Skip to main content
sharethis








 

 

 

ผศ.ดร.วสันต์  จอมภักดี  อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม(คอปส.)

 


ประชาไท : อยากให้ช่วยวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เชียงใหม่?


 


ผศ.ดร.วสันต์ : สาเหตุแรกก็เพราะว่ามีฝนตกหนักในพื้นที่ต่างๆ เป็นบริเวณกว้าง  ทางตอนเหนือของเชียงใหม่ ได้แก่ เชียงดาว แม่แตง แม่ริม ทำให้น้ำไหลลงมาพร้อมๆกันทำให้เกิดน้ำท่วม ปริมาณน้ำฝนจากตัวเลขของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เชียงดาววัดได้ 200 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าฝนตกหนัก ถ้าวัดความเร็วของน้ำที่ไหลปกติที่เชียงใหม่วัดได้ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น 700-800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดเป็น 2 เท่าของการไหลของน้ำปิง


สาเหตุที่สอง  ก็เนื่องมาจากน้ำไหลเข้าสู่เชียงใหม่ได้เร็วผิดปกติ คือ ทางไหลของน้ำซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงมากนัก ใน 2 ปีที่ผ่านมา  มีโครงการขุดลอกลำน้ำต่างๆมากทั้งสายเล็กสายใหญ่ เช่นลำน้ำแม่สา อ.แม่ริม รวมทั้งแม่น้ำปิงก็มีการขุดทั้งในด้านลึกและทางด้านกว้าง และยังอยู่ในขั้นดำเนินการ หากพิจารณาตอนนี้  ก็คือ  เป็นสาเหตุหนึ่งไม่ได้ถูกชะลอไว้ ไม่ถูกกีดขวางน้ำก็ไหลได้สะดวก ทำให้น้ำท่วมเชียงใหม่แบบรับไม่ทัน เกินความคาดหมาย


อีกสาเหตุหนึ่ง  ก็เนื่องมาจากการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว  ซึ่งมีผลต่อการบุกรุกป่า เพราะฉะนั้น  ต้องมีการควบคุมการใช้ที่ดินอย่างเข้มงวด นี่คือมาตรการ  ถ้าไม่ทำก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้  วิธีเดียวที่จะต้องทำคือการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ ตั้งแต่ป่าชั้นบนลงมาจนถึงป่าชั้นล่างที่เป็นป่าใช้สอย ป่าชั้นบนต้องเป็นป่าสมบูรณ์ที่สุดส่วนป่าชั้นล่างเป็นป่าใช้สอย ป่าชุมชน แต่จะต้องอยู่ภายใต้การอนุรักษ์ดินและน้ำ   ที่ผ่านมาเราปล่อยปะละเลย


นอกจากนั้น  พื้นที่ชั้นล่างซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มเหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัย   ควรจะกันไว้เป็นที่ชุ่มน้ำแหล่งน้ำธรรมชาตินอกจากมีแม่น้ำ ลำธาร แล้วยังต้องมีหนองน้ำ จะต้องฟื้นฟูกลับคืนมารวมถึงพื้นที่เรือกสวนไร่นาต่างๆ  ซึ่งจะช่วยรองรับน้ำฝนเก็บน้ำไว้ทั้งบนผิวดินและใต้ผิวดิน


ประชาไท : แต่ในขณะนี้ในที่ราบลุ่ม  พื้นที่ชุ่มน้ำเริ่มหายไป


ผศ.ดร.วสันต์ : ใช่  ตอนนี้หนองน้ำต่างๆ  เราถูกบุกรุกยก ตัวอย่างพื้นที่เมืองสมุทร ในเขต อ.เมือง เชียงใหม่  เมื่อก่อนถือว่าเป็นที่ชุ่มน้ำในเชียงใหม่ ตอนนี้กลายเป็นตึกแถวหมดแล้ว ในเชียงใหม่ไม่มีพื้นที่ชุ่มน้ำ รองรับน้ำอีกต่อไปแล้ว ถ้าเรานำเอาภูมิปัญญาของการสร้างเมืองเชียงใหม่ มันจะมีที่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นประจำ ซึ่งเป็นปกติที่ออกแบบไว้เพื่อรองรับน้ำ


จุดที่สำคัญที่สุด  ที่จะต้องชี้ให้คนทุกคนเข้าใจว่า  น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ต้องยอมรับ ฤดูหนาวก็ต้องหนาว ฤดูฝนก็ต้องมีน้ำมาก น้ำไม่ใช่ศัตรูไม่เป็นพิษเป็นภัย น้ำเคยมีที่อยู่ของเขามาก่อน เป็นหนองน้ำ น้ำใต้ดิน ลำห้วย ลำธาร ในป่าเป็นที่อยู่ของน้ำ ที่อยู่ของคนก็สร้างที่อยู่ของคน แต่ในตอนหลัง  คนเราไม่ได้ศึกษา  อยากทำอะไรก็ทำอยากทำอะไรก็สร้าง การถมที่ การรุกราน  แล้วน้ำจะไปอยู่ไหน


ถ้าเราเอาน้ำท่วมจากที่นี่ออกไป  มันก็จะไปท่วมพื้นที่อื่น เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีที่ให้อยู่ แต่ที่ที่เคยอยู่เราเข้าไปรุกราน เราคงไม่สามารถกล่าว ได้ว่าป้องกันไม่ให้น้ำท่วมซึ่งเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นจะทำให้เป็นทะเลทรายให้หมดทำให้แห้งแล้ง


ปัญหาการรุกล้ำที่ดินริมตลิ่งแม่น้ำปิงก็มีส่วนใช่หรือไม่?


มีส่วนสำคัญทีเดียว  เพราะว่า สาเหตุที่ทำให้ทางน้ำทางธรรมชาติโดยเฉพาะแม่น้ำปิงเกิดความเสียหายนั้น  ก็เพราะว่ามีการรุกล้ำ ถมดิน หรือการยึดพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ชายตลิ่ง ชายหาด โดยปกติจะถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แต่ปัจจุบันมีการรุกพื้นที่เหล่านี้หมด  มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโดยการถมให้สูงขึ้นไม่ให้น้ำท่วมได้ ที่อยู่ของคนเพิ่มขึ้น  แต่ที่อยู่ของน้ำจะแคบลง  ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น


ที่ผ่านมา  มีการยึดครองพื้นที่ริมแม่น้ำนำไปสู่การบุกรุก ทำเป็นสถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม รีสอร์ทต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในเมืองเชียงใหม่ แต่จริงๆ  แล้วจะมีตลอดสายน้ำปิงตั้งแต่เชียงดาวจนถึงดอยเต่า  รวมระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร  ซึ่งตกอยู่ในสภาพเดียวกันเพียง  แต่ยังไม่เป็นข่าว 








ซึ่งหากเรามองย้อนกลับไป  จะเห็นว่าคนในอดีต  สามารถอยู่ร่วมกันกับน้ำได้และไม่ได้สร้างผลกระทบต่อแม่น้ำ แต่สมัยนี้มีการออกไปกว้านซื้อที่ดิน ถ้าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าก็จะทำการยึดครองซื้อขายกัน เกิดความขัดแย้งกัน  ซึ่งคนในท้องถิ่นทราบดีว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ส่วนของแม่น้ำ แต่มีบุคลภายนอกเข้ามายึดครองจึงเกิดความขัดแย้งกันและมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาข่มขู่คนในพื้นที่ก็มี


ในทางกฎหมาย  ไม่สามารถเอาผิดเลยหรือ?


ในประเด็นทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1304 ระบุไว้ว่า  ที่ดินใดที่เกิดที่งอกเจ้าของที่มีกรรมสิทธิ์ในที่นั้น คนก็เลยไปทึกทักเป็นที่งอกหมด ซึ่งการงอกแบบนี้ ก่อให้เกิดกลุ่มผู้มีอิทธิพลได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ  ทำการยึดเอาแม่น้ำที่ตื้นเขินมาเป็นพื้นที่งอก  


อย่างไรก็ตาม  มีมาตรา 1308   ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า  ทางน้ำเดิมที่ตื้นเขินนั้นถือว่า เป็นสาธารณสมบัติหรือที่สาธารณะของแผ่นดิน แต่กฎหมายมาตรานี้กลับไม่ได้มีการหยิบยกถูกนำมาใช้   อาจจะเป็นเพราะการเห็นแก่ตัวของคนกลุ่มนั้น   เมื่อมีสิทธิก็เข้าไปก่อสร้างสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการไหลของน้ำและระบบนิเวศของน้ำ


ดังนั้นชาวเชียงใหม่  ทั้งภาคราชการและประชาชน จะต้องออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายเรื่องที่งอก เพราะว่ามันนำมาซึ่งปัญหามากกว่าผลดี   ซึ่งก่อนหน้านั้น  ก็เคยนำปัญหาประเด็นนี้เสนอไปที่กระทรวงที่รับผิดชอบ  แต่สุดท้าย  ก็เงียบหายไปไม่ได้รับพิจารณา


มองอย่างไร  กับมาตรการของรัฐ ในการจัดการเรื่องน้ำ?


มาตรการที่รัฐจะเข้ามาช่วย  คือ  สิ่งก่อสร้างที่มีงบประมาณแพงๆ  แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริงหรอก   มิหนำซ้ำ  อาจจะกลายเป็นปัญหามากยิ่งกว่าเดิม  ซึ่งน่าจะมีบทเรียนมามากพอแล้ว  และในอนาคต  อาจจะต้องใช้งบประมาณอีกหลายพันล้านเข้ามาแก้ไขทีหลัง  ตัวอย่างจากหลายๆโครงการที่รัฐบาลเป็นคนทำ  ต่างคนต่างรีบเร่งทำ  ต่างคนต่างรีบเสนอโครงการ พอมีปัญหาเกิดขึ้น  แทนที่จะประสานงานกัน  แต่กลับรีบแย่งกันเสนอโครงการ โดยไม่ได้จัดลำดับความสำคัญ  ว่าอันไหนควรไม่ควร  มีความคุ้มค่าหรือไม่


มีความเห็นอย่างไรกับการที่รัฐจะสร้างกำแพงกั้นริมตลิ่งแม่น้ำปิง?


 


มีบทเรียนตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ ที่เคยสร้างกำแพงกั้นขึ้นมาจนเกิดปัญหาผลกระทบ  จนต้องรื้อทิ้ง  เพราะว่า โครงการสร้างเขื่อนกั้นริมตลิ่งให้สูงขึ้นนั้น  จะทำให้แม่น้ำก็จะกลายเป็นคลองแคบๆ ลำน้ำแคบๆ มีกำแพงสูงๆ สองข้าง ซึ่งต่อไปจะไม่เป็นแม่น้ำ  แต่จะเรียกว่า รางน้ำ  และจะกลายเป็นสิ่งอัปลักษณ์ในแม่น้ำคู่เมืองเชียงใหม่ไปตลอด


 


แล้วทางออกที่อาจารย์คิดว่าเหมาะที่สุดสำหรับพื้นที่เมืองเชียงใหม่? 


 


ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหาได้  เช่น การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเป็นระยะๆ หรือการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำกักเก็บน้ำ  อาจจะทำการระบายน้ำเป็นชลประทานขนาดเล็ก เป็นคลองส่งน้ำ สองข้างแม่น้ำปิงตอนบน  ในรูปแบบของแก้มลิง  เหมือนคลองส่งน้ำจากชลประทานแม่แตง  มายังตัว อ.เมือง  หางดง  สันป่าตอง ก็สามารถทำได้ในระยะยาว และคุ้มค่ากว่า


 


หรือการที่จะสร้างกำแพงกั้นน้ำต้องสำรวจว่าพื้นที่แม่น้ำดั้งเดิมจริงๆ  อยู่ที่ไหน  เพราะบางครั้งการเกิดอุทกภัยไม่ได้เกิดจากน้ำล้นน้ำตลิ่ง  แต่เกิดจากน้ำระบายลงไม่ทัน อย่างเช่นน้ำท่วมเชิงดอยสุเทพทั้งที่อยู่บนที่สูง  ขณะเดียวกันน้ำในแม่น้ำปิงยังแห้งอยู่   แต่น้ำท่วมที่สูงซึ่งเกิดจากน้ำระบายลงไม่ได้ กำแพงที่จะสร้างมันจะนำมาซึ่งจะทำให้กั้นแม่น้ำลงสู่แม่น้ำปิงหรือไม่ในอนาคต 


 


นี่เป็นคำถามที่รัฐบาลจะตอบให้ได้ เพราะมันไม่ได้จบแค่การสร้างกำแพง  ดังนั้น  การจะสร้างอะไร  ต้องมองให้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อนที่จะสร้าง  แล้วใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ไม่ใช่ว่าจะลงทุนไปก่อนเท่านี้  แต่ผลที่ออกมายังทำอะไรไม่ได้ มีน้ำท่วมขังเหมือนเดิม ต้องมีการสร้างขึ้นใหม่อีก ในที่สุด  ก็ต้องจ่ายแพงแต่ชาวบ้านเดือดร้อนเหมือนเดิม ตนไม่ได้ขวาง คือบางครั้งจำต้องใช้สิ่งก่อสร้าง แต่ไม่อยากให้มีสิ่ง


ก่อสร้างเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีความชัดเจน ขาดความรอบคอบและก่อให้เกิดผลเสียหายผลกระทบ มันก็จะมีสิ่งอัปลักษณ์อยู่ริมแม่น้ำ


 


ช่วยยกตัวอย่างถึงการดูแลรักษาแม่น้ำของต่างประเทศที่เคยทำกำแพง ทำพนังกั้นสองฝั่งแม่น้ำจนล้มเหลว  ก่อนจะหันกลับมารื้อเพื่อคืนสู่สภาพเดิม?


 


ยกตัวอย่างในเรื่อง  การดูแลรักษาแม่น้ำในต่างประเทศที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน  เช่น  แม่น้ำนูกิ(Nuki  river) แม่น้ำฮาโตะ (Hattoh  river) ประเทศญี่ปุ่นว่า  ก่อนนั้นได้มีการสร้างพนังคอนกรีตป้องกันตลิ่งไว้ทั้งสองฝั่ง  ลำน้ำถูกขุดแต่งให้ตรง  และขุดลอกเอาทราย กรวดหินออกไปจากท้องน้ำทั้งหมด ต่อมาจึงรู้ว่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก  จึงได้หวนกลับมาปรับปรุงฟื้นฟูสภาพลำน้ำ  โดยได้มีการรื้อพนังคอน


กรีตออก  และมีการปลูกพืชริมน้ำได้และลำน้ำได้ถูกปรับแต่งให้กลับไปมีความคดเคี้ยวตามธรรมชาติเหมือนเดิม 


 


ซึ่งหลังการปรับปรุงผ่านไป  2 ปี  มีพืชพรรณไม้ริมน้ำประจำถิ่นเกิดขึ้น  มีการนำก้อนหินมาใส่ไว้ในลำน้ำตามเดิม  เพื่อชะลอและควบคุมอัตราการไหลของน้ำ  ทำให้เกิดแอ่งลึกและแอ่งตื้นตามสภาพธรรมชาติ  ซึ่งนับเป็นการปรับปรุงฟื้นฟูคุณภาพน้ำ  โดยวิธีธรรมชาติที่เหมาะสมและประหยัดอย่างยิ่ง  ทั้งเป็นการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่แม่น้ำ


 


รวมทั้งแม่น้ำสเจอร์น (Skjern  river)  ประเทศเดนมาร์ก  ซึ่งในปี พ.ศ.2503  ได้มีการขุดเปลี่ยนสภาพลำน้ำให้เป็นแนวตรง  มีการทำพนังและดาดด้วยคอนกรีตทั้งสองข้าง  เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว  แต่จากการศึกษาวิจัยติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่องพบว่า  โครงการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์เดิมของแม่น้ำอย่างรุนแรง  สัตว์น้ำ สัตว์บก นกและแมลงหลายชนิดได้สูญหายไปจากแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มน้ำ  บริเวณพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำ  กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งมากขึ้น  และมีระดับน้ำใต้ดินลดต่ำลงกว่าเดิมอย่างมาก


 


ทว่าปัจจุบัน  รัฐบาลเดนมาร์ก ได้ล้มโครงการขุดเปลี่ยน สร้างพนังกั้นริมตลิ่ง  และได้ลงทุนรื้อแนวลำน้ำที่ตรงและดาดคอนกรีตออกทั้งหมด  และมีการขุดปรับแต่งแม่น้ำให้มีความคดเคี้ยวเหมือนเดิม  รวมทั้งได้มีการขุดหนอง  บึง  เพื่อทำเป็นพื้นที่ชุมน้ำ  มีการกำหนดให้มีบริเวณพื้นที่น้ำท่วมถึงได้ตามฤดูกาล  และมีการฟื้นฟูถิ่นอาศัยให้แก่ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ  ตลอดจนพืชพรรณไม้ริมน้ำนานาชนิด  เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศธรรมชาติของแม่น้ำให้กลับคืนมาเหมือนเดิม


 


นอกจากนั้น รัฐบาลเดนมาร์ก  ยังได้ออกกฎหมายให้กับพื้นที่เป็นเขตไหล่แม่น้ำไว้ข้างละไม่ต่ำกว่า  2  เมตร  มีการห้ามไม่ให้ทำการบุกรุกในพื้นที่ดังกล่าวตลอดลำน้ำ จัดให้มีหน่วยงานท้องถิ่นที่ทำการดูแลรักษาลำน้ำและชายตลิ่งอย่างต่อเนื่อง  พร้อมกำหนดวิธีการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมไว้ให้ปฏิบัติอีกด้วย


 


พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกมาพูดว่า  ปัญหาเร่งด่วน  บางครั้งไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ?


 


ไม่ต้องทำ อีไอเอ ก็ได้  เพราะว่าเรามีข้อมูลอยู่แล้ว  แต่ที่สำคัญก็คือ  จะต้องลงมาดู  มาศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนว่าสาเหตุหลักจริงๆ  แล้ว  มันมีอะไรบ้าง  ต้องเอาความจริงมาพูดกันให้ชัดเจน  ให้ทุกหน่วยงานมาตกลงกัน  ให้เป็นวาระของท้องถิ่น  สรุปและหาข้อยุติหาทางออกร่วมกัน เพียงแต่ว่าในขณะนี้  มีสัญญาณที่บ่งบอกว่า มือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครมีความใกล้ชิดกว่า  มีเสียงมากกว่า  ได้งบประมาณมาทำ  และสุดท้ายก็ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด


เป็นการนำสถานการณ์น้ำท่วม  มาเป็นประเด็นในการแย่งชิงโครงการ  แย่งชิงงบประมาณกันใช่ไหม ?


ใช่  สถานการณ์ในช่วงนี้  ถือว่าเป็นการชิงธง  คือการแย่งชิงทุกกระทรวงล้วนเหมือนกับเสือหิว  เป็นการมองเฉพาะสาขาของตนเองซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้  เพราะจะแก้ไขปัญหาทางด้านวิศวกรรมอย่างเดียวไม่ได้  เราต้องมองทางด้านระบบนิเวศ  สังคม วัฒนธรรม ไม่อย่างนั้นจะออกมา  มีแต่สิ่งที่ไม่มีคุณค่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net