ชี้ทางออกประชานิยมกลวง "หยุดนโยบายไม่เป็นธรรม-เสริมการมีส่วนร่วมชุมชน"

ประชาไท—27  ส.ค. 48  กมธ.ภาคประชาชน สรุปปัญหานโยบายประชานิยมในการปิดประชุมวันนี้  รวมตัวเปิดความกลวงและความไม่เพียงพอของนโยบายประชานิยม  พร้อมแถลงข้อเสนอ 5 ประการต่อรัฐบาล

 

วานนี้(26 ส.ค.) กรรมาธิการภาคประชาชนตรวจสอบนโยบายความยากจนและสังคม ได้ปิดการประชุมครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ  "นโยบายประชานิยมกับการแก้ปัญหาความยากจน" ที่ คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย  ต่อจากเมื่อวานนี้

 

ดร.ประภาส  ปิ่นตบแต่ง  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้วิจัยนโยบายประชานิยม  กล่าวว่า  "นโยบายประชานิยมสะท้อนความก้าวหน้าของคนยากคนจน  เพราะพรรคการเมืองได้หยิบยกปัญหาของคนจนมาเป็นนโยบาย  แต่ก็ยังมีปัญหาด้านฐานคิดของนโยบาย  โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการที่จะทำให้คนจนหมดไปภายใน 6 ปี ที่ใช้ตัวชี้วัดประชากรว่าหากมีรายได้ต่อหัวปีละ 20,000 บาท/ปี ก็ผ่านเส้นความยากจนแล้ว ซึ่งเท่ากับประชาชนมีเงินซื้อข้าวกินมื้อละ 18 บาทก็ผ่านเกณฑ์แล้ว  ถ้าใช้ตัวชี้วัดเช่นนี้คงสำเร็จตามที่ประกาศไว้"

 

นอกจากนี้  ดร.ประภาส เห็นว่า นโยบายประชานิยมลดทอนปัญหาความยากจน  โดยมองว่าความจนเกิดจากความบกพร่องของคน  เห็นได้จากรัฐบาลพยายามโฆษณาให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย  ให้รู้จักจัดการกับชีวิต  ซึ่งเท่ากับเป็นการลดทอนปัญหาเกษตรกรให้เหลือเพียงว่าการคนจนเพราะขาดทุนการผลิต  ก็ต้องจัดเงินให้กู้ยืม  แต่ในที่นี้ต้องการชี้ว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากส่วนนั้น

 

"ปัญหาของนโยบายประชานิยม คือ  มายาคติของเกณฑ์การชี้วัดความสำเร็จ  ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะหลวมๆ กลวงๆ   เป็นมายาคติในการสร้างความสำเร็จ  หากว่าแท้จริงแล้วสมัชชาคนจนต้องการอำนาจและโอกาส  แต่ประชานิยมมาตอบปัญหาด้วยการสงเคราะห์  เป็นการปกปิดปัญหาที่แท้จริง  ทำให้ปัญหาเชิงนโยบายที่จะต้องออกกฎหมายลูกไม่มีความคืบหน้า  เท่ากับว่ามือหนึ่งแจกมือหนึ่งเขกหัวและแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชน"  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แสดงทัศนะ

 

ทั้งนี้  ประชานิยมยังมุ่งเป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการเมือง  เนื่องจากอยากได้มวลชน  โดยสังกัดระบบอุปถัมภ์ใหม่ผ่านกลไกของพรรคการเมือง  ทั้ง นี้ยังเป็นการสร้างชาตินิยม  ที่มักยกสิ่งที่ "สุดยอด"  หรือ "เป็นหนึ่ง"  และในที่สุดรัฐบาลก็ระดมว่ารัฐบาลเป็นผู้นำชาตินี้ไปโดยปริยาย จากการใช้ภาษาผ่านนโยบายประชานิยมตลอดเวลา 

 

ขณะเดียวกัน  ดร.ประภาส  มองว่า  นโยบายดังกล่าวเป็นเหมือนนิทานประชานิยม  ที่สร้างเรื่องใหม่อยู่ตลอดเวลา  เป็นการคิดนิทานใหม่ๆ แต่จะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนหรือไม่นั้นกลับเป็นเรื่องรอง  นิทานจึงเป็นเพียงการทำงานทางการเมืองเพื่อสร้างความนิยมเท่านั้น

 

ด้าน อ.สมชาย  ปรีชาศิลปกุล  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ตัวแทนคณะกรรมาธิการฯ  ได้สรุปผลการประชุมและเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาความยากจนแก่  รัฐบาล  โดยเห็นว่า  รัฐบาลต้องมีความจริงใจมากกว่านี้  โดยไม่ควรมีวาระซ่อนเร้น  จำเป็นต้องปรับฐานความคิดการมองปัญหาความยาก จนว่า แท้จริงแล้วมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ภายใต้สังคมที่ไม่เป็นธรรม โดยสรุปประเด็นดังนี้

 

อ.สมชาย กล่าวว่า  "ประการแรก  รัฐบาลต้องรับรองสิทธิมนุษยชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  ทั้ง ดิน น้ำ ป่า  อย่างเป็นธรรม  เช่น  พ.ร.บ.ป่าชุมชน  การกระจายการถือครองที่ดิน  เป็นต้น"

 

ประการที่สอง  นโยบายรัฐต้องพัฒนากระบวนการตัดสินใจ  ในนโยบายใดๆ รวมถึงการก่อสร้างโครงการพัฒนาของรัฐ ที่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เช่น โครงการสร้างเขื่อน  บ้านเอื้ออาทร  โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมองค์กรอิสระ  เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน  เพื่อให้เป็นหลักประกันของชาวบ้าน

 

"สำหรับ ประการที่สาม  นโยบายการสร้างสวัสดิการสังคมต้องให้มีความเป็นธรรม  ต้องมีมาตรการทางภาษีที่ก้าวหน้าจึงจะทำให้นโยบายมีคุณภาพได้  ส่วนประการที่สี่  ปัญหาคนยากจนที่เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐจำเป็นต้องเร่งแก้ไข  โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  ไม่ใช่เพียงตั้งคณะกรรมการเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น"  อ.สมชาย กล่าว

 

ขณะที่  ข้อเสนอประการสุดท้าย คือ นโยบายและโครงการต่างๆ ของรัฐที่สร้างปัญหาให้กับคนจน  รัฐบาลต้องยกเลิกโดยทันที  เช่น  โครงการหมู่บ้านป่าไม้  โครงการชลประทานระบบท่อ  นโยบายการค้าเสรี  พ.ร.บ.เศรษฐกิจพิเศษ  เป็นต้น 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท