Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประชาไท/พนมเปญ - ชี้ผลพวงจากโครงการต่างๆเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงสร้างความสูญเสียอย่างมากต่อคนที่อาศัยอยู่ตอนล่างของแม่น้ำนับล้านคน ทั้งอาจส่งผลให้ตนเลสาป หรือ ทะเลสาปเขมรแหล่งโปรตีนหลักของชาวกัมพูชากลายเป็นเพียงแอ่งน้ำธรรมดาที่ไม่สามารถให้ความมั่นคงด้านอาหารได้อีกต่อไป


 


ดร.คาร์ล มิดเดิลตัน คณะทำงานปฎิบัติการด้านการประมง ( Fisheries Action Coalition Team- Fact) จากกัมพูชา ซึ่งศึกษาเรื่องวิถีชีวิตของชาวประมงในตนเลสาปกล่าวว่า ในนามของการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ปลาที่เคยมีอยู่จำนวนกว่า 1,500 สายพันธุ์กำลังเสี่ยงกับการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสร้างเขื่อนที่จะทำให้วิถีชีวิตของปลาและวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่บริเวณแอ่งแม่น้ำโขงต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย


 


ทั้งนี้ เป็นการกล่าวในการนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง Imaging our Mekong จัดโดย Inter Press Service (IPS) เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมาโดยการนำเสนอในประเด็น Fisheries: Lives and Livelihood in Cambodia Downstream โดยนำเสนอจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในแอ่งลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่อาศัยของคนคนประมาณ 73 ล้านคน 90% เป็นเกษตรกรที่ได้รับโปรตีนประมาณ 80% ที่มาจากปลาจากแม่น้ำโขง ที่มีการจับปลาได้ปีละประมาณ 3 ล้านตัน และมีค่าทางการตลาดประมาณ 1,400 ล้านบาท


 


โดยในส่วนของตนเลสาปนั้นทางองค์กร UNESCO ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ตั้งแต่ปี 1997 โดยมีประชากรอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นประมาณ 1.1 ล้านคน ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในแอ่งแม่น้ำโขงในกัมพูชาประมาณ 4.4 ล้านคน โดยการบริโภคโปรตีนของคนในกัมพูชา 40-70%ได้มาจากปลาในตนเลสาป


 


ดร.มิดเดิลตันกล่าวว่า ตอนนี้มีการแข่งขันกันใช้แม่น้ำโขงในการเป็นแหล่งทรัพยากรด้านต่างๆกันมา และการจัดการกับแม่น้ำโขงในขณะนี้ก็กำลังทำร้ายปลาในแม่น้ำโขงไปด้วยโดยในการพัฒนานั้นได้กระทบกับวิถีชีวิตของปลา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และการเปลี่ยนวิธีการจับปลาด้วยเครื่องที่ทำให้จับปลาได้ทีละมากๆ


 


 ปัจจุบันมีเขื่อนอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างถึง 12 เขื่อน และมีอีกประมาณกว่าร้อยแห่งที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เช่น เซกอง เซซาน และ สเรปก และในแม่น้ำโขงตอนบนจีนได้วางแผนที่จะมีเขื่อนถึง 8 เขื่อนด้วยกัน ที่เสร็จแล้วมี 2 เขื่อน และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 เขื่อน


 


หลายคนคิดว่า เมื่อมีการสร้างเขื่อนเอาไว้เพื่อว่าในยามหน้าน้ำก็สามารถกันไม่ให้น้ำท่วมได้ ส่วนหน้าแล้งก็จะได้ปล่อยนำลงมาในแม่น้ำไม่ให้น้ำแห้ง ดังนั้นการมีเขื่อนจะช่วยให้น้ำสม่ำเสมอตลอดทั้งปีซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี


 


แต่ดร.มิดเลิลตันกล่าวว่า แต่ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยสำหรับปลา เพราะว่าเขื่อนนั้นได้ไปเปลี่ยนช่วงเวลาวงจรการเกิดน้ำท่วม ซึ่งมีผลกับการชยายพันธุ์ของปลา กล่าวคือ การย้ายถิ่นของปลานั้นเป็นเรื่องวงจรชีวิตตามปกติ เนื่องจากปลาจะต้องไปหาที่วางไข่ในช่วงหน้าแล้งซึ่งตรงกับการเป็นฤดูวางไข่ ปลาก็จะว่ายน้ำไปยังที่น้ำลึกและอุดมสมบูรณ์เพื่อการวางไข่ และเมื่อน้ำขึ้นก็จะกลับมาโดยปลาจะรู้ว่าจะต้องย้ายไปที่ไหนที่มีอาหาร นอกจากปลาแล้วการสร้างเขื่อนก็ยังมีผลต่อวิถีชีวิตของคนเช่นกัน


 


"การทำให้น้ำไหลเท่ากันตลอดทั้งปีนั้น  จะทำให้ปลาสับสน ไม่สามารถหาที่วางไข่ได้และไม่รู้ว่าที่ไหนมีอาหาร นอกจากนั้นแล้วการสร้างเขื่อนก็มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนด้วย เนื่องจากโดยปกติในหน้าแล้งผู้คนเขาก็จะใช้พื้นที่บริเวณนั้นปลูกผักและเมื่อถึงหน้าน้ำก็มาจับปลา"


 


การทำลายเกาะแก่งในลำน้ำโขงในตอนบนเพื่อการเดินเรือก็ได้ทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของปลาไปด้วย ทั้งนี้รวมถึงปลาหายากอย่างโลมาน้ำจืด และปลาบึก  การพยายามสร้างทำนบกั้นน้ำหรือบันไดปลาโจนก็ได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของปลาเช่นกันซึ่งไม่ได้ช่วยให้ปลาสามารถมีที่วางไข่ได้


 


นอกจากนั้นเนื่องจากความต้องการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการที่มีประชากรเพิ่มขึ้นทำให้มีการจับปลากันมากขึ้น การใช้เครื่องมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอวนลากขนาดใหญ่และอวนที่มีตาข่ายที่เล็กลงทำให้สามารถจับปลาเล็กๆได้ด้วยก็ส่งผลให้ปลานั้นไม่มีโอกาสได้วางไข่และมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ได้เช่นกัน


 


ขณะเดียวกันทางด้าน ทุช แสง ธานา รัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกหน่วยสังเกตการณ์ด้านเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม สภารัฐมนตรี ซึ่งได้ทำงานในประเด็นการพัฒนาด้านลุ่มแม่น้ำโขงมานานกล่าวว่า แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีเอกสิทธิ์ที่จะจัดการกับทรัพยากรในประเทศตัวเองได้ แต่ในส่วนแม่น้ำโขงนั้นเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ต้องใช้ร่วมกันอยู่ถึง 6 ประเทศ ดังนั้นการพัฒนาในประเทศของตนเองก็ส่งผลกระทบไปยังประเทศที่ใช้แม่น้ำร่วมกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนที่แน่นอนว่าประเทศที่อยู่ปลายน้ำนั้นเดือดร้อน


 


ธานา กล่าวว่า แน่น่อนว่าก่อนการก่อสร้างในแต่ละโครงการก็ได้ให้มีการศึกษาผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อม ( EIA)ก่อน ทว่า ส่วนใหญ่บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นบริษัทที่ปรึกษาอิสระที่ทำเสร็จแล้วก็จากไป หากมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาก็ไม่สามารถเรียกร้องกับใครได้ ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีการตกลงกันใหม่ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงว่าน่าจะการจ่ายค่าประกันความเสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่ได้รับผลกระทบจะดีกว่า


 


"EIA นั้นไม่ช่วยแก้ปัญหา ผมจึงอยากเสนอว่าผู้พัฒนาโครงการขึ้นมา หรือใครก็ตามที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาโครงการจะต้องจ่ายค่าประกันความเสียหายที่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน เชื่อว่าอย่างนี้จะทำให้มีการระมัดระวังมากขึ้นในการพัฒนาแต่ละโครงการขึ้น ประชาชนควรได้รับการชดเชย" ธานากล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net