เสียงครวญจากคนแม่อาย : เมื่อรัฐถอนสัญชาติไทยกลายเป็นคนต่างด้าว-รายงานพิเศษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"คุณมีความรู้สึกอย่างไร  ถ้าสมมุติว่าขณะที่ตัวคุณเองกำลังนั่งอยู่ในบ้าน  แล้วจู่ๆ  ทางการเดินเข้ามาบอกว่า  คุณเป็นคนไร้รัฐ  เป็นคนไร้สัญชาติ  ทั้งๆ  ที่คุณเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซนต์  คุณจะรู้สึกเจ็บปวดบ้างไหม..."คำ  โพธิ  ชาวบ้านแม่อายที่ถูกเพิกถอนชื่อคนหนึ่ง เอ่ยออกมาในบ่ายวันนั้น

 

ในวันที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสช.) เดินทางไปเยี่ยมชาวบ้านแม่อาย ณ สถานปฏิบัติธรรมภาวนานิมิตร  ต.ท่าตอน  อ.แม่อาย  จ.เชียงใหม่  เมื่อวันที่  3  ก.ย.ที่ผ่านมา  ภาพที่เห็นในวันนั้น  เป็นภาพที่ทำให้หลายคนที่พบเห็นต้องรู้สึกเศร้าและสงสารระคนกัน

 

ชาวบ้านร่วมพันคน  นั่งสงบนิ่งอยู่ศาลาปฏิบัติธรรม  ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนชรา  บางคนนั่งพับเพียบด้วยชุดขาวด้วยความสำรวม  เมื่อผมเดินเข้าไปนั่งตรงศาลาริมน้ำ  ชาวบ้านหลายคนต่างเดินเข้ามายกมือไหว้ร้องขอเหมือนกับว่ากำลังหมดที่พึ่งหมดหนทางต่อสู้กับปัญหาอันหนักหน่วงเช่นนี้  พร้อมกับเล่าเรื่องราวปัญหาความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ  ที่เกิดขึ้น  เหมือนว่าความทุกข์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด

 

นายเงิน  ปู่ลู   พ่อเฒ่าที่ถูกถอดสัญชาติไทย  บอกเล่าให้ฟังว่า  พื้นที่สบยอนที่ตนเคยเข้าไปอยู่กินที่นั่น  ทางอำเภอพยายามบอกว่าไม่ได้อยู่ในเขตไทย  แต่ทางทหารก็ได้ออกมาระบุแล้วว่า  สบยอนอยู่ในเขตไทย  ซึ่งแต่ก่อนนั้น  พ่อของตนก็เคยเป็นทหารไทยออกไปสู้รบ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  และอยากบอกว่า  จริงๆ  แล้ว  ชาวบ้านไม่ได้อยู่ที่สบยอน  แต่จะไปทำไร่ทำสวนกันที่นั่น  พอเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็จะใส่แพล่องลงมาที่ท่าตอน ขอยืนยันว่าเราเป็นคนไทย

 

นายติ๊บ  ยาหงษ์  ชาวบ้านแม่อายที่ถูกถอนสัญชาติอีกคนหนึ่ง  บอกว่า  เมื่อปี 2543  ตนได้สมัครเป็นทหารเกณฑ์สังกัดอยู่ค่าย ร.7  พัน 2  อ.เชียงดาว และได้ขึ้นไปอยู่ตามชายแดน  ต่อมา  เมื่อทางอำเภอมีการถอนรายชื่อของตนออกจากทะเบียนบ้าน  ทำให้ทางผู้บังคับบัญชาเรียกลงจากดอย  และบอกว่าไม่ต้องเป็นทหารแล้ว  พร้อมกับให้ตนเองกลับบ้าน โดยไม่ทราบสาเหตุ

 

"ตอนนี้  เอกสารใบสุทธิ  บัตรประชาชน เอกสารทุกอย่างของผม  ยังอยู่ในค่ายทหาร  เพราะก่อนหน้านั้นได้มีการโอนชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านในค่าย  ซึ่งตอนนี้  ผมเหมือนไร้รัฐ  ทำให้เกิดปัญหาอย่างมากในการใช้ชีวิตในขณะนี้  และไม่เข้าใจว่า  ขนาดผมอาสารับใช้ชาติ  ยังถูกกระทำอย่างนี้ว่า ไม่ใช่คนไทยอีก"นายติ๊บ บอกเล่าด้วยความรู้สึกเจ็บปวด

 

และทุกวันนี้  ยังมีชาวบ้านที่ออกไปเป็นทหารตามสังกัดค่ายต่างๆ  ไม่ต่ำกว่า  50  ราย  ที่ถูกผลกระทบจากการถอนสัญชาติในกรณีเดียวกันนี้

 

ด้าน นางแอ  สามแก้ว  แม่เฒ่าในชุดขาว วัย 60 ปี  บอกเล่าให้ฟังว่า  หลังจากที่ทางอำเภอประกาศถอดสัญชาติของครอบครัวของตน  ปัญหาทุกอย่างก็เริ่มเข้ามา  แม้กระทั่ง ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. ที่ตนเคยเป็นสมาชิกในการกู้เงินมาทำการเกษตร  ก็ได้มีหนังสือมาแจ้งว่า  ให้รีบนำเงินที่กู้กับ ธกส. พร้อมทั้งดอกเบี้ยทั้งหมด  มาชดใช้โดยเร็ว  ครั้นไม่มีเงินให้  ทางเจ้าหน้าที่ก็เข้ามายึดอุปกรณ์การเกษตร  ไม่ว่าพวกเครื่องสูบน้ำ  เครื่องตัดหญ้า ไปทั้งหมด

 

ว่ากันว่า  มีชาวบ้านที่เป็นสมาชิก ธกส.และสหกรณ์อำเภอ เป็นจำนวนหลายร้อยราย

 

ในขณะที่  น.ส.หอมนวล  คำหยาก  ได้ร้องเรียนว่า  ตนเองเป็นนักเรียนที่จบชั้นมัธยมต้น ที่ อ.แม่อาย  แต่เมื่อไปศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมปลาย ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม แต่ทางโรงเรียนไม่รับ  เพราะว่าไม่มีหลักฐาน

 

ในบ่ายวันนั้น  หญิงวัยกลางคน คนหนึ่งได้บอกเล่าให้ฟังว่า  ลูกชายเล่าให้ฟังว่า  เวลาไปโรงเรียน  ขณะยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ  ถูกเพื่อนล้อว่าไม่ใช่คนไทย  และไล่ให้ไปยืนห่างๆ  ซึ่งตนก็บอกลูกว่า  ไม่ต้องน้อยใจ  เราเกิดในเมืองไทย  สักวันหนึ่ง  เราก็จะต้องได้สัญชาติไทยกลับคืนมา

 

นอกจากนั้น  ยังมีอีกหลายกรณี  ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบหลังถูกถอดถอนสัญชาติไทย  ไม่ว่า กรณีประกันสังคมไม่ยอมรับในการรักษาพยาบาล  โรงพยาบาลยึดบัตรประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง  30 บาทรักษาทุกโรค  รวมไปถึงการตัดโอกาสของนักกีฬาคนพิการที่จะได้ทำการแข่งขันในระดับเขต ในระดับประเทศ  และการเดินทางไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ ในประเทศ และต่างประเทศ

 

ครั้นเมื่อย้อนกลับไปฟังคำแถลงปิดคดีต่อศาลปกครอง ของนายกฤษฎา บุญราช อดีตนายอำเภอแม่อาย ในฐานะผู้แทนชาวบ้าน  ได้บอกชัดเจนว่า  ชาวบ้านแม่อายที่ถูกเพิกถอนชื่อนั้น เดิมเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไปทำมาหากินตามแนวชายแดน ปี 2519 เพลิงไหม้ที่ว่าการอำเภอ เมื่อชาวบ้านกลับมาขอทำบัตรประชาชนกลับถูกปฏิเสธ ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีนโยบายผลักดันบุคคลที่ไม่มีทะเบียนราษฎร จึงทำให้ชาวบ้านต้องทำบัตรชนกลุ่มน้อยไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะถูกผลักดันออกนอกประเทศ

"การสั่งจำหน่ายชื่อชาวบ้านถือว่าผิดกฎหมาย มาตรา 30 วรรคแรก พ...วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ..2539 เพราะไม่เคยเรียกชาวบ้านไปสอบสวนข้อเท็จจริง ถือเป็นการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของชาวบ้าน  และแสดงให้เห็นว่าการจำหน่ายชื่อชาวบ้านโดยอ้างว่าเป็นคนต่างด้าวนั้นคลาดเคลื่อน ใช้ดุลพินิจที่ไม่รอบคอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย" นายกฤษฎา  กล่าวในวันนั้น

 

และก่อนหน้านั้น  นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย ก็เคยออกมาพูดด้วยความเป็นห่วงว่า การที่ชาวบ้านแม่อายทั้ง  1,243 คน ถูกจำหน่ายจากทะเบียนราษฎร  นั้นทำให้สิทธิความเป็นพลเมืองสูญสิ้นตามกฎหมาย  ซึ่งจะทำให้เหมือนว่า  พวกเขาไม่มีตัวตนในประเทศ

"คุณมีความรู้สึกอย่างไร  ถ้าสมมุติว่าขณะที่ตัวคุณเองกำลังนั่งอยู่ในบ้าน  แล้วจู่ๆ  ทางการเดินเข้ามาบอกว่า  คุณเป็นคนไร้รัฐ  เป็นคนไร้สัญชาติ  ทั้งๆ  ที่คุณเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซนต์  คุณจะรู้สึกเจ็บปวดบ้างไหม..."ชาวบ้านแม่อายที่ถูกเพิกถอนชื่อคนหนึ่ง เอ่ยออกมาในบ่ายวันนั้น

 

ทำให้ผมคิดว่า  มันต้องมีบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดแน่...ใครเป็นคนผิด  ชาวบ้าน หรือรัฐ และตัวแทนของรัฐ!! 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท