการร่วมกันของท้องถิ่น เมื่อชุมชนสูญเสียฐานทรัพยากร และต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ความยากจนจึงแผ่ซ่านไปทั่ว

 

แทนที่รัฐจะหันกลับไปสร้างระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมของท้องถิ่นให้เข้มแข็งขึ้น กลับส่งเสริมให้คนจนรุกเข้าไปในพื้นที่ทรัพยากรสาธารณะทั้งที่อยู่ในความดูแลของรัฐหรือของชุมชนที่ยังเหลือให้เปลี่ยนให้เป็นกรรมสิทธิ์ปัจเจก เพื่อจะได้เป็นทุนสำหรับการประกอบการแข่งขันในเศรษฐกิจการตลาด โดยรัฐหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจประชาชนฐานล่างเติบโต จะทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มทุนเติบโตขึ้นด้วย

 

ตราบจนทุกวันนี้ ชุมชนท้องถิ่นกำลังต่อสู้กับนโยบาย และระบบตลาดด้วยการรักษาทรัพยากรสาธารณะของชุมชนไม่ว่าจะเป็นป่าชุมชน ทรัพยากรชายฝั่ง และการสร้างระบบการผลิตพึ่งตนเอง เช่น เกษตรกรรมยั่งยืน อันทำให้ฐานเศรษฐกิจนอกระบบของชุมชนยังคงดำรงอยู่ด้วยและเกื้อหนุนให้ชุมชนมีพลังต่อรองกับกลไกตลาดได้ระดับหนึ่ง

 

การเติบโตของเศรษฐกิจนอกระบบจากการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นกำลังเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบทุนนิยมที่ต้องการเข้ามาแสวงประโยชน์จากฐานทรัพยากรดังกล่าว นี่จึงเป็นที่มาของนโยบายแปลงทรัพย์เป็นทุน ที่ต้องการแปลงสิทธิท้องถิ่นต่อฐานทรัพยากรที่อยู่นอกระบบตลาดให้เป็นกรรมสิทธิ์ปัจเจกต่อทรัพยากร และสร้างระบบรองรับและสนับสนุน เช่น สถาบันสินเชื่อ และตลาด เป็นต้น ทรัพยากรจึงจะมีฐานะทุนสำหรับหมุนเวียนของเศรษฐกิจในระบบได้ รัฐมองว่าด้วยแนวทางดังกล่าว คนจนจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนจากฐานทรัพยากรของตนเอง และใช้ทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำให้เศรษฐกิจทุนนิยมของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

คำถามสำคัญก็คือ เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่นจะเข้าถึงฐานทรัพยากรและแหล่งทุนจากนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้อย่างไร เพราะประวัติศาสตร์การจัดการทรัพยากรโดยระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกและกลไกตลาด เกษตรกร ชุมชนล้วนถูกกันออกจากการเข้าถึงทรัพยากร ขณะที่กลุ่มทุนกลับผูกขาดทรัพยากรมากขึ้น สัญญาณบางอย่างกำลังจะเริ่มต้นแล้วจากนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ในปี 2547 ที่ผ่านมา ในจำนวนผู้ลงทะเบียนของรับสิทธิ์แปลงสินทรัพย์ มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่ยื่นขอกู้เงิน และมีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ เป้าหมายการให้คนจนส่วนใหญ่เข้าถึงทุนและทรัพยากรกลับห่างไกลความจริงยิ่งนัก

 

แท้ที่จริงเป้าหมายเบื้องลึกของนโยบายดังกล่าวหาใช่เป็นเรื่องให้เกษตรกรมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรอย่างมั่นคง แต่มีเป้าหมายอยู่ที่การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจนอกระบบของประชาชนที่เติบโตอย่างมาก แต่รัฐไม่สามารถควบคุม จัดการเพื่อแสวงประโยชน์ได้ ให้เข้าสู่เศรษฐกิจในระบบโดยใช้เครื่องมือด้านกฎหมาย โดยเฉพาะระบบทรัพย์สินต่อทรัพยากร และเปลี่ยนอัตลักษณ์ของประชาชนแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีนัยเชิงสังคม วัฒนธรรมและการเมืองแบบหนึ่ง ให้กลายเป็น "ผู้ประกอบการ" ภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งการพยายามเปลี่ยนอัตลักษณ์ดังกล่าวกำลังนำมาสู่การเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจใหม่ เพราะเมื่อเป็นผู้ประกอบการ การเป็นหนี้สินไม่ใช่ปัญหาทางนโยบายที่รัฐจะต้องแก้ไข และการเป็นผู้ประกอบการยังเป็นการลดทอนนัยสำคัญหลายแบบ เช่น ลดทอนชุมชนท้องถิ่นให้เป็นปัจเจกชน ลดทอนความหมายของการจัดการทรัพยากรเพื่อความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน ให้เป็นเรื่องสินค้าทางเศรษฐกิจ ความเป็นผู้ประกอบการจึงเหลือแต่เพียงขาดทุน กำไร ที่เกิดจากการพร้อมรับความเสี่ยงจากการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของตนเอง

 

การเปลี่ยนรูปแปลงราก ทั้งแปลงสิทธิทรัพยากรจากสาธารณะและชุมชนสู่ปัจเจก แปลงอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นผู้ประกอบการ แปลงเศรษฐกิจนอกระบบให้เป็นเศรษฐกิจในระบบ จึงสร้างความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อการดำรงอยู่ของชุมชนท้องถิ่น ทั้งความเสี่ยงในด้านระบบนิเวศและฐานทรัพยากรเพื่อยังชีพ เสี่ยงในความล้มเหลวทางเศรษฐกิจจากการสูญเสียฐานทรัพยากรไปสู่กลุ่มทุน และเสี่ยงต่อความสามารถในการพึ่งตนเองโดยไม่ถูกกลไกตลาดครอบงำ

 

นโยบายที่จะสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากร ควรจะเป็นการหวนกลับข้าง โดยเร่งแปลงสิทธิปัจเจกต่อทรัพยากรแบบสุดโต่งให้อยู่ภายใต้การกำกับ จัดการของสิทธิชุมชนในรูปนโยบายและกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายป่าชุมชน นโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน กฎหมายประมงพื้นบ้านให้สิทธิชุมชนประมงดูแลทรัพยากรชายฝั่ง แปลงผู้ประกอบการแบบปัจเจก หรือเป็นสถาบันชุมชนที่จัดการเศรษฐกิจร่วมกัน นโยบายและกฎหมายเหล่านี้มีความเร่งด่วนที่จะต้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างฐานนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมของท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

กระบวนการสร้างสิทธิให้ประชาชน โดยใช้ระบบสิทธิการจัดการร่วมของท้องถิ่น และแปลงให้เป็นทุนทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และนิเวศนั้น เป็นสิ่งที่ต้องมีโครงสร้างทางนโยบาย กฎหมายรองรับ ทั้งการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรตามรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน กฎหมายที่รับรองโฉนดชุมชน กฎหมายการใช้มาตราภาษีอัตราก้าวหน้า นโยบายการวางแผนการใช้ที่ดินโดยประชาชน นโยบายสนับสนุนให้ชุมชนพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่หลากหลาย โดยทั้งนี้ยังจะต้องมีนโยบาย กฎหมาย ควบคุมการผูกขาดการเกษตร ปกป้องเกษตรกรจากระบบการค้าเสรี แทนที่จะให้ชุมชนปะทะกับทุนโลกาภิวัตน์โดยตรง

 

            ชุดข้อเสนอเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการสั่งสมความรู้ของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน  โดยชี้ให้เห็นว่า มีพื้นที่แบบอื่น เศรษฐกิจแบบอื่นที่เป็นไปได้ ไม่ตกอยู่ภายใต้กลไกตลาดที่ผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบ ประชาชนสามารถสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ตนเองมีอำนาจควบคุมได้ แทนที่จะดันเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ ให้คนจนสู้ในเวทีเดียวเงื่อนไขเดียวกับคนรวยโดยที่ตนเองกำหนดชะตากรรมไม่ได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นยิ่งยวดที่จะต้องทบทวนฐานคิด เป้าหมาย และวิธีการของนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก่อนที่จะทำให้ปัญหาความยากจน และความขัดแย้งต่อทรัพยากรรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก โดยจะต้องหันกลับมาเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมของท้องถิ่นเพื่อสร้างทุนทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมของชุมชนร่วมกัน จึงจะทำให้เป้าหมายเพื่อการแก้ไขความยากจนบรรลุผลได้        

 

---------------------------------

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท