Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2548 ที่โรงแรม บี.พี.สมิหลา บีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง"การแสวงหาแนวทาง ในการนำเสนอข่าวสารเพื่อสร้างความสมานฉันท์" เพื่อนำหลักการ เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา การมีส่วนร่วม สร้างความสมานฉันท์ ความเป็นธรรมและขจัดเงื่อนไขทั้งปวง ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และระดับประเทศ ตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายรักษาความมั่นคงของรัฐ มีพล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน มีผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 50 คน



พล.ท.สุรพล กล่าวในการประชุมว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อเดือนมกราคม 2547 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างระดมทรัพยากรและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งคือการจัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อชี้แจงนโยบาย แนวทาง มาตรการแก้ปัญหา ขอความร่วมมือ ตลอดจนระดมความคิดเห็นและการขอข้อเท็จจริงจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่



พล.ท.สุรพล กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ การสื่อสารต่อสาธารณชน เพื่อรายงานข้อเท็จจริงและความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาครัฐถูกมองว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานสื่อสารต่อสาธารณชน มักเป็นฝ่ายไล่ตามกลุ่มผู้ก่อการ ในขณะที่สื่อถูกมองว่า เน้นนำเสนอภาพความรุนแรงในพื้นที่ หลายเวทีประชุมจึงเน้นขอความร่วมมือ ให้สื่อลดการนำเสนอข่าวสารที่สะท้อนภาพความรุนแรง สร้างความแตกแยก สร้างสังคมที่นิยมบริโภคข่าวที่รุนแรง



พล.ท.สุรพล กล่าวต่อว่า หลายคนมีประสบการณ์จากเวทีลักษณะนี้มาแล้ว และตั้งคำถามมาว่า แล้วสื่อจะสื่อสารอะไรให้ประชาชน เมื่อข่าวมีแต่ความรุนแรง ข่าวสารด้านบวกจะดึงดูดความสนใจได้หรือไม่ หลายคนมีภารกิจต้องประชาสัมพันธ์เผยแพร่เรื่องราวที่ดี แต่หลายครั้งก็ต้องพบคำวิจารณ์ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นข่าวที่ไม่น่าสนใจ เป็นข่าวที่เหมือนการโฆษณาชวนเชื่อของภาครัฐ



พล.ท.สุรพล กล่าวต่อว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติเห็นว่า การประชาสัมพันธ์หรือการสื่อสารต่อสาธารณ
ชนเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนกลยุทธ์นี้ และเงื่อนไขสำคัญ ที่ท้าทายงานสื่อสารต่อสาธารณะ งานทำความเข้าใจกับประชาชน งานสร้างความสมานฉันท์ในสังคมของเราคือ การสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องราวดีๆ ที่สร้างความสมานฉันท์นี่เอง โดยไม่ต้องไปโทษสื่อเพียงฝ่ายเดียวว่า เลือกขยายผลแต่ข่าวที่รุนแรง



พล.ท.สุรพล กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้สื่อต่างๆ จะร่วมกันแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์ ในการนำเสนอข่าวสารเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ข่าวสารที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ ความรู้สึกที่ดีระหว่างคนในชาติ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ท้าท้าย เพราะการแสวงหาข่าวสารด้านบวก ข่าวที่สร้างความรู้สึกที่ดีๆ ในสถานการณ์เช่นทุกวันนี้อาจมีข้อจำกัด แต่การนำเสนอเรื่องราวดีๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นที่น่าสนใจของกลุ่มเป้าหมายอาจทำได้ยากยิ่งกว่า



ในช่วงบ่ายได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยมีข้อเสนอแนะว่าให้จัดอบรมนักจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับการดำเนินรายการเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ เช่นเดียวกับนักข่าวหนังสือพิม ซึ่งขณะนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ทำโครงการสื่อสันติภาพแล้วโดยการตั้งโต๊ะข่าวในพื้นที่ภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net