"กว่าง" นักสู้ที่มากับฝนกีฬาภูมิปัญญาพื้นบ้านชาวล้านนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


หน้าต่างล้านนา

วิชัย ทาเปรียว

 

"การชนกว่าง" กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งในทุกช่วงฤดูฝนที่ยังคงได้รับความนิยมจากชาวล้านนาอย่างไม่เคยเสื่อมคลาย โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ที่มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบ "การชนกว่าง" อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

            "กว่าง" เป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง หรือบางคนเรียกว่า "แมงคาม" หรือบ้างก็เรียกด้วงปีกแข็ง จัดอยู่ในชนิด Xylotrupesgideon ในวงศ์ DYNASTIDAE ตัวผู้มีเขายื่นไปข้างหน้าและโค้งเข้า ตอนปลายแยกเป็นสองแฉก ตัวเมียไม่มีเขา มีตาและหนวด ส่วนอกมีปล้อง 6 ปล้อง มีขา 3 คู่ และปีก 2 คู่  ส่วนท้องประกอบด้วยปล้อง 4-6 ปล้อง  ชอบกินน้ำหวานจากอ้อยเป็นชีวิตจิตใจ

            ที่ จังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ที่นิยมชมชอบ "กว่าง" จะมารวมตัวกันทุกวันในช่วงฤดูเลี้ยงกว่างปีนี้ โดยเฉพาะย่านถนนทุ่งโฮเต็ล จะคึกคักและพลุกพล่านไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านแมงกว่างหลายท่าน

ลุงอ้วน หรือนายนิยม  ชื่นใจดี อายุ 51 ปี อยู่ที่หมู่บ้านศรีธนา เลขที่ 55/2  หมู่ที่ 5 .สันติธรรม อ.สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่ได้รับใบประกาศจากสถาบันราชภัฎเชียงรายร่วมกับองค์กรกว่างโลกที่จัดกีฬาพื้นบ้านกับวิถีชีวิตชาวล้านนา เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาล้านนาเรื่องกว่าง โดยลุงอ้วน ได้ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับด้วงกว่างมานานกว่า 30 ปี และยังเป็นผู้สืบสานและถ่ายทอดให้กับนักเรียนนักศึกษาตามสถาบันการศึกษาต่างๆมากมายหลายแห่งมาแล้ว

            ลุงอ้วนได้เล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์ที่เคยสอนให้เด็กๆที่ชอบเลี้ยงกว่าง และให้ความรู้นักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จะสอนย้อนไปในสมัยก่อนในช่วงฤดูฝนทุกๆปี หรือช่วงเดือนสิงหาคมกันยายน และเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ชาวบ้านชาวเมืองมีเวลาว่าง เพราะข้าวที่ปลูกไว้กำลังตั้งท้อง เมื่อว่างจากการงาน ผู้ชายจะสนุกกับการเล่นชนกว่างกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การที่จะได้ตัวกว่างหรือเลือกตัวกว่าง ได้จากการหาตามสุมทุมพุ่ม ไม้หรือป่าในเขตของหมู่บ้าน ตามวัดร้างที่มีต้นไม้เครือเถาขึ้นปกคลุมโดยเฉพาะในเวลาเช้าจะหาได้ง่ายกว่าเพราะกว่างยังไม่เข้าไปหลบอยู่ใต้ใบไม้ เมื่อใช้ไม้แหย่กว่างจะทิ้งตัวลงดินหรือพื้นหญ้าและจะอำพรางตัวอยู่  หรือจะใช้วิธีการดักกว่างโดยใช้เครื่องมือง่ายๆ ที่ทำเอง ก็คือ นำกะลามะพร้าวมาผ่าครึ่งใช้ไม้ไผ่เล็กๆ เสียบทะลุกะลามะพร้าว ตรงปลายด้านบนของไม้ไผ่ทำเป็นตะขอไว้สำหรับเกี่ยวกับกิ่งไม้

วิธีการดักก็นำกล้วยน้ำหว้าหรืออ้อย ใส่ลงไปในกับดักที่ทำง่ายๆพร้อมกับนำกว่างแม่อีหลุ้ม(กว่างตัวเมียซึ่งไม่มีเขา) บางแห่งเรียก กว่างแม่อู้ด,กว่างแม่มูดหรือ กว่างแม่อีดุ้ม เวลาตอนเย็นก็นำไปแขวนไว้ตรงต้นไม้ ให้สูงๆ พอประมาณ ตอนเช้าก็ออกมาเก็บกับดักที่ดักไว้ ก็จะได้กว่างตัวผู้เขาสวยงาม บางคนอาจจะเลี้ยงด้วงกว่างเอง ซึ่งวิธีการเลี้ยงต้องเลี้ยงให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติหรือเลี้ยงในกล่องพลาสติกหรือในตาข่ายก็ได้ แต่อาหารอาจใช้น้ำ 3 ส่วนผสมน้ำผึ้ง 1 ส่วน ทาบนท่อนไม้ ให้ด้วงดูดกินเป็นอาหาร หรือจะให้กว่างกินกล้วยหรือแอปเปิลก็ได้แต่อย่าลืม กล่องที่อยู่ของกว่างต้องมีความชื้น

            มุมมองของคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนพื้นบ้าน อาจจะเห็นว่า กิจกรรมนี้เป็นการทรมานสัตว์  นำมาเล่นชนกัน  แต่สำหรับชาวล้านนาแล้วถือว่าเป็นกีฬาพื้นบ้านอย่างหนึ่ง   ถ้าได้ศึกษาวงจรชีวิตของด้วงกว่างแล้ว จะเห็นว่า มันมีวงจรชีวิตอยู่ได้เพียง 1  ปีเท่านั้น  ในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม  กว่างทั้งตัวผู้และตัวเมียจะขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อมาผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งใช้วงจรชีวิตช่วงนี้ประมาณ 4 เดือน พอเข้าในฤดูหนาว กว่างตัวเมียหลังจากผสมพันธุ์ก็จะขุดดินแล้ววางไข่ ส่วนตัวเองก็จะตาย ไข่ก็ฟักเป็นตัวหนอน เป็นดักแด้อาศัยอยู่ใต้ผิวดินจนถึงต้นฤดูฝนก็จะขุดดินขึ้นมาผสมพันธุ์ดำรงค์ชีวิตสืบลูกหลานต่อไป

            กว่างพื้นบ้านมีหลายชนิด ที่นิยมนำมาชนกัน คือ  กว่างโซ้งตัวผู้ที่มีเขายาวและหนาทั้งข้างล่างข้างบน ลำตัวสีน้ำตาลแดงกว่า กว่างชนิดนี้มักจะส่งเสียง "ซี่ ๆ" ตลอดเวลา กว่างแซม มีลักษณะคล้ายกับกว่างโซ้ง แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อย เขาก็สั้นและเรียวเล็ก กว่างชนิดนี้เลี้ยงไว้เป็นคู่ซ้อมหรือให้เด็กๆเล่นกัน กว่างกิ เป็น กว่างตัวผู้ที่มีเขาข้างบนสั้น(กิแปลว่าสั้น) เขาบนจะออกจากหัวออกมานิดเดียวกว่างกิจะต่อสู้หรือชนกันโดยใช้เขาล่างงัดกัน แต่ไม่สามารถใช้เขาหนีบคู่ต่อสู้ได้ จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นกว่างชน  กว่างงวงหรือกว่างหน่อคือด้วงงวงของภาคกลาง กว่างชนิดนี้ชอบกินหน่อไม้หรือยอดอ่อนมะพร้าวมีขนาดเล็ก สีดำ ตรงปากจะมีส่วนยื่นเป็นงวงและไม่มีเขากว่างชนิดนี้ไม่มีการนำมาเลี้ยงเพื่อชนกัน  

ส่วนกว่างดอยหล่อ ดอยหล่อเป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ กว่างดอยหล่อมีชื่อเสียงในด้านความอดทนแข็งแกร่ง  พูดกันว่าเป็นกว่างที่ผ่านความลำบากในการขุดหินขุดทรายขึ้นมา จึงมีความอดทนเป็นเลิศ  เมื่อใครได้กว่างดอยหล่อมาเลี้ยงไว้ชน จึงมั่นใจได้ว่ามีกว่างที่ดีและอดทน เมื่อถึงฤดูเล่นกว่างมาถึง นักเล่นกว่างจึงแสวงหากว่างดอยหล่อมาเลี้ยง บางคนถึงกับเดินทางไปที่หมู่บ้านดอยหล่อเพื่อหากว่างชนดอยหล่อก็มี 

กว่างแม่อีหลุ้มคือกว่างตัวเมียซึ่งไม่มีเขา กว่างชนิดนี้บางแห่งเรียก กว่างแม่อู้ด,กว่างแม่มูดหรือ กว่างแม่อีดุ้ม กว่างตัวเมียนี้จะมีทั้งชนิดตัวเล็กและตัวใหญ่ มีทั้งสีน้ำตาลและสีดำ กินจุกว่ากว่างตัวผู้ ริมปากมีลักษณะเป็นฝาสำหรับขุด ซึ่งจะขุดอ้อยให้เห็นแอ่งเป็นขุยเห็นได้ชัด ปกติจะใช้กว่างแม่อีหลุ้มนี้เป็นตัวล่อให้กว่างตัวผู้ชนกัน กว่างตัวเมียนี้เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูลงดินเพื่อวางไข่แล้วจึงตาย  

กว่างหนวดขาว ลักษณะเหมือนกับกว่างโซ้ง แต่ต่างกันที่ตรงหนวดจะมีสีขาว เชื่อกันว่าเป็นพญากว่าง กว่างหนวดขาวนี้จะชนจะสู้กับกว่างทุกขนาด กว่างหนวดดำจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพราะเกรงกลัวอำนาจของพญา บางครั้งกำลังชนกันพอรู้ว่าเป็นพญากว่าง กว่างหนวดดำหรือกว่างธรรมดาก็จะถอดหนี คือไม่ยอมเข้าหนีบด้วย มีนักเล่นกว่างบางคนหัวใส เมื่อได้กว่างหนวดขาวมาก็พยายามย้อมหนวดของกว่างให้เป็นสีดำเหมือนกับกว่างทั่วไป โดยใช้ยางไม้กับหมิ่นหม้อผสมกัน แต้มหนวดขาวให้เป็นสีดำเมื่อนำไปชนบางครั้งสีที่ย้อมหนวดหลุดออกอีกฝ่ายจับได้ว่าใช้กว่างหนวดขาวปลอมมาชน เกิดทะเลาะกันก็มี

นอกจากนั้นยังมีกว่างดาวที่ปีกสีทองคล้ายเสือดาว และกว่างรัก หรือกว่างฮัก กว่างฮักนี้ตัวมีสีดำเหมือนสีของน้ำรักรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกับกว่างแซมมากกว่า  กว่างโซ้ง กว่างชนิดนี้ไม่ค่อยใช้ชนกัน เพราะกล่าวกันว่าน้ำอดน้ำทนสู้ กว่างโซ้งไม่ได้ ลักษณะเขาด้านบนจะสั้นและเขาล่างจะแยกออกจากกันเป็น

2 แฉก

            ลุงอ้วนได้เล่าถึงวิธีการชนกว่างว่า ก่อนที่จะนำกว่างมาชนกันจะต้องนำกว่างมาเทียบขนาดและสัดส่วนที่เรียกว่าเปรียบคู่กันเสียก่อน ก็เหมือนกับการชกมวย เมื่อตกลงจะให้กว่างของตนชนกันจริง ๆ แล้ว เจ้าของกว่างจะต้องขอกว่างของฝ่ายตรงกันข้ามมาตรวจดูเสียก่อนว่าไม่มีกลโกง

ในการชนกว่างแต่ละครั้งมักจะมีการวางเดิมพันกันเพื่อความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น กว่างที่ชนะก็ทำให้เจ้าของมีหน้ามีตา แต่ถ้ากว่างแพ้แล้วอยู่ที่เจ้าของว่าจะเลี้ยงต่อหรือปล่อยไปตามธรรมชาติให้ผสมพันพันธ์กันเองสืบพันธ์ต่อไป 

ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการชนกว่างมีเพียงไม่กี่อย่างหาทำกันอย่างง่ายๆ เริ่มจากไม้คอน ที่ใช้ต้นปอหรือท่อนไม้ฉำฉา  ทำให้เป็นท่อนไม้กลมยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10  เซนติเมตรตรงกลางเจาะรู    สำหรับใส่กว่างตัวเมียจากด้านล่างให้โผล่เฉพาะส่วนหลังพอให้มี "กลิ่น" ด้านล่างอุดด้วยเศษผ้าแล้วใช้ฝาปิดไว้ แบ่งระยะจากรูตรงกลางออกไปข้างละเท่า ๆ กัน ทำรอยเครื่องหมายกั้นไว้ ไม้คอนจะใช้เป็นที่ฝึกกว่างหรือให้กว่างชนกันและอุปกรณ์ชิ้นที่สองก็คือไม้ผั่น หรือเรียกต่างๆกันไปว่า ไม้ผัดไม้แหล็ดหรือไม้ริ้ว ไม้ผัดนี้จะทำด้วยไม้จิงหรือไม้ไผ่ก็ได้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร ยาวประมาณ 8 เซนติเมตรลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมปลายบัวหรือปลายแหลม ส่วนโคนเหลาให้เล็กเป็นที่สำหรับจับถือตรงใกล้ที่จับนั้นจะบากลงและเหลาให้กลมแล้วเอาโลหะมาคล้องไว้อย่างหลวม ๆ เวลา "ผั่น" หรือปั่นให้ผั่นให้หมุนกับคอนนั้น จะมีเสียง"กลิ้ง ๆ"ตลอดเวลาไม้ผั่นนี้ใช้ผั่นหน้ากว่างให้วิ่งไปข้างหน้าเขี่ยข้างกว่างให้กลับหลังเขี่ยแก้มกว่างให้หันซ้ายหันขวา

ถ้ากว่างไม่ยอมสู้ก็จะใช้เจียดแก้มกว่างให้ร้อนจะได้สู้ต่อไป ในขณะที่ต้องการให้กว่างคึกคะนองหรือเร่งเร้าให้กว่างต่อสู้กันนั้นก็จะใช้ไม้ผั่นนี้  การผั่นใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางหมุนไปมากับคอนให้เกิดเสียงดัง  เพียงเท่านี้การละเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนานสำหรับเด็กๆ และผู้ใหญ่ก็เริ่มขึ้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเด็กๆ ส่วนน้อยในสมัยนี้ที่นิยมเล่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย

เด็กส่วนใหญ่จึงหันไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์แทนกีฬาพื้นบ้านชนิดนี้ ขณะที่ ททท. ที่ยังไม่ลืมกีฬาพื้นบ้าน "ชน กว่าง" นี้  จึงได้จัดงานเทศกาล "โลกของกว่าง นักสู้แห่งขุนเขา" เป็นงานที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของ อ.ปัว จ.น่าน ที่จัดขึ้นช่วงเดือน ก.. หรือ ต.. ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของ "กว่าง"  ผู้ที่ชื่นชมกีฬาพื้นบ้านชนิดนี้ก็เชิญเที่ยวชมเทศกาลนี้ได้

ส่วนบ้านเราที่เชียงใหม่ ย่านถนนทุ่งโฮเต็ล ก็เป็นย่านที่ผู้คนนิยมเล่นชนกว่าง และมีจำหน่ายกว่างหลากหลายสายพันธ์มีราคาตั้งแต่ 20 บาทไปจนถึง 1,000 บาท แล้วแต่ความแปลก และความสวยงามของกว่างหากเป็นเซียนกว่างที่เอาไว้ชน จะดูที่กว่างตัวโต เขาสวย

แม้วันเวลาจะผ่านไป โลกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร แต่ "กว่าง" ก็ยังเป็นนักสู้ที่มากับสายฝน และยังคงได้รับการอนุรักษ์และสืบสานกลายเป็นกีฬาภูมิปัญญาพื้นบ้าน วิถีชีวิตของชาวล้านนา ที่หาดูได้ง่ายในฤดูฝนของทุกปี.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท