นโยบายประชานิยมรัฐบาลพรรคไทยรักไทย: นัยและการท้าทายต่อขบวนการประชาชน

นโยบายประชานิยมรัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีนัยสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม กล่าวในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระดับมหภาค หลักการของนโยบายนี้คือการใช้นโยบายการคลังการเงินเพิ่มอุปสงค์เข้าไปในระบบเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐบาลด้วยการขาดดุลงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนกลุ่มรากหญ้าเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อหรือกระตุ้นการบริโภคเพื่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ดังจะเห็นได้จากโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และโครงการธนาคารประชาชน มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินเพื่อลงทุน เช่นเดียวกับโครงการการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้แก่เกษตรกรรายย่อยมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรนำเงินต้นที่ไม่ต้องชำระเป็นเวลา 3 ปีไปใช้ลงทุนเพิ่มเติม ขณะที่โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ทำหน้าที่เป็นช่องทางหนึ่งในการรองรับการลงทุนจากโครงการต่างๆ ข้างต้น ส่วนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคแม้ทำหน้าที่ลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเบื้องแรก แต่ก็เป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ประชาชนในเวลาเดียวกัน

 

อย่างไรก็ดี แม้การประเมินผลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่าการดำเนินนโยบายประชานิยมในช่วงปีแรกประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทว่านอกจากประสบการณ์ประเทศละตินอเมริกาซึ่งอาศัยนโยบายประชานิยมแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สู้จะสอดคล้องกับผลการประเมินดังกล่าว การสังเคราะห์เอกสารและการศึกษาภาคสนามพบว่านโยบายประชานิยมนิยมมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะประชาชนที่เข้าร่วมโครงการไม่เพียงแต่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในจำนวนและสัดส่วนที่สูงกว่ารายได้ รวมทั้งมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลง หากแต่ยังมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ฯ มียอดภาระหนี้เพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดโครงการ นอกจากนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการประชานิยมจำนวนน้อยมากที่ลงทุนในกิจการใหม่หรือขยายกิจการ โดยเฉพาะโครงการกองทุนหมู่บ้านฯ สมาชิกจำนวนมากไม่ได้กู้เงินไปลงทุนในกิจกรรมการผลิตตามแสดงความจำนง หากแต่นำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ และอาศัยการหมุนหนี้หรือไม่จ่ายเมื่อครบกำหนดชำระคืน ส่งผลให้กองทุนหมู่บ้านฯ จำนวนหนึ่งไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ ขณะที่กองทุนหมู่บ้านฯ ที่ดูเหมือนบริหารจัดการประสบความสำเร็จอาจไม่ได้หมายถึงความสำเร็จในการลงทุนหรือในการประกอบอาชีพของสมาชิก 

 

ทั้งนี้ การที่โครงการประชานิยมสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนระดับรากหญ้าได้ค่อนข้างจำกัดอาจไม่ได้เกิดจากข้อจำกัดของตัวโครงการ เท่าๆ กับเกิดจากการที่โครงการเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของคนยากจนหรือแก้ปัญหาความยากจนตั้งแต่ต้น โครงการประชานิยมเพียงแต่ต้องการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนระดับรากหญ้า หรือเปลี่ยนประชาชนระดับรากหญ้าให้กลายเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการของทุนขนาดต่างๆ ทว่าไม่ใช่เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบการผลิต ขยายพลังการผลิต หรือเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองของประชาชนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการประชานิยมไม่ได้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือสร้างทางเลือกใหม่ต่อระบบเศรษฐกิจทุนนิยมล้าหลังในสังคมไทยซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาความยากจน หากแต่ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจทุนนิยมดังกล่าวให้มีความเข้มแข็งและซึมลึกยิ่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ปัญหาความยากจนในสังคมไทยทวีความซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น

 

เพราะเหตุนี้ นอกจากในเชิงหลักการ ระเบียบกฎเกณฑ์และแนวทางการดำเนินโครงการประชานิยมจึงกีดกันคนจนจากการเข้าร่วมระดับหนึ่ง อาทิ ระเบียบกองทุนหมู่บ้านฯ อิงหลักการสถาบันการเงินพาณิชย์ค่อนข้างมาก ส่งผลให้คนยากจนสามารถเข้าถึงได้ค่อนข้างยาก โครงการธนาคารประชาชนเน้นให้เงินกู้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นลูกค้ารายเดิมซึ่งมีรายได้แน่นอนเพื่อลดความเสี่ยงหนี้สูญ ส่งผลให้จำนวนครัวเรือนยากจนที่ได้กู้เงินจากโครงการธนาคารประชาชนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.5 ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด ขณะที่โครงการพักชำระหนี้ฯ มีคนยากจนเข้าร่วมน้อย เพราะโครงการจำกัดเฉพาะสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการเป็นสมาชิกกีดกันคนยากจนระดับหนึ่ง โดยเฉพาะโครงการหนึ่งตำบลฯ มีคนยากจนเข้าร่วมน้อยมาก เพราะโครงการสนับสนุนวิสาหกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหลัก อีกทั้งยังมัก "ต่อยอด" วิสาหกิจหรืออุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว มากกว่าจะพัฒนาวิสาหกิจหรืออุตสาหกรรมรายใหม่ ฉะนั้น การที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเลือกที่จะใช้และหมายความคำว่า "ประชาชนระดับรากหญ้า" ว่าไม่ใช่คนยากจน จึงยิ่งช่วยให้โครงการประชานิยมสามารถกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิกเฉยต่อปัญหาความยากจนและคนจนในสังคมไทยได้แนบเนียนยิ่งขึ้น

 

นอกจากไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โครงการประชานิยมจัดเป็นยุทธวิธีทางการเมืองของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบใหม่ จากการเมืองระบอบประชาธิปไตยหรือการเมืองซึ่งเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐ เป็นการเมืองซึ่งเป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับประชาชนในลักษณะพ่อปกครองลูก เพราะนอกจากไม่เชื่อถือศรัทธา ผู้นำรัฐบาลพรรคไทยรักไทยมักเห็นว่าสถาบันประชาธิปไตยอื่นๆ ไร้ค่าและเป็นอันตรายต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนของตน ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.. 2540 วางเงื่อนไขให้เกิดระบบการเมืองน้อยพรรคและเสริมสร้างอำนาจนายกรัฐมนตรีให้มีความเข้มแข็งเด็ดขาดยิ่งขึ้น พร้อมกับไม่สร้างเงื่อนไขให้ตลาดการเมืองมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ เป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประการที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจในทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้นำรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในฐานะ "พ่อขุนอุปถัมภ์" รายใหญ่อาจกลายเป็นเผด็จการในที่สุด

 

ทั้งนี้ ยุทธวิธีทางการเมืองเช่นนโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมประชาหรือขบวนการประชาชนอย่างยิ่ง เพราะปิดกั้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะปัญญาชนและชนชั้นกลางไม่ให้มีบทบาท เพราะเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการ "ขายตรง" นโยบายประชานิยมต่อคนยากจน ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้นำรัฐบาลพรรคไทยรักไทยรวมทั้งลิ่วล้อมักตอบโต้การท้วงติงและวิพากษ์วิจารณ์ของปัญญาชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชนบางส่วนอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันก็ปรามการชุมนุมประท้วงและการเดินขบวนด้วยข้ออ้างว่าเพื่อให้การเมืองนิ่ง การจำเริญทางเศรษฐกิจจะได้ไม่ชะงัก จำกัดผู้มีส่วนร่วมในการอภิปรายทางการเมืองและการกำหนดนโยบายไว้เฉพาะผู้ได้รับการเลือกตั้งโดยระบบรัฐสภา ส่งผลให้ภาคการเมืองขยายใหญ่ขึ้น ขณะที่ภาคสังคม ประชาชน และกลุ่ม องค์กรต่างๆ เล็กลง

 

ประการสำคัญ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเพิกเฉยต่อขบวนการประชาชนหรือขบวนการสิทธิชุมชนที่มุ่งปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการจัดการทรัพยากรส่วนรวมในสังคมไทย ซึ่งดำเนินกิจกรรมในลักษณะและระดับต่างๆ มาเป็นเวลากว่าทศวรรษ เพราะขบวนการดังกล่าวเสนอชุดความสัมพันธ์ทางอำนาจ ระบอบกรรมสิทธิ์ แบบแผนการจัดการทรัพยากร รวมทั้งระบบคุณค่า ซึ่งแตกต่างจากนโยบายประชานิยมอย่างสิ้นเชิง เพราะขณะที่ในแง่การเมือง นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีแต่รัฐพัฒนาการกับปัจเจกบุคคล ขบวนการสิทธิชุมชนเหนือทรัพยากรเสนอ "หน่วยพื้นฐานทางการเมืองแบบที่สาม" ซึ่งเป็นจุดสังเคราะห์ระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับปัจเจกบุคคล เช่นเดียวกับในแง่เศรษฐกิจ นโยบายประชานิยมรัฐบาลพรรคไทยรักไทยสมาทานระบบเศรษฐกิจทุนนิยม โดยเฉพาะนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนและการจัดระเบียบเศรษฐกิจใต้ดินทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย เป็นการพัฒนาทุนนิยมไทยให้ลึกลงอีกด้วยการบูรณาการเศรษฐกิจชาวนาและเศรษฐกิจมืดเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการ โดยขณะที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจำกัดเฉพาะระบอบกรรมสิทธิ์รัฐและปัจเจกบุคคล ขบวนการสิทธิชุมชนเหนือทรัพยากรเสนอระบอบกรรมสิทธิ์และแบบแผนการจัดการทรัพยากรที่ไม่ใช่ทั้งของรัฐและปัจเจกบุคคล แต่เป็นระบอบกรรมสิทธิ์ร่วมเหนือทรัพยากรส่วนรวมซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ดูแลรักษามีสิทธิใช้ประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 

 

เพราะเหตุนี้ นโยบายประชานิยมรัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงท้าทายขบวนการประชาชนไทยเป็นอย่างยิ่งว่าจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการเคลื่อนไหวอย่างไร การชุมนุม การเดินขบวนประท้วง หรือการเคลื่อนไหวเรียกร้องในลักษณะการเมืองบนท้องถนนอาจไม่ใช่ยุทธวิธีที่เหมาะสมสำหรับสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกทำให้มีความนิยมในรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ ดังกล่าว แม้จะแผ่วลงบ้างในระยะหลังก็ตาม ขณะเดียวกันข้อเสนอสำคัญของขบวนการประชาชน เช่น สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร อาจฟังแปร่งหูท่ามกลางปัญหารายวันของประเทศที่ดูจะรุนแรงกว่า เช่น ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาราคาน้ำมัน การเผชิญหน้าสภาวการณ์เหล่านี้ด้วยปัญญาและสติร่วมกันบนความสัมพันธ์แบบเสมอหน้าเป็นเงื่อนไขแรกๆ ที่ขบวนการประชาชนไทยควรคำนึง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท