Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


 



ภาพจาก www.manager.co.th


 


"น.ส.จิตรลดาให้การวกไปวนมา และเมื่อถูกถามถึงสาเหตุที่บุกเข้าไปแทงนักเรียนถึงในโรงเรียนนั้น น.ส.จิตรลดาตอบว่า ต้องการสังหารเด็กแขกและเด็กชาวจีนเนื่องจากจะได้บุญมาก อีกทั้งตนเองอยากถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดยาพิษ ไม่อยากถูกยิงเป้าเหมือนก่อน"


 


(ข้อมูลจากทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์10 กันยายน 2548 19:58 น.)


 


ข้อมูลบางส่วนจากปากคำของนางสาวจิตรลดา ตันติวาณิชยสุข ผู้ต้องหาที่บุกใช้มีดไล่แทงนักเรียน โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ 4 คน บาดเจ็บสาหัส อาจทำให้หลายคนออกมาตั้งคำถามถึงสาเหตุของพฤติกรรมความรุนแรง  และบางหน่วยงานก็ออกมาให้คำตอบทางวิชาการว่ามูลเหตุแห่งพฤติกรรมความรุนแรงนั้น เกิดขึ้นจากภาวะทางจิต ที่เรียกว่า "โรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง"


 


โดยส่วนตัวของผู้เขียนเองก็ไม่ได้มีความเห็นแตกต่างหรือรู้สึกโต้แย้งกับข้อมูลที่หน่วยงานราชการออกมายืนยัน หากแต่ผู้เขียนรู้สึกสนใจในรายละเอียดบางประการที่ น.ส.จิตรลดา ได้ให้คำตอบแก่ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับสาเหตุที่เธอต้องลงมือกระทำการอันโหดร้าย ว่า ต้องการสังหารเด็กแขกและเด็กชาวจีน คำถามที่ผู้เขียนรู้สึกสงสัยกับข้อมูลจากปากคำของเธอก็คือว่า เหตุใดเธอถึงต้องการสังหารบุคคลที่เธอเรียกว่า แขก และ จีน


 


ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต มีการระบุว่า "สาเหตุของผู้ป่วยทางจิตส่วนใหญ่มาจากสิ่งแวดล้อม ครอบครัว และที่สำคัญ คือจิตใจที่ได้รับการพัฒนาพื้นฐานทางอารมณ์หรือการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กก็มีส่วนสำคัญในการส่งผลทางจิต"


 


หากคำอธิบายข้างต้นเป็นความจริง ความต้องการสังหารเด็กแขก และเด็กจีน คงต้องมีอะไรซับซ้อนมากกว่าที่จะถูกอธิบายด้วยคำสั้นๆ ว่าโรคจิต


 


ความเกลียดชังในความเป็นแขก ความหวาดระแวงในความเป็นจีน เกิดจากอะไร ความรู้สึกว่าบุคคลเหล่านั้นไม่ใช่พวกเราหรือเปล่า ที่ทำให้เธอเลือกที่จะเดินถือมีดไปกำจัดความเป็นอื่น ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เธอเป็นโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว


 


"จิตรลดา" กับกระบวนการสร้างความเป็นอื่นในพื้นที่ภาคใต้


 


ที่จริงความเกลียดชังในความเป็นแขก หรือความเป็นคนเชื้อชาติอื่นมันก็บ่มเพาะเป็นปัญหาอยู่ในสังคมไทยแม้กระทั่งในปัจจุบัน อย่างในกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยิ่งชัดเจนว่า ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งยังมีแนวคิดว่า ชาวมุสลิม คือบุคคลอื่น ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธ จึงนำมาซึ่งความหวาดระแวง


 


หวาดระแวงจนกระทั่ง เมื่อความตายได้เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมก็พร้อมที่จะยอมเชื่อทันทีว่า การตายของพวกเขาเป็นการตายของผู้ก่อการร้าย ซึ่งไม่ใช่พวกเรา จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปใส่ใจ เกิดความรู้สึกเพิกเฉยต่อการตายของมนุษย์ผู้ซึ่งตนระบุว่าเป็นอื่น


 


เช่นเดียวกัน กรณีของ น.ส.จิตรลดา เมื่อเธอมองว่า แขก หรือจีน เป็นบุคคลที่เป็นอื่น เป็นบุคคลที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเธอ การกระทำอันรุนแรงต่อร่างกายของเด็กเหล่านั้น จึงไม่ได้นำมาซึ่งความรู้สึกโศกเศร้า หรือความรู้สึกที่ว่าเธอต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด เพราะการบาดเจ็บหรือการตายของบุคคลนั้น ไม่ใช่การตายของบุคคลที่เธอเห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน


 


ดังนั้น โรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง ที่ "จิตรลดา" ประสบ จึงไม่แตกต่างจากกรณีที่ประชาชนในสังคมไทยส่วนหนึ่งหวาดระแวงต่อพี่น้องชาวมุสลิม จนเห็นว่าการตายของพี่น้องชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องปกติ และบางคนกลับรู้สึกสะใจกับการจากไปของพี่น้องเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับตน


 


ดังนั้นในความคิดเห็นของผู้เขียน กรณีของ "จิตรลดา" จึงไม่ใช่กรณีแรกของ โรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง หากแต่เป็นเพราะเธอกระทำต่อเหยื่อในที่แจ้ง และเธอกระทำต่อเหยื่อที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับแล้วว่าเป็นพวกเดียวกัน ความผิดนั้นจึงมหาศาล


 


ส่วนกรณีของภาคใต้เป็นเรื่องของการกระทำต่อเหยื่อในที่ลับ และเป็นการกระทำต่อเหยื่อที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกัน การกระทำเหล่านั้นจึงยังไม่ถูกมองว่าเป็นความผิดที่ยิ่งใหญ่เพียงไร


 


การป่วยของ "จิตรลดา" กับ "ความต้องการสังหารเด็กแขก และจีน" จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องร่วมกันรับผิดชอบในฐานะที่เราท่านเป็นผู้บ่มเพาะองค์ความรู้เรื่องชาติไทยที่หมายรวมเพียงผู้ที่นับถือพุทธศาสนา และผู้ที่พูดภาษาไทย


 


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมของเราจะขจัดความเป็นอื่น ก่อนที่โรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง จะลุกลามทั่วทั้งสังคมโดยที่เราท่านไม่ทันระวังตัว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net