เร่งผุดหอเตือนภัยพิบัติ "สมิทธิ" …ฟันธง คนเชียงใหม่ต้องปรับตัวรับแผ่นดินไหว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าเชียงใหม่เป็นเมืองอันดับ 2 ของประเทศ  แต่ไม่มีระบบการเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ  เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความด้อยประสิทธิภาพดังกล่าว  ทั้งที่ความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นสามารถบรรเทาลงไปได้มากหากมีการเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที

            นายสมิทธิ  ธรรมสโรช  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยในการแถลงการณ์เกี่ยวกับการติดตั้งหอเตือนภัยในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า  นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนและ  นายสุรนันท์  เวชชาชีวะ  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  รับผิดชอบเรื่องระบบเตือนภัยตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 13  สิงหาคม  2548  ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดระบบให้ได้มาตรฐานโดยเร็วที่สุด  เพื่อลดความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าเป็นมูลค่ามหาศาล  โดยจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา  ส่งผลให้ภาคธุรกิจการค้าเกิดความเสียหายอย่างมาก 

            นายสมิทธิกล่าวต่อไปว่า  ขณะนี้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ติดตั้งหอเตือนภัยทั่วประเทศในเวลานี้ดำเนินการใน 6 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยสึนามิไปเรียบร้อยแล้ว  และกำลังจะเริ่มดำเนินการในส่วนของจังหวัดภาคเหนือ  เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นจังหวัด  ในเบื้องต้นได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้ว  และสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้โดยทันที  สำหรับการติดตั้งจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด  โดยในเชียงใหม่จะติดตั้งก่อนจำนวน 3 จุด  เริ่มที่ย่านธุรกิจสำคัญอย่างไนท์บาซาร์เป็นที่แรก  ส่วนอีก 2 จุดต้องประสานกับผู้ว่าฯเชียงใหม่อีกทีว่าควรจะเป็นที่ไหนบ้าง  มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน  และในช่วงแรกจะใช้งบประมาณของศูนย์เตือนภัยแห่งชาติไปก่อน  หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของทางจังหวัดที่ต้องเข้ามารับผิดชอบต่อไป

            ระบบของหอกระจายข่าวเตือนภัยจะมีสถานีควบคุมและส่งข้อมูลตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ  มีระบบรับข้อมูลการเตือนภัยกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจวัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติทุกแห่ง  ตัวหอกระจายข่าวจะติดตั้งในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย  มีลักษณะเป็นหอสูงประมาณ 20-30 เมตร  สร้างด้วยวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กหรือโครงสร้างเหล็กกันสนิม  ตั้งอยู่บนฐานรากที่มั่นคงแข็งแรง  ตัวหอสามารถทนแรงลมได้ที่ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  และทนแรงกระแทกของคลื่นได้ดี  อุปกรณ์ที่ติดตั้งบนหอกระจายข่าวประกอบด้วย  ระบบเครื่องรับสัญญาณวิทยุ(ระบบดิจิตอล)  ที่จะรับสัญญาณวิทยุจากสถานีส่งข้อมูลจากกรุงเทพฯผ่านดาวเทียม  Inmarsat  ตอนบนของหอจะมีระบบกระจายเสียง  เป็นลำโพงหลายตัวหันหน้าไปตามทิศทางที่ต้องการ  ระบบกระจายเสียงมีพลังงานเสียงส่งออกมาไม่ต่ำกว่า 121 เดซิเบล  ซึ่งสามารถได้ยินได้ในรัศมี 1 กิโลเมตร  พลังงานที่ใช้ป้อนระบบการทำงานทั้งหมดบนหอกระจายข่าวเป็นพลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งเติมพลังงานด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (solar  cells)  โดยไม่ต้องใช้บุคลากรในการควบคุมการทำงานของหอกระจายข่าว  และอาจมีการดัดแปลงติดตั้งสัญญาณเตือนภัยระบบไฟสีได้ด้วย

            การเตือนภัยจะเป็นเสียงสัญญาณไซเรน  หลังจากนั้นจะเป็นเสียงประกาศในหลายภาษา  ในช่วงแรกจะเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นหลัก  และต่อไปอาจพิจารณาเพิ่มภาษาจีน  ญี่ปุ่น  ฝรั่งเศส  ฯลฯ  จะมีการรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง  และแจ้งประชาชนให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุ  การสั่งการเตือนภัยทำได้ 2 รูปแบบ  คือสั่งการจากศูนย์เตือนภัย  และสั่งการโดยผู้ว่าฯ  และภายหลังการติดตั้งเสร็จสิ้น  หอกระจายข่าวเตือนภัยจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมอุตุนิยมวิทยา

            อย่างไรก็ตาม  ภัยธรรมชาติบางรูปแบบก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า  แผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้เนื่องจากเปลือกโลกไม่เคยหยุดนิ่ง  นายสมิทธิ  ยืนยันว่าคนเชียงใหม่ต้องยอมรับว่าอยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว  และอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าแผ่นดินไหวหากเกิดขึ้นแล้วหนึ่งครั้งจะทิ้งช่วงไปอีกนานกว่าจะเกิดขึ้นอีก  การปรับตัวเรียนรู้เพื่อรับมือเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นจึงเป็นทางเดียวที่ดีที่สุด  สำหรับพื้นที่อย่างเชียงใหม่หากเกิดแผ่นดินไหว  จุดที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่อาคารสูง  เนื่องจากอาคารเหล่านี้มีการคำนวณโครงสร้างเพื่อรับแรงลมไว้ในระดับหนึ่งแล้ว  แต่อาคารขนาดเล็กที่ส่วนมากมีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานน่าจะเป็นจุดที่น่าห่วงมากกว่า. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท