Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.


"...กาลเวลามิได้ผ่านไปดุจว่ามันเป็นความว่างเปล่า 


และมิได้ทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ข้างหลัง...


มันมิได้เคยเป็นเช่นนั้น


และมันก็จะไม่เป็นเช่นนั้นในอนาคต


และตลอดอนันตกาล


เบื้องหลังกาลเวลาผ่านไป 


ย่อมมีการพัฒนาของสรรพสิ่ง


เหลือไว้เป็นร่องรอยของมันเสมอ..."


(ศรีบูรพา : แลไปข้างหน้า : 2500)


 


 


"สิงห์สนามหลวง"  หรือ สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  ผู้ที่หลายคนพูดกันว่า คือ พจนานุกรมด้านวรรณกรรมที่มีชีวิต  ได้พูดเอาไว้ว่า  ผลงานของ "กุหลาบ  สายประดิษฐ์" ในฐานะการประพันธ์  ผู้คนมักรับรู้กันในแง่ชิ้นงานทางเรื่องสั้นและนวนิยาย  ส่วนงานทางด้านบทกวีดูเหมือนจะมีผู้รู้จักกันน้อย  และยังไม่มีการศึกษาให้ครบถ้วนสมบูรณ์  เนื่องจากขาดการค้นคว้า "เอกสารชั้นต้น" ที่ส่วนใหญ่มักกระจัดกระจาย และบางชิ้นอาจสูญหายไปแล้วก็ได้


 


ชิ้นงานบทกวีของกุหลาย  สายประดิษฐ์  ที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ก็มีอย่างเช่น  นิตยสารโลกหนังสือ  ฉบับที่ 10  ปีที่ 5  เดือนกรกฎาคม 2525  ซึ่งครั้งนั้น  โลกหนังสือ  ได้เขียนเกริ่นนำ "ความเป็นกวีของกุหลาบ  สายประดิษฐ์" ไว้บางตอนดังนี้…


 


กุหลาบ  สายประดิษฐ์   มีแววกวีอยู่อย่างเห็นชัดนี้  ผลงานด้านบทกวีของเขาได้ปรากฏครั้งแรกเมื่อ  ..2468  โดยเขียนเป็นกลอนหก  เรื่อง  "ต้องแจวเรือจ้าง"


 


ในครั้งนั้น  กุหลาบยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย  โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์  โดยมี "ครูหลวงสำเร็จวรรณกิจ"  เป็นผู้ชักชวนและสนับสนุนให้เขาเขียนมาลงในหนังสือ "แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์"  ซึ่งเป็นเสมือนหนังสือพิมพ์ของทางโรงเรียน


 


กุหลาบ ได้เขียนบทกวีอีกหลายชิ้น  แต่คงไม่เป็นที่แพร่หลายนักและท่านเองได้ทุ่มเทความถนัดในการประพันธ์ไปในทางร้อยแก้วมากกว่าร้อยกรอง  ดังที่ปรากฏต่อมาทั้งด้านเรื่องสั้น  นิวนิยาย และบทความแสดงข้อคิดเห็นต่างๆ  ในฐานะของนักหนังสือพิมพ์


 


บทประพันธ์ร้อยกรองของกุหลาบ  สายประดิษฐ์  ที่ "โลกหนังสือ" ค้นพบครั้งนี้  ถือว่าเป็นผลงานการประพันธ์ของท่านในยุคแรกๆ  และดูจะมี "ลักษณะพิเศษ"  ที่แสดงให้เห็นความเป็นปุถุชนและความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อของ "ศรีบูรพา" ที่คนรุ่นหลังไม่เคยรู้จักมาก่อน


 


ผลงานเชิงกวีชื่อ  "ลักษณะปุถุชน" ที่กุหลาบเขียนโดยใช้รูปแบบ "อินทรวิเชียรฉันท์" เมื่อ พ..2467  นั้น  ถือได้ว่าเป็นบทกวีที่รสแปลกและมีชีวิตชีวาแบบผู้ชาย  แม้จะไม่ดุเดือดมากนัก  แต่ก็ชวนให้เกิดความรู้สึกในทางพิศวาส  โดยมีท่วงทำนองออกไปในเชิง Erotic  ซึ่งสุชาติ  สวัสดิ์ได้แปลเป็นไทยไปว่า มีท่วงทำนอง "ชวนสวาท"


 


บทกวี "ชวนสวาท" ชิ้นดังกล่าวของ กุหลาบ  สายประดิษฐ์  ได้ปรากฏพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในหนังสือ "ประชุมสารกวี"  ของคณะนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์  ซึ่งพิมพ์ฉลองเนื่องในงานบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร  สมเด็จพระราชปิตุลา  บรมพงศาภิมุข  เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช  หนังสือไม่ได้ระบุบอกปี พ..ไว้  แต่บทกวี 2  ชิ้น  คือบทแรก "ลักษณะปุถุชน"  กุหลาบได้ลงเวลาไว้ว่า  วันที่ 1 ธันวาคม พ..2467  ส่วนบทที่สอง "คำปฏิญาณของชายที่มีเมียแล้ว" กุหลาบได้ลงเวลาไว้ว่า  วันที่ 1 มีนาคม 2470


 


เมื่อพิจารณากันตามอายุแล้ว  กุหลาบก็เพิ่งจะมีอายุ  21 ปีเท่านั้น  และเพราะกำลังอยู่ในวัยหนุ่มนั่นเอง  ลักษณะ "ชวนสวาท"  จึงเป็นของธรรมดา  แม้ต่อมา  เมื่อกุหลาบลงมือเขียนนวนิยายโรแมนติกยุคแรกเริ่ม  คือตั้งแต่ช่วง พ..2467-2480  ลักษณะ "ชวนสวาท" ของเขา ก็มักจะปรากฏออกมาให้เราเห็นไม่มากก็น้อย  จนกระทั่งดูเหมือนจะมาสุกงอมในเชิงนี้  เมื่อเขาลงมือเขียนนวนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" เมื่อ พ..2480...


 


 


 


 


2.


ธรณีจักร่ำไห้                    แลน้ำไหลจักรำพัน


ลมพัดจักตื้นตัน                            แลดาวเดือนจักอับดวง


            ดอกไม้จักโรยร้าง แลที่ทางจักโรยร่วง


เสียงสรวลกระสันต์ทรวง                 จักโศกศัลย์อนิจจา


            อินทรีย์แห่งวรรณศิลป์        ผงาดบินต้านพาลา


ศรีเอ๋ย  ศรีบูรพา...                        มาจากไทยตลอดกาล


            รูปกาลสลายสูญ               จักไพบูลย์บรรลือบาน


แต่สมองแลผลงาน                        ดำรงอยู่นิรันดร.


                                                            เปลื้อง  วรรณศรี 


                             


บทกวีชิ้นนี้ สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  บอกว่า "เปลื้อง  วรรณศรี" เขียนขึ้นเพื่อไว้อาลัยในมรณภาพของ "กุหลาบ  สายประดิษฐ์"  เมื่อวันที่ 16  มิถุนายน  พ.ศ.2517  โดยขณะนั้น  เปลื้อง  วรรณศรี  ได้ไปขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศจีนเช่นเดียวกัน


 


เปลื้อง  วรรณศรี  เป็นเพื่อนร่วมคุก  หมายถึงว่า  ครั้งหนึ่งบุคคลทั้งสองเคยถูกจับกุมขังอยู่ในเรือนจำบางขวางร่วมกัน  ในฐานะเป็นนักโทษการเมือง  เมื่อ พ.ศ.2495  ที่มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า "กบฏสันติชน"


                        ………………………………….


ในหนังสือ "ร้อยนักเขียน ร้อยกวีชุมนุมบทกวีเชิดชูเกียรติ 100  ปี กุหลาบ  สายประดิษฐ์" ระบุว่า  บทกวีของกุหลาบ  สายประดิษฐ์  ทั้งชื่อจริง และนามปากกาที่ปรากฏให้คนรุ่นหลังได้รับรู้อีกครั้งหนึ่งนั้น  เข้าใจว่าน่าจะเริ่มต้นจากบทกวี  4  บท  ที่นำลงใน โลกหนังสือ เมื่อ พ.ศ.2521  และ พ.ศ.2525  คือ...อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ(2495)  ลักษณะปุถุชน(2469)  คำปฏิญาณของชายที่เมียแล้ว(2470)  และ คนขับรถรางคนใหม่(2470) 


 


หลังจากนั้นต่อมา  ความเป็นกวีของกุหลาบ  สายประดิษฐ์  ก็ได้ไปปรากฏอยู่ในหนังสือ นิพนธสาร "ศรีบูพา" เล่ม 2  แบบเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น  โดยชิ้นงานอย่างเช่น  กุหลาบสงวนพันธุ์(2466)  ต้องแจวเรือจ้าง(2467)  เมื่อจากกรุง(2468)  กวีภาษิต(2469) ข้อสงสัยของชายที่มีเมียแล้ว(2469)  นอกจากนั้น  ก็ยังมี "กลอนลำตัด" อีกหลายบทที่กุหลาบใช้นามปากกา "หมอต๋อง" เช่น ลำตัด-ส่งเดช(2468) และ ลำตัดหมอต๋อง(2468) เป็นต้น


 


และที่สำคัญ  คือมีกลอนเพลงยาวโต้ตอบกันระหว่าง งามพิศ (นามปากกาของโพยม  โรจนวิภาต) และชื่นใจ(นามปากกาของ กุหลาบ  สายประดิษฐ์)  กลอนเพลงยาวเหล่านี้ ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในคอลัมน์ "ไขข้อข้องใจ" ของหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์  เมื่อ พ.ศ.2472  และถือเป็นตำนานขำขัน  เนื่องมาจาก เพื่อนปลอมนามปากกาเป็นหญิง  เพื่อจะหลอกดูฝีมือเพื่อน  เรื่องนี้เคยมีผู้เล่าให้ฟังว่า  นายกุหลาบรู้สึก "ขุ่นใจ" อยู่ไม่น้อย


 


บทกวีต่างๆ  ของกุหลาบ  สายประดิษฐ์  หากค้นดูชื่อผลงานเฉพาะที่เป็นบทกวีเท่าที่หาได้  เราจะพบว่ายังมีชิ้นงานบทกวีอื่นๆ  อีกหลายชิ้นที่กุหลาบได้แต่งขึ้น  แต่ยังหาหลักฐานไม่พบ  เช่น


1.คุณสมบัติของ (อินทรวิเชียรฉันท์)  ใช้นามปากกา "ดาราลอย"  พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือชื่อ ฉันทราบหมด  นี่คือบทกวีชิ้นแรกในชีวิตการประพันธ์ของกุหลาบ  สายประดิษฐ์  และ "ดาราลอย" ก็คือนามปากกาแรกสุดของเขา เมื่อ พ.ศ.2466


           


2. รำพึงภาพ (กลอน)  นามปากกา "ดาราลอย"  พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม  ปี พ.ศ.2466


           


3. เบื่อโสด (กลอน) นามปากกา "ดาราลอย" พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ทสวารบรรเทิง ปี พ.ศ.2466


           


4. หล่อนยังเขลา (โคลงสี่สุภาพ)  นามปากกา "ดาราลอย" พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ภาพยนต์สยาม ปี พ.ศ.2466


           


5. ฉันเรียนเปนหนุ่ม (กลอนหก) นามปากกา "ดาราลอย" พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ นักเรียน ปี พ.ศ.2467


           


6. คนึงสาร์น  (โคลงด้น)  นามปากกา "ส.ป.ด.กุหลาบ" ปี พ.ศ.2468  แต่ไม่ทราบพิมพ์ครั้งแรกที่ใด


และ 7. ผมเจ้าค่ะ (ดอกสร้อย)  นามปากกา "ดาราลอย" พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ปราโมทย์นคร  รายเดือน ปี พ.ศ.2468


           


ว่ากันว่า  รายชื่อบทกวีเหล่านี้ล้วนมีปรากฏอยู่จริง  เพราะได้หลักฐานมาจาก "บันทึกการแต่งหนังสือ" ของผู้ประพันธ์เอง  สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  บอกว่า ขอเอ่ยชื่อไว้เพื่อบางทีจะมีการ "เติมอิฐต่อยอด" ของคนรุ่นต่อไปให้ครบถ้วนสมบูรณ์


           


อย่างไรก็ตาม  รายละเอียดดังกล่าวที่ปรากฏก็เพื่อยืนยันว่า  กุหลาบ  สายประดิษฐ์ นั้น นอกจากจะเขียนเรื่องสั้น  นวนิยาย  และบทความหนังสือพิมพ์แล้ว  ท่านยังมีผลงานอีกจำนวนหนึ่งในฐานะที่เป็นกวี  ตัวบทกวียุคแรกสมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมได้แก่ชิ้นงานชื่อ  กุหลาบสงวนพันธุ์(2466)  และ  ต้องแจวเรือจ้าง(2467)  ส่วนบทกวียุคกลางสมัยเป็นนักโทษการเมือง  ได้แก่กลอนเปล่าที่รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ในชื่อ  อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ ในปี พ.ศ.2496-2500 


 


และบทกวียุคสุดท้าย-ชิ้นสุดท้าย ชื่อ "พลังประชาชน" ในปี พ.ศ.2516  เขียนขึ้นสมัยลี้ภัยการเมืองอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน  และเป็นบทที่ผู้คนรุ่น "14  ตุลา" ค่อนข้างรู้จักกันดี  เพราะมีผู้นำเอาบทกวีชิ้นนี้ไปใส่เป็นทำนองเพลง  จนครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็น  "เพลงคอมมิวนิสต์"


 


"กุหลาบ  สายประดิษฐ์  เป็นกวีอย่างไม่มีข้อสงสัย" สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  กล่าวย้ำและยืนยัน.


 


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net