Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ปรากฏการณ์กลุ่มเพื่อนมติชน" ซึ่ง "สมเกียรติ ตั้งนโม" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อธิบายว่า เปรียบเสมือนแรงอัดในขวดน้ำอัดลม ที่ดันจนฝาคือ "มติชน" เกิดระเบิดออกมานั้น นอกจากเป็นการระบายความอึดอัดของสังคมต่อสภาพขั้วอำนาจเดียว โดยมี "แกรมมี่" เป็นเสมือนตัวแทนฝ่ายผู้ใช้อำนาจที่เข้าครอบงำแล้ว ยังเป็นสิ่งยืนยันความมีอยู่ของ "พื้นที่สาธารณะ" ที่คนในสังคมไม่ยินยอมให้เพียงใคร หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยึดครองเป็นเจ้าของ โดยละเลยกฎกติกาของสังคมด้วย


 


ข้อมูลที่ปรากฏชี้ชัดว่า กระแสต่อต้านการเทคโอเวอร์มติชนแบบไม่เป็นมิตร เกิดขึ้นไม่เฉพาะวงการสื่อ มวลชน แต่เป็นความรู้สึกร่วมกันของกลุ่ม "ผู้อ่าน" มติชน ที่จ่ายเงินซื้อหนังสือพิมพ์รายวันฉบับนี้อย่างน้อย 8 บาทต่อวัน บ้างก็เป็นแฟนฉบับสุดสัปดาห์ เป็นคออ่านข่าวซีเรียสเชิงวิเคราะห์เจาะลึก เป็นกลุ่มที่อยู่ในหลายแขนงวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ นักวิชาการ สื่อมวลชน ลูกจ้าง นักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป


 


ซึ่งถือเป็นสื่อสารย้อนกลับของผู้อ่าน ในฐานะผู้ถือหุ้นตัวจริงของ "มติชน" ที่ไม่หวังผลกำไรในเชิงตัวเลข แต่ต้องการสื่อสาธารณะที่มีคุณภาพ และตอบคำถามกลุ่มผู้อ่านทางสังคมอย่างไม่มีปัจจัยเคลือบแคลง


 


ที่สำคัญ "กลุ่มเพื่อนมติชน" ได้ทลายตรรกะที่ผู้บริหารสื่อฯ ในกระแสทุนปัจจุบัน ใช้อธิบายทิศ ทางและนโยบายการกำหนดพื้นที่ข่าวประเภทต่างๆ ว่า ต้องมุ่งตอบสนอง "ผู้บริโภค" ซึ่งถูกตี ความอย่างจำกัดว่า เป็นกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทธุรกิจสนใจและซื้อพื้นที่เพื่อลงโฆษณาสินค้าของตัวเอง เป็นประการสำคัญ


 


เพราะหาก "มติชน" ไม่สามารถรักษาความเป็น "สื่อสาธารณะ" ของสังคมวงกว้างได้ ก็คงยากที่จะได้แนวร่วมที่หลากหลาย ดังเช่นที่ปรากฏอยู่


 


อย่างไรก็ตาม  การคลี่คลายของกรณีมติชน-บางกอกโพสต์ อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่การก่อร่างของ "สื่อสาธารณะ" น่าจะทำให้สื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักถึงความสำคัญของการเป็น "ส่วนหนึ่งของสังคมส่วนรวม" ที่เป็นจริงมากขึ้น ทั้งนี้มิใช่การสร้างเกราะป้องกันเฉพาะ "สื่อ"แต่ละฉบับ แต่ละช่องหรือบางคลื่น จากการถูกแทรกแซงจากการเมืองหรือธุรกิจเท่านั้น


 


แต่ในยุคที่สังคมไทยตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกันคือ ถูกดูดกลืนเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์  และสื่อถูกคาดหวังว่าจะสร้างความรู้เท่าทันและความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมในทุกๆ ด้านนั้น  อย่างน้อยที่สุดสื่อต้องทำหน้าที่เป็น "พื้นที่สาธารณะ" อย่างแท้จริง ทั้งนี้มิใช่เป้าหมายอื่นไกล แต่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม


 


กล่าวอย่างถึงที่สุด "พื้นที่สาธารณะ" มีส่วนสัมพันธ์และทำให้ "การเมืองภาคประชาชน" ขับเคลื่อนได้อย่างเป็นจริง


 


เพราะบน "พื้นที่สาธารณะ"เท่านั้น ที่ภาคประชาชนจะปรากฏตัว แสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืนทางการเมือง รวมถึงบอกกล่าวเจตจำนงต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีพลัง


 


"ประชาไท" ขอปวารณาตัวเป็น "พื้นที่สาธารณะ" เพื่อผลักดันให้ "การเมืองภาคประชาชน" เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net