Skip to main content
sharethis







 

 

 

 

 

นายกรัฐมนตรีเตรียมนัดพบ ส.ส. 3 จังหวัดใต้แนะข้อมูลดับไฟใต้ "อภิสิทธิ์"ยันส่ง ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนใต้พร้อม 3 ส.ส.บัญชีรายชื่อคุยนายกฯ ส.ว.ให้เวลานายกฯ 60 วันประเมินผล พ.ร.ก.ฉุกเฉินดับไฟใต้


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพบปะสื่อมวลชน ในรายการ "นายกฯ ทักษิณ พบสื่อมวลชน" เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ว่า จะนัดหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง หลังจากที่เคยเลื่อนนัดมาแล้ว เพราะเมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 สิงหาคม 2548 ได้พบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือ



ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคฯได้หารือกันในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่และพร้อมจะให้ข้อมูล เสนอแนะต่อรัฐบาล โดยจะส่งไปพบนายกรัฐมนตรี พร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่ออีก 3 คน ได้แก่ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองหัวหน้าพรรค นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค และนายพีระยศ ราฮิมมูรา ส่วนรูปแบบและวิธีการได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคเตรียมการ ขณะนี้รอให้รัฐบาลติดต่อมาเท่านั้น



นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะรอฟังก่อนว่านายกรัฐมนตรีจะพูดคุยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่อย่างไร และต้องดูการทำงานของรัฐบาลเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะในเวทีต่างๆ ซึ่งรัฐบาลขานรับแต่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง เช่น ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ อย่างไรก็ตาม พรรคฯต้องติดตามและประเมินการทำงานของรัฐบาลต่อไป



พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เป็นคนมุสลิม จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นคุณสมบัติธรรมดา และเป็นการแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้มีการกีดกัน หรือแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา



พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ยังไม่ขอให้ความเห็นถึงข้อเสนอของ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ให้ตั้งคณะกรรมการยุติธรรมประสานงานระดับชาติ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะขอพิจารณาในรายละเอียดก่อน เพราะเกรงอาจจะเกิดความสับสน



พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวอีกว่า ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นห่วงเรื่องการรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ การเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ความคืบหน้าการดำเนินคดีและคุณภาพคดี ขณะนี้มีการดำเนินการดีขึ้น เป็นมืออาชีพมากขึ้น



พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวต่อว่า ได้หารือเรื่องการรวบรวมหลักฐานกับแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยในวันที่ 27 สิงหาคม 2548 แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ จะส่งทีมงานลงไปในพื้นที่ ซึ่งจะมีทั้งของนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย


สงขลานครินทร์ และกองทัพภาค 4 และตนจะเข้าไปดูแลการทำงานให้เป็นแบบบูรณาการ



วันเดียวกันคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้ประชุมพิจารณาผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมจากการออกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 โดยมี นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒสภา(ส.ว.) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 และเลขาธิการประธานศาลฎีกามาร่วมชี้แจง แต่ปรากฏว่าผู้ที่ จะมาชี้แจงติดราชการไม่สามารถมาได้ตามคำเชิญ



นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวก่อนการประชุมว่า ระยะเวลาและการปฏิบัติจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ เมื่อถึงเวลานั้นหวังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะกล้าหาญพอที่จะยกเลิกพระราชกำหนด แล้วหันมาใช้กฎหมายที่ผ่านกระบวนกฎหมายมากกว่า



นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวต่อว่า ในทางปฏิบัติคงทำอะไรไม่ได้พระราชกำหนดฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา เพียงแต่พิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น สำหรับความเห็นของวุฒิสภาคือการส่งสัญญาณให้นายกฯ ทราบว่าความคิดเห็นของวุฒิสภา อย่าไปดูที่จำนวนคะแนนเสียง แต่ขอให้ดูที่เนื้อหาว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าภายใต้ระบบการใช้อำนาจแบบนี้ มีเสียงน้อยมากที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงต่อนายกฯ แต่ในรัฐสภาเชื่อว่านายกฯ จะสามารถรับฟังได้ จึงคิดว่านายกฯ คงไม่ต้องใช้เวลามากนักในการประเมินผลการใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ คิดว่าประมาณ 30-60 วันก็คงจะทราบผล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net