Skip to main content
sharethis

อุดรธานี- 29 ส.ค.48         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 09.00 น.ราษฎรในเขตพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดร ชุมนุมกันที่หน้าที่ว่าการกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กว่า 350 คนเพื่อทวงถามเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี นายฮง  บำรุงภัคดี กำนันตำบลนาม่วงและนายสมัย  ภูวิไล กำนันตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคมซึ่งถูกร้องเรียนจากกลุ่มชาว บ้านทั้ง 2 พื้นที่ว่า วางตัวไม่เป็นกลาง สนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตช


 


เนื่องจากทั้ง 2 ตำบลเป็นพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิกโปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(เอพีพีซี) ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นขออนุญาตประทานบัตรเพื่อดำเนินการทำเหมือง แต่กำนันทั้งสองได้ร่วมลงชื่อในหนังสือที่ยื่นต่อนายสุชน


ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อเร่งรัดให้มีโครงการเหมืองแร่โปแตซ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งกำชับให้ผู้นำในพื้นที่วางตัวเป็นกลาง ไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะนำความแตกแยกมาสู่ชุมชน


 


ทั้งนี้ผลการพิจารณา พบว่า มีมูลความผิด แต่ขอให้โอกาสทั้งสองคนแก้ตัวใหม่  โดยมีการทำบันทึกความตกลงระหว่างฝ่ายกำนันและชาวบ้านว่า หากกำนันทั้งสองไปปรากฏแสดงตัวสนับ สนุนโครงการเหมืองแร่โปแตชอีก  หรือหากมีการตรวจสอบพบว่ากำนันทั้งสองมีส่วนในการสนับ สนุนกิจกรรมของบริษัทเจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตช โดยที่ไม่มีคำสั่งจาก ปลัดผู้เป็นหัวหน้ากิ่ง  หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยให้กำนันทั้งสองลาออกจากตำแหน่งเอง 


 


ต่อจากนั้นเวลา 13.00 น.กลุ่มชาวบ้านได้ตั้งขบวนรณรงค์ไปทั่วพื้นที่กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม  โดยมีกลุ่มชาวบ้านมาสมทบอีกจากหลายหมู่บ้านรวมประมาณ 500 คนเพื่อแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกถึงชาวอุดรธานีให้กับผู้ที่สนใจ


 


จดหมายดังกล่าวระบุว่า บริษัทเอพีพีซีเจ้าของโครงการเหมืองโปแตช แจ้งว่า ได้นำเจ้าหน้าที่รังวัดปักหมุดเขตที่จะตั้งโรงงานแต่งและแยกแร่  ในที่ซึ่งบริษัทอ้างว่า เป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของบริษัทที่ซื้อจากราษฎรโดยถูกต้องตามกฎหมาย เป็นพื้นที่ประมาณ 1,200 ไร่ ในบริเวณ "โคกหนองดินแดง" หรือ "โคกหนองนาตาล" ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างบ้านหนองไผ่  บ้านหนองหว้า ต.หนองนาคำ บ้านหนองนาเจริญ  บ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่  อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งอยู่ในเขตที่สาธารณะประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ "โคกหนองดินแดง" มีเนื้อที่ 12,941 ไร่   ซึ่งรัฐหวงห้ามไว้ให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน


 


และเมื่อสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านใกล้เคียงยืนยันตรงกันว่า "โคกหนองดินแดง" หรือ "โคกหนองนาตาล" เป็นที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงวัว เลี้ยงควายและหาอยู่หากินร่วมกันหลายหมู่บ้านมานาน จึงได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายชาวบ้านตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า จุดที่จะตั้งโรงงานแต่งแร่ของเหมืองแร่โปแตช  ซ้อนทับกับที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองดินแดง  อีกยังระบุว่าเหตุที่บริษัทเลือกโคกนี้ตั้งโรงงาน ก็เนื่องจากบริษัทจะสูบน้ำจากหนองนาตาลมาใช้ ขณะนี้บริษัทได้ทำหนังสือขอซื้อน้ำประปาจากสำนักงานประปา จ. อุดรธานีแล้ว 


 


จากการขุดแร่โปแตชจะได้เกลือกว่า 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเอาขึ้นมากองไว้บนโนน กองเกลือจะใหญ่เท่าสนามฟุตบอลสูง 40 เมตร กองอยู่บนจุดที่สูงที่สุด เมื่อเทียบกับบริเวณโดยรอบจะเป็นเหตุทำให้น้ำเกลือไหลลงลงไปในร่องน้ำ ทางทิศเหนือซึ่งจะไหลลงห้วยน้ำเค็ม ห้วยกะต้า  ห้วยหิน ห้วยแสง  ห้วยวังแสง ผ่านนาข้าว แหล่งน้ำดื่ม แหล่งน้ำประปาของหมู่บ้านต่าง ๆ สู่ห้วยสามพาด และไหลลงหนองหานกุมภวาปี ที่บ้านเชียงแหว อ.กุมภวาปี แล้ว ลมจะพัดฝุ่นเกลือจากกองภูเขาเกลือที่ไม่มีหลังคาคลุม มาจับหลังคาสังกะสีบ้าน  ฝนจะชะน้ำเกลือลงแหล่งน้ำ  ด้านทิศตะวันตกคือหนองนาตาล  ซึ่งมีร่องน้ำที่ไหลสู่ห้วยนาคอง  บ้านโคกนาคอง และยังมีห้วยขโมย  ที่จะไหลผ่านนาข้าว  ทุ่งเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย  ไหลไปรวมกับห้วยเจ้าหัว  แล้วไหลลงสู่ห้วยซวงรวง (ห้วยเซียงรวง) ซึ่งชาวบ้านหนองแหลม  บ้านธาตุโพธิ์ทอง บ้านโก่ย  บ้านหนองนาคำ ฯลฯ ใช้เป็นน้ำดิบทำน้ำประปา ก่อนจะไหลลงสู่ห้วยหลวงซึ่งลุ่มกว่ามาก  โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเรียกร้องให้มีตรวจสอบเขตเหมืองแร่บนผิวดิน ซึ่งรุกที่สาธารณะประโยชน์ "โคกหนองดินแดง"  ที่ผู้ใดจะครอบ ครองถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์มิได้


 


นางจันทา  สัตยาวัน อายุ  58  ปี  ชาวบ้านหนองหาเจริญ  ต.หนองไผ่ กล่าวว่า ตนเกิดเติบโต  ทำไร่ทำนาในพื้นที่มาตลอด เพราะมีที่นาอยู่ติดกับเขตที่บริษัทจะตั้งโรงงานแต่งแร่ทางทิศตะวันออก ยืนยันว่าชาวบ้านละแวกนี้ต่างก็รู้กันว่าพื้นที่ "โคกหนองดินแดง" เป็นที่สาธารณะประโยชน์ เดิมเป็นป่าโคกที่อยู่ล้อมรอบหนองน้ำใหญ่คือ หนองนาตาล ชาวบ้านจึงมักเรียกที่แถบนี้ว่าโคกนาตาล  บ้างก็เรียกว่าทุ่งนาตาล ซึ่งเป็นที่เลี้ยงสัตว์หาอยู่หากินมาช้านานของบ้านแถบนี้หลายหมู่บ้าน เพราะเป็นที่ดินแปลงใหญ่ที่เป็นป่าโคก  ทุ่งหญ้าสลับกัน  และหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์  และเขตที่บริษัทระบุขอบเขตโรงงานนั้นตนยืนยันว่าเป็นแนวที่ทับที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองดินแดง หรือโคกหนองนาตาลอย่างแน่นอนนางจันทากล่าว


 


นายถาวร  มะโนศิลป์ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกล่าวว่า  เอพีพีซีได้แจ้งในที่ประชุมคณะทำงานศึกษาผลกระทบและประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ว่า จะนำเจ้าหน้าที่รังวัดปักหมุดเขตพื้นที่เหมืองแร่โปแตชในระดับความลึกไม่เกิน 100  เมตรเร็วๆ นี้  ซึ่งบริษัทอ้างว่า เป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของบริษัทที่ซื้อจากราษฎรโดยถูกต้องตามกฎหมายในเนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ 


 


แต่จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ดังกล่าวซ้อนทับกับ "โคกหนองดินแดง" ซึ่งมีเอกสารของกรมที่ดินระบุว่าเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ประเภทที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งรัฐหวงห้ามไว้ให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ระบุเนื้อที่ 12,941 ไร่ และเมื่อสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ต่างยืนยันตรงกัน


 


นายถาวร กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อความชัดเจนเรื่องนี้ชาวบ้านจึงได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายชาวบ้านอันประ กอบด้วยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านต่าง ๆ  ตรวจดูจุดที่จะปักหมุดเขตเหมืองแร่โปแตชในระดับความลึกไม่เกิน 100  เมตรของบริษัทเอพีพีซีซึ่งจะใช้เป็นโรงงานแต่งแร่  และพบว่าที่สาธารณะประโยชน์ "โคกหนองดินแดง"    ซ้อนทับกับจุดที่จะตั้งโรงงานแต่งแร่อยู่หลายตำแหน่ง ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ฯ จะได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี   กรมที่ดิน  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าพื้นที่เหมืองแร่โปแตช ในระดับความลึกไม่เกิน 100  เมตร  ที่บริษัทเอพีพีซี  แจ้งว่าจะทำการรังวัดปักหมุดนั้นรุกที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองดินแดงจริงหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net