ความกลวงของนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

ผลการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าประสบความสำเร็จข้างต้น ถูกนำไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยรักไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยย้ำว่าโครงการฯ สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล นอกเหนือจากเป็นการสร้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ให้คนในชนบท พร้อมกับเน้นย้ำว่า รัฐบาลใหม่จะสานต่อโครงการนี้ต่อไป โดยนายกรัฐมนตรี (ทักษิณ ชินวัตร) กล่าวด้วยตัวเองว่า จะเนรมิตให้สินค้าโอทอปทำรายได้ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงจากการศึกษา พบว่า ภายใต้ความสำเร็จที่รัฐบาลกล่าวอ้างนั้น ยังมีคำถามอยู่มากโดยเฉพาะในประเด็นผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของโครงการ การกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงตัวเลขรายได้จากการจำหน่ายสินค้า

 

งานวิจัยนี้ได้สำรวจองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งพบว่า มีงานเขียน การศึกษาวิจัย ทัศนะและความคิดเห็นต่อการดำเนินการโครงการจากแหล่งสำคัญ 3 แหล่งคือ การศึกษาโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง รวมทั้งการจ้างวานสถานบันการศึกษาและนักวิชาการเพื่อดำเนินการศึกษา งานศึกษาส่วนใหญ่มักมีลักษณะของการศึกษาผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการพัฒนาโครงการฯ ในมิติต่างๆ และการสำรวจทัศนคติ ความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งดำเนินการอย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พรมแดนความรู้จึงอยู่ในเรื่องความคิดเห็น ความพึงพอใจของประชาชน รัฐบาลอ้างความสำเร็จของโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยงานวิจัยที่มีฐานมาจากความคิดเห็น ความพึงพอ อย่างไรก็ดี การวิพากษ์วิจารณ์โครงการฯ กลับไม่มีงานศึกษาที่เป็นเรื่องเป็นราว แต่มักเป็นความรู้ในระดับความเห็น เป็นความรู้เฉพาะที่ เฉพาะจุด พรมแดนความรู้ในเรื่องโอทอปที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงยังมีลักษณะที่แคบมาก

 

การศึกษาครั้งนี้จึงพยายามที่จะขยายการศึกษาในมิติของการพิจารณาผลสำเร็จ ล้มเหลว หรือผลสะเทือนที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ โดยได้สำรวจเพื่อให้เห็นภาพในด้านการก่อเกิดรูปแบบลักษณะของเจ้าของผลิตภัณฑ์ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการและผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ฯลฯ ซึ่งเป็นการศึกษาโดยใช้แบบสำรวจผลิตภัณฑ์จำนวน 164 แห่ง ในจังหวัดทั้ง 4 ภาค

 

สินค้าโอทอปสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ กลุ่มองค์กรชาวบ้านที่อาจเรียกว่า "กลุ่มแท้" กล่าวคือ มีการจัดตั้งกลุ่มที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ก็พบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นและมีการจัดตั้งที่เข้มแข็งมาก่อนการมีนโยบายหนึ่งตำบลฯ มีบางส่วนเท่านั้นที่เกิดขึ้นภายหลังโครงการฯ กลุ่มที่มีความเข้มแข็งอยู่จำนวนหนึ่งได้รับการร้องขอให้เข้าร่วมโครงการ โดยไม่ได้มีการสนับสนุนที่จริงจัง ดังเช่น สหกรณ์โคนม ฯลฯ

 

ประเภทที่สองคือ "กลุ่มเทียม" ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขนโยบายของรัฐ และความต้องการรับการสนับสนุนจากรัฐ กล่าวคือ เดิมเคยเป็นกิจการส่วนตัว เมื่อจดทะเบียนหรือได้รับการส่งเสริมให้เป็นกลุ่มจึงยังคงมีลักษณะเป็นกิจการส่วนตัว เพียงแต่มีการจดทะเบียนเป็นกลุ่มตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยให้ลูกจ้างเป็นสมาชิกกลุ่ม และมีโครงสร้างแบบกลุ่ม ซึ่งพบว่า ในบัญชีสินค้าโอทอปของหน่วยงานราชการระดับจังหวัด อำเภอ จะมี 2 บัญชีคือ SMEs และกลุ่มสินค้าชุมชน แต่ในกลุ่มสินค้าชุมชนนี้มักมีลักษณะเป็น "กลุ่มเทียม" ราวร้อยละ 30 - 40 แต่ถูกนับรวมเป็นสินค้าชุมชน

 

กลุ่มที่สามคือ สินค้าโอทอปที่เป็นธุรกิจส่วนบุคคล หรือ SMEs ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการต้องการเพื่อหาช่องทางในการประชาสัมพันธ์ หรือโอกาสในการเผยแพร่หรือขายสินค้าสินค้า ในลักษณะที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือลดต้นทุนด้านการโฆษณา

 

สินค้าเหล่านี้ราวร้อยละ 83 เกิดได้มีการก่อตั้งมาก่อนในช่วงโครงการฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มสินค้า SMEs ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นกลุ่มหลักที่รัฐให้การส่งเสริมแทนกลุ่มสินค้าชุมชน ส่วนกลุ่มสินค้าชุมชน มีลักษณะเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเดิมที่เคยมีกิจกรรมและล้มลุกคลุกคลานมาเป็นระยะๆ จากการศึกษาโดยการสำรวจพบว่า กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาในช่วงหลังปี 2540 ซึ่งจากการศึกษาแบบเจาะลึกได้ช่วยให้ภาพว่า เกิดจากการสนับสนุนโดยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มต่างๆ ที่เคยล้มหายตายจาก หรือไม่มีกิจกรรมฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

ด้านสมาชิกของกลุ่ม จากการศึกษาพบว่า สมาชิกเฉลี่ยก่อนมีโครงการฯ คือ 26 คน เปรียบเทียบกับหลังการดำเนินการโครงการ สมาชิกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 48 คน สมาชิกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าชุมชน (ซึ่งรวมกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์) ในสัดส่วนที่สูงกว่า SMEs ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในช่วงต่ำกว่า 10 คนลงมา

 

ด้านยอดขายสินค้า พบว่า ยอดขายเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างในช่วงก่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เท่ากับ 1,911,985 บาท/กลุ่ม/ปี และเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 2,310,521 บาท/กลุ่ม/ปี (ดูตาราง) หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20.83 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สำรวจทั้งหมด 164 กลุ่ม จำนวนร้อยละ 50.6 ระบุว่า ยอดการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นภายหลังมีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

 

เมื่อจำแนกยอดจำหน่ายเฉลี่ยตามประเภทเจ้าของผลิตภัณฑ์ พบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยกลุ่มชาวบ้านมียอดจำหน่ายเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มอื่น คือ 421,013.48 บาท/กลุ่ม/ปี ในขณะที่ กลุ่ม SMEs และ SMEs ที่จดทะเบียนเป็นกลุ่มมียอดจำหน่ายเฉลี่ย 2,723,652.17 บาท/กลุ่ม/ปี และ 869,621.62 บาท/กลุ่ม/ปี ตามลำดับ ส่วนกลุ่มสหกรณ์ฯ มียอดจำหน่ายเฉลี่ย 27,660,000.00 บาท/กลุ่ม/ปี

 

ในส่วนของกลุ่มเกษตรกร พบว่า มียอดจำหน่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยกลุ่มชาวบ้านมียอดจำหน่ายเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มอื่น ในขณะที่ กลุ่ม SMEs และ SMEs ที่จดทะเบียนเป็นกลุ่มมียอดจำหน่ายเฉลี่ยสูงขึ้น 2,723,652.17 บาท/กลุ่ม/ปี และ 869,621.62 บาท/กลุ่ม/ปี ตามลำดับ ส่วนกลุ่มสหกรณ์ฯ มียอดจำหน่ายลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากการลงนามในสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศออสเตรเลีย ดังกรณีสหกรณ์โคนมบ้านบึง สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไวน์และสุราพื้นบ้านมียอดการจำหน่ายลดลงอย่างมาก เนื่องจากสินค้าไม่ได้รับความนิยม

 

นอกจากนี้ พบว่า ผลจากการดำเนินโครงการฯ ทำให้ตลาดขยายตัวในทุกๆ ด้าน กล่าวคือ ตลาดต่างประเทศขยายตัวจากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 12.2 เป็นร้อยละ 23.2 หรือเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนเกือบหนึ่งเท่าตัว ขณะที่ตลาดในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 25.6 เป็นร้อยละ 42.7

 

จากการศึกษาทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ มีประเด็นถกเถียงกับผลการดำเนินงานและการวัดความสำเร็จของรัฐบาลและพรรคไทยรักไทยในประเด็นที่สำคัญต่อไปนี้

           

1.ประเด็น "มายาคติของยอดขายสินค้า"

 

ในเรื่องยอดขายที่รัฐบาลอ้างถึงการเพิ่มขึ้นยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนก่อนเริ่มนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ระหว่างเดือนมกราคม - ธันวาคม พ.. 2544 มีจำนวน 216 ล้านบาท ภายหลังการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แล้วปรากฏว่ามียอดจำหน่ายระหว่างเดือนมกราคม - ธันวาคม พ.. 2545 รวม 23,987 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 219.94 ของประมาณการรายได้ปี พ.. 2545 รวมทั้งการโฆษณาตัวเลขมูลค่าของยอดขายในปี 2547 ว่า มีจำนวนสูงถึง 45,000 ล้านบาทต่อปี ในการรณรงค์เลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 และการจัดงาน "มหกรรมจากรากแก้วสู่รากหญ้า"

 

ผลจากการศึกษาครั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 83 (จากจำนวนกลุ่มที่สำรวจ 164 กลุ่ม) ได้มีการก่อตั้งมาก่อนในช่วงโครงการโอทอป แต่ในด้านการรวบรวมตัวเลขไม่ได้แยกแยะว่า มูลค่าที่เดิมเกิดขึ้น ข้อมูลเชิงคุณภาพซึ่งเป็นการเลือกเจาะจงสินค้าระดับห้าดาวของจังหวัดชลบุรีก็พบว่าล้วนแล้วแต่ก่อตั้งมาก่อนโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีศึกษาอีก 11 แห่งในอำเภอแห่งหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดี ยอดขายสินค้าโอทอปได้เพิ่มขึ้นในภายหลังการดำเนินการโครงการจริง แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนี้มีข้อสังเกตบางประการคือ ประการแรก เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากในสินค้า SMEs และ SMEs ที่มีการจดทะเบียนเป็นรูปแบบกลุ่มซ้อนขึ้นมา ส่วนสินค้าชุมชนที่มีกลุ่มเป็นเจ้าของมียอดขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือในสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องจักรสานและหัตกรรมพื้นบ้าน ซึ่งการจัดตลาดสินค้าโอทอปทำให้สินค้าเหล่านี้สามารถระบายออกมาได้

 

มูลค่าด้านตลาดที่ขยายเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมของโครงการฯ จึงเป็นการเพิ่มขึ้นจากการจัดมหกรรมสินค้าโอทอปในกรุงเทพมหานคร (เมืองทองธานี) และในระดับจังหวัด อำเภอ หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ดังนั้น ผลตอบแทนที่ได้ (ซึ่งไม่มีการคำนวณออกมา) จะต้องหักออกจากงบประมาณ ทรัพยากรต่างๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ระดมกันเข้ามาในโครงการ แต่ที่เป็นอยู่รัฐบาลมักอ้างถึงค่าใช้จ่ายของโครงการตามแผนงานที่ตั้งไว้เท่านั้น ซึ่งเป็นพรมแดนความรู้ที่ยังคลุมเครืออยู่มากว่า ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการมีต้นทุนเท่าใด มีผลประโยชน์ที่แท้จริงเมื่อหักต้นทุนซึ่งหน่วยงานราชการต่างๆ ได้จ่ายไปแล้วเท่าใด

 

2. ด้านผู้รับประโยชน์จากโครงการฯ

 

ดังที่กล่าวแล้วว่า โครงการฯ ได้สร้างประโยชน์ในบางระดับ คำถามถัดมาจึงอยู่ที่ว่า แล้วใครกันที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ รัฐบาลและพรรคไทยรักไทยโฆษณาว่า ชุมชน 36,000 ชุมชนได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่คือ SMEs ดังนั้น ผู้ได้รับประโยชน์หลักจึงเป็นผู้ประกอบการ ส่วนชาวบ้านเข้ามารับประโยชน์ในรูปแบบของแรงงานรับจ้าง เมื่อพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างของ SMEs ส่วนใหญ่มีจำนวน ต่ำกว่า 10 คนลงมา (ราวร้อยละ 46 ของ SMEs ทั้งหมดที่สำรวจ) ดังนั้น ฐานของผู้รับประโยชน์จึงมีลักษณะแคบ

 

ขณะที่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นเจ้าของโดยกลุ่มชุมชนซึ่งเคยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ที่ได้รับประโยชน์หรือประสบความสำเร็จการดำเนินธุรกิจในด้านยอดขายจากการเป็นสินค้าโอทอป มักเป็นกลุ่มที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณจำนวนมากเข้าไปสนับสนุน โดยหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานเกษตรฯ อุตสาหกรรม ฯลฯ ดังกรณีที่พบในหลายกรณี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้าแล้ว การส่งเสริมดังกล่าวนี้จึงเป็นการลงทุนที่ไม่มีการคิดต้นทุน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มีลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปจะไม่สามารถเลียนแบบ หรืออาศัยประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จที่เกิดขึ้นไปใช้ในการประกอบธุรกิจของกลุ่มได้

 

3. ด้านประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ

 

จากการศึกษา พบว่า การดำเนินโครงการได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน คือ การเพิ่มยอดขายสินค้าซึ่งเกิดจากการจัดมหกรรมสินค้าต่างๆ ที่หน่วยงานราชการจัดขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดในรูปแบบอื่นๆ สินค้าโอทอปสามารถขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้จริง นอกจากนี้ มีประโยชน์ที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นภายใต้การส่งเสริมของโครงการ คือ การอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ

 

แต่ในหลายกรณีการบรรจุภัณฑ์ก็สร้างปัญหาให้กับกลุ่ม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่สามารถหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมได้ หรือเป็นสินค้าที่ต้องโชว์รูปลักษณ์ของตัวเอง (ดังเช่น กรณีครกหินอ่างศิลา และกรณีหัตถกรรมผักตบชวา เป็นต้น) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในประเด็นมีผลต่อคะแนนในกระบวนการคัดสรรสุดยอดสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ผลิตต้องจัดให้มี ซึ่งในระยะยาวหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดให้สินค้าที่เข้ารับการคัดสรรต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องทำ (สินค้าที่สามารถเข้ารับการคัดสรรต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช.) ซึ่งมีผลให้สินค้าชุดที่จะส่งเข้ารับการคัดสรรมีคุณภาพสูงขึ้น

 

4. ด้านการเชื่อมโยงระหว่างโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ กับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าอื่นๆ

 

ฐานคิดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้า ก็คือ "การลดภาระ สร้างโอกาสด้านเงินทุนและการผลิต และมีตลาดรองรับ" โดยที่โครงการพักชำระหนี้ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และโครงการเอื้ออาทรต่างๆ เป็นการลดภาระให้คนจน ส่วนโครงการกองทุนหมู่บ้าน และโครงการเงินกู้เอื้ออาทรอื่นๆ เป็นการ "สร้างโอกาส" แก่ชาวบ้าน เพื่อให้มีทุนในการผลิต ต่อเมื่อผลิตสินค้าแล้วรัฐบาลก็มีโครงการรองรับด้านตลาด ซึ่งหมายถึง โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

 

จากการศึกษา พบว่า ด้านการเชื่อมโยงของโครงการอื่น ๆ จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่เข้ามาเกี่ยว

ข้องกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มองค์กรชุมชนต่าง ๆ เกิดขึ้นน้อยมากหรือแทบจะไม่มีการเกี่ยวข้องกันเลย เพราะสมาชิกส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะเป็นลูกจ้างให้แก่ผู้ประ

กอบการ จากการศึกษาแบบเจาะลึกในกรณีศึกษาสินค้าสุดยอดระดับห้าดาว ก็ไม่พบว่า มีชาวบ้านกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านมาลงทุนผลิตสินค้าโอทอป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท