Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จุดจบแห่งแกรมมี่-มติชน อาจจะลงเอยด้วยวิวาห์อันหวานชื่น หรืออาจจะเป็นเพียงฉากรักอันขมขื่น ระหว่าง นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย (มหาชน) กับ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) อย่างที่ใครหลายคนตั้งข้อสังเกตแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนักคิด


 


แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีการซื้อหุ้น บมจ.มติชน หรือ บมจ. โพสต์ พับลิชชิง ก็เปรียบเสมือนตำราเรียนเล่มใหญ่ ที่จะชี้นำการดำรงชีวิตสำหรับสื่อมวลชนรุ่นใหม่ภายใต้กระแสธารแห่งเศรษฐกิจแบบทุนนิยม


 


ในขณะที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาแสดงการต่อต้านการเข้าซื้อหุ้นมติชนของแกรมมี่ แต่ในอีกมุมหนึ่งของสังคมก็มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งออกมาตั้งคำถามในทำนองที่ว่า "เมื่อไม่อยากให้ใครมาซื้อหุ้น แล้วเอาเข้าตลาดหุ้นทำไม" คำถามเหล่านี้ปรากฏอยู่บนเว็บบอร์ด และวงสนทนาประสาชาวบ้านทั่วๆ ไปซึ่งพบได้ไม่ยากนัก รวมทั้งนายกรัฐมนตรีของไทย


 


หากถามถึงความผิดตามกติกาตลาดหลักทรัพย์ นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาบอกว่า "การเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตรในกรณีนี้ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย แต่ไม่ได้เกิดบ่อยครั้งนักสำหรับวัฒนธรรมของไทย"


 


และบางคนยังถึงขนาดออกมาระบุว่า พฤติกรรมของแกรมมี่ และมติชน อาจเป็นไปตาม "ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด" คือเป็นความจงใจของผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายที่จะปั่นราคาหุ้น ซึ่งทำกันบ่อยในต่างประเทศ ผู้ที่ออกมาเสนอแนวคิดนี้ก็คือ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ประธานบริหารเครือโอเรียนเต็ล มาร์ท กรุ๊ป จำกัด ประเทศอังกฤษ ขาประจำอีกคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


 


ไม่ว่าใครจะผิดหรือถูกประการใดคงไมใช่หน้าที่ที่จะเข้าไปตัดสิน แต่ต้องยอมรับว่าการนำธุรกิจสื่อเข้าตลาดหุ้น เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกครอบงำจากนายทุนใหญ่ ซึ่ง ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยให้สัมภาษณ์ ว่า


 


"การนำสื่อสิ่งพิมพ์เข้าตลาดหุ้น โดยโครงสร้างเป็นเรื่องล่อแหลมต่อการถูกครอบงำ เพราะใครเป็นเจ้าของก็ได้" เพราะพื้นที่ของตลาดหุ้นเป็นพื้นที่สำหรับการลงทุน วัดผลสำเร็จกันด้วยกำไร


 


ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และนักวิชาการในประเทศไทย ต้องออกมาหาทางป้องกันการครอบงำสื่อทั้งจากอำนาจทุน และอำนาจการเมือง โดยหยิบยกกรณีของมติชน-โพสต์ ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อร่างกฎหมายคุ้มครองสื่อ


 


นักวิชาการอย่าง ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาเสนอให้มีการร่างกฎหมายคุ้มครองสื่อ โดยศึกษาตัวบทกฎหมายจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เช่น การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสำหรับลูกจ้างในองค์กรสื่อ กฎหมายที่แยกอำนาจผู้ถือหุ้นออกจากกัน ระหว่างฝ่ายผู้บริหาร กับฝ่ายวิชาชีพเพื่อไม่ให้มีอิทธิพลต่อกัน การก่อตั้งสหภาพแรงงานของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เป็นต้น


 


ผศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกมาเสนอว่า ควรมีการตั้งสหภาพเพื่อรักษาความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ และต้องสื่อต้องสร้างพันธมิตรทางการเงิน


                                    


การหยิบยกตัวบทกฎหมายของยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการออกกฎหมายคุ้มครองสื่อไม่ว่าจะเป็นกรณีการถือหุ้นข้ามสื่อ หรือเพื่อปกป้องการถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ หรือทุน อาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่เหมาะสำหรับการดูแลสื่อที่นำตนเองไปผูกโยงอยู่ในตลาดหลักทรัพย์


 


แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การร่างกฎหมายให้ครอบคลุม ปกป้องการดำเนินงานของสื่อให้เป็นอิสระจะได้ผลหรือไม่ เพราะเมื่อย้อนไปดูประเทศต้นแบบของกฎหมายที่นักวิชาการพูดถึง ไม่ว่าจะในยุโรปหรืออเมริกากลับพบว่า ในประเทศเหล่านั้นก็มีการยึดครองสื่อ หรือมีการถือหุ้นข้ามสื่ออย่างมากมาย จนทำให้ธุรกิจสื่อสารมวลชน กระจุกตัว (concentration) อยู่ในมือของนักธุรกิจเพียงไม่กี่กลุ่ม


 


ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ ให้ข้อมูลไว้ว่า จริงอยู่ที่อเมริกาเคยมีกฎหมายห้ามถือครองหุ้นสื่อข้ามประเภท เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อการครอบงำทัศนคติของคนในสังคม แต่หลังจากปี 1996 อเมริกาก็มีกฎหมายฉบับใหม่ที่เรียกว่า Telecommunacation Act เหมือนกับพระราชบัญญัติโทรคมนาคมในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องของคลื่นความถี่วิทยุ กฎหมายนี้ทำให้เกิดการครอบครองกิจการข้ามสื่อได้ โดยเฉพาะสื่อที่ใช้คลื่นความถี่ในการส่งสัญญาณ หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงมีการควบรวมกิจการเยอะมากในอเมริกา ซึ่งมันเป็นเรื่องของกระแสโลก


 


ส่วน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว.สุพรรณบุรี ผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างกฎหมายหลายมาตราที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพสื่อในรัฐะรรมนูญ ก็เคยยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ของโลกไว้ 4 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม Disney Capital Cities ในประเทศสหรัฐอเมริกา, กลุ่ม AOL TIME WARNER (อเมริกา), กลุ่ม Rupert Merdoch (ออสเตรเลีย) , กลุ่ม บาร์เทิล มานน์ (เยอรมัน)  ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีเครื่องมือสื่อสารทั้งสถานีโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ต ทั้งในประเทศของตนเอง และประเทศอื่นๆ ทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย


 


ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ไม่แน่ใจว่า การหยิบยกตัวอย่างกฎหมายของสหรัฐอเมริกา และยุโรป ขึ้นมาเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายคุ้มครองการทำงานของสื่อมวลชนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามถือครองหุ้นข้ามสื่อ หรือการสร้างจริยธรรมในตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด


เพราะดูเหมือนว่าประเทศต้นแบบเองก็ไม่สามารถที่จะยุติสิ่งเหล่านี้ได้


 


ประเด็นนี้เองที่ทำให้เห็นว่าการนำสื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็คือ "กระบวนการทำให้ (สื่อ) เป็นสินค้า (commodification) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงสิ่งของที่มีมูลค่าในการใช้สอย (use-value) ไปสู่สิ่งของใหม่ที่มีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange-value) ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของการผลิตในระบบทุนนิยมเพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าส่วนเกิน (surplus-value) สำหรับการสะสมทุน"


 


"เมื่อสื่อสารมวลชนเป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดำเนินการทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามตรรกะของทุน และมรรควิธีของระบบทุนนิยม ยิ่งไปกว่านั้น การที่สื่อเป็นสถาบันย่อยที่มีอิทธิพลสูงของระบบทุนนิยมทั้งหมด สถาบันสื่อจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ธำรงรักษาการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยม ดังนั้นการคาดหวังว่าสื่อจะทำตามความต้องการของประชาชนโดยส่วนใหญ่จึงดูจะเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน" (รศ.ดร.กนกศักดิ์ แก้วเทพ : เศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อสารมวลชน)


 


ทางออกของสื่อยุคใหม่ : สื่อทางเลือก


 


ขณะที่นักวิชาการและสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า การร่างกฎหมายเป็นทางออกในการป้องกันการครอบงำสื่อ แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งก็มีข้อเสนอเกี่ยวกับทางเลือกที่สื่อจะสามารถดำรงตนให้อยู่บนความเสรีได้โดยที่ไม่ต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ภายในระบบ หรือเป็นสื่อภาคประชาชน ก่อตั้งโดยประชาชน ภายใต้แนวคิด สื่อพลเมือง (Citizen"s Media)


 


- นสพ.ฮันเกียวเร สื่อของประชาชนเกาหลี


หนังสือพิมพ์ฮันเกียวเร เกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชนเกาหลี 10 ล้านคนปฏิวัติขับไล่ประธานาธิบดีซุนดูวอน ได้สำเร็จ ในปี 1987 จึงได้มีการเรียกร้องสื่อเสรีขึ้น โดยมีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 3,344 ราย ทั้งที่เป็นนักศึกษา ศิลปิน และนักการเมือง


 


ปี ค.ศ.1980 มีการระดมเงินจากประชาชนได้ 5,000 ล้านวอล (125 ล้านบาท ในขณะนั้น) ตั้งเป็นกองทุน ก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระภายใต้ชื่อ "ฮันเกียวเร" โดยจำหน่ายในราคาเล่มละ 100 วอล (10 สลึง หรือ 2.50 บาท) มียอดจำหน่าย 500,000 ฉบับ ค.ศ.1988 นักศึกษา ปัญญาชน สนใจเข้าร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ ฮันเกียวเร จำนวนมาก แม้รายได้จะน้อย


 


ปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ฮันเกียวเร มีสมาชิกถือหุ้น 65,000 คน ดำรงความเป็นอิสระจากกลุ่มทุนธุรกิจ และการเมือง มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานของหนังสือพิมพ์ฮันเกียวเร ซึ่งถือว่าเป็นสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งมากในประเทศเกาหลี (ใต้) ในกองบรรณาธิการมีความเป็นอิสระ เนื่องจากจะใช้ระบบเลือกตั้งผู้บริหาร คณะกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมถึงเลือกตั้งบรรณาธิการ ซึ่งจะมีวาระ 2 ปี


 


- Oh My News ข่าวของ "ฉัน" คนเกาหลี


Oh My News หนังสือพิมพ์ออนไลน์ในประเทศเกาหลี ก่อตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดเรื่องสื่อพลเมือง (Citizen"s Media) คือให้ประชาชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ เป็นผู้อ่าน เป็นผู้เขียน หากชื่นชอบงานเขียนของใครก็สามารถสนับสนุนเงิน หรือสามารถที่จะเขียนส่งเข้าไปเองก็ได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูได้ใน www.ohmynews.com ส่วนใหญ่เนื้อหาจะเป็นภาษาเกาหลี แต่มีบางส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษ และนับว่าเป็นสื่อทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งภายใต้สังคมโลกาภิวัตน์


 


แม้ทางออกของสื่อมวลชนไทยวันนี้อาจจะดูว่ามีให้เลือกอยู่ 2 ทาง ระหว่างการนำตนเองเข้าสู่ระบบทุนนิยม แล้วร่างกรอบกฎหมายคุ้มครอง กับการผลักดันให้สื่อเข้าไปอยู่ในมือของประชาชนเพื่อให้พวกเขาร่วมกันต่อสู้กับสื่อที่มีแบรนด์ กระแสหลัก แต่สิ่งเหล่านี้มันอยู่ที่ว่าตัวของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเองให้นิยามคำว่า "สื่อ" เป็นของ "ใคร" ระหว่าง "สื่อ" ของ "สื่อ" หรือ "สื่อ" ของ "ประชาชน"  ระหว่างเสรีภาพของสื่อ กับ เสรีภาพของประชาชน ตัวสื่อมวลชนเองจะเลือกนิยามคำเหล่านี้ว่าอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net