Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความตื่นตัวของผู้คนทั่วไปที่มีต่อนวัตกรรมใหม่อย่างกูเกิ้ลเอิร์ธ  ถือว่าเป็นปรากฏการณ์เล็กๆในสังคมซึ่งมีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย  หลังจากจ้าวแห่งผู้ให้บริการด้าน  search  engine  อย่าง  google.com  เปิดตัวบริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ในรูปแบบของภาพถ่ายดาวเทียมผ่านทางเว็บไซต์  earth.google.com  เมื่อเดือนกรกฎาคม 2005  ถึงเวลานี้ผ่านไปเพียงแค่ 2 เดือน  แทบไม่มีใครไม่รู้จักกูเกิ้ลเอิร์ธ


            สัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์  อาจจะพอเป็นคำอธิบายอย่างง่ายได้สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าว  การได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ต่างๆบนโลกอย่างอิสระผ่านสายตาพระเจ้าที่มองจากเบื้องบนลงมายังโลกมนุษย์  แม้เทคโนโลยีที่ว่านี้จะมีมานานแล้ว  แต่น้อยคนนักที่จะเคยมีโอกาสได้สัมผัสภาพเหล่านั้น  บางทีอาจให้ความรู้สึกคล้ายกับว่า  "ใครๆก็บินได้"


            ในโลกของไซเบอร์สเปซ  สังคมเว็บบอร์ดยอดนิยมระดับประเทศอย่าง  pantip.com  มีการก่อตัวขึ้นของสังคมย่อยที่พูดคุยกันในเรื่องเกี่ยวกับกูเกิ้ลเอิร์ธโดยเฉพาะ  กลุ่มย่อยดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า  "google  earth  คลับ"  อยู่ในโต๊ะสนทนาหว้ากอ  พื้นที่สำหรับพูดคุยเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


            ชายหนุ่มผู้ใช้ชื่อว่า  Mr.T  บอกเล่าให้ฟังผ่านเว็บบอร์ดถึงกิจกรรมงานอดิเรกของเขาและเพื่อน  ซึ่งตั้งชมรมร่มบินเชียงใหม่  และใช้พื้นที่แถบบ่อสร้างสำหรับการขึ้นบินโดยใช้ร่มบิน  กูเกิ้ลเอิร์ธจึงมีประโยชน์ในการวางแผนเส้นทางการบิน  สามารถกำหนดได้ว่าจะหลบหลีกภูเขาอย่างไร  ควรร่อนลงตรงจุดไหน  และมีระยะทางเท่าไร  รวมทั้งสามารถบอกนักบินได้ว่าบริเวณไหนที่ห้ามบินเข้าไป  เช่น  เขตพระตำหนักฯ  เขตสนามบิน  เป็นต้น


            กิจกรรมในเว็บบอร์ดดังกล่าว  ประกอบด้วยการโพสต์ภาพสถานที่ที่น่าสนใจซึ่งแต่ละคนไปสำรวจมา  การสอบถามพิกัดสถานที่ที่อยากเข้าไปสำรวจ  บางครั้งก็อาจเป็นการขอความเห็นยืนยันสถานที่ในภาพที่ตัวเองไปดูมา  รวมทั้งการสอบถามวิธีการใช้งานกูเกิ้ลเอิร์ธ


            วิธีการใช้งานนั้นถือว่าไม่ยาก  เริ่มจากการดาวน์โหลดโปรแกรม  google  earth  จากเว็บไซต์  earth.google.com  เสร็จแล้วเพียงแค่เปิดโปรแกรมและเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้แล้ว  ตัวโปรแกรมสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี  แต่ความละเอียดของภาพและความสามารถในการใช้งานก็จะมีอยู่อย่างจำกัด  หากต้องการความละเอียดและความสามารถที่เพิ่มขึ้นต้องมีการอัพเกรดซึ่งต้องมีค่าใช้จ่าย  โดยการอัพเกรดมีอยู่สองระดับ  ได้แก่  google  earth  plus  ในราคา 20 เหรียญสหรัฐฯ  และ  google  earth  pro  ในราคา 400 เหรียญสหรัฐฯ


            หน้าตาของโปรแกรมค่อนข้างเรียบง่าย  ไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด  การสำรวจพื้นที่อาจใช้การระบุพิกัดเพื่อเข้าสู่พื้นที่ที่ต้องการโดยตรง  หรืออาจค่อยๆซูมเข้าไปเรื่อยๆจากระดับทวีป  ประเทศ  ภูมิภาค  จังหวัด  ซึ่งสำหรับเมืองเชียงใหม่นั้นหาได้ไม่ยากเลยแม้จะไม่ทราบพิกัดที่แน่นอน  ด้วยแลนด์มาร์คที่ชัดเจนอย่างเขตคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  และในด้านของความคมชัดนั้นน่าจะถือว่าละเอียดกว่าพื้นที่อื่นๆของประเทศยกเว้นกรุงเทพมหานคร


            นักศึกษาปริญญาโทด้านภูมิศาสตร์รายหนึ่ง  บอกเล่าเกี่ยวกับกูเกิ้ลเอิร์ธว่าภาพที่นำมาเผยแพร่นั้นไม่ถือว่ามีความละเอียดสูง  และเป็นภาพที่ถ่ายไว้เป็นเวลานานมาแล้ว  ลองนึกภาพดูว่าดาวเทียมดวงหนึ่งต้องถ่ายภาพโลกทั้งใบ  ย่อมต้องใช้เวลาพอสมควร  ในบางพื้นที่จึงอาจมีรอบการถ่ายภาพซ้ำที่ค่อนข้างยาวนาน  อาจถึง 10 ปี  ความละเอียดของภาพถ่ายทางอากาศวัดกันเป็นเมตรต่อพิกเซล  โดยดูว่าใน 1 พิกเซลนั้นครอบคลุมพื้นที่จริงรูปสี่เหลี่ยมขนาดเท่าใด  โดยวัดจากความยาวเส้นทะแยงมุมของพื้นที่ดังกล่าว  ภาพที่เผยแพร่ฟรีในกูเกิ้ลคาดว่ามีความละเอียดสูงสุดประมาณ 8 เมตรต่อพิกเซล  สำหรับการศึกษาด้านวิชาการภูมิศาสตร์  รูปแบบของภาพที่ใช้จะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา  ความละเอียดสูงสุดนั้นสามารถอ่านตัวอักษรในหนังสือได้ทีเดียว  และเทคโนโลยีระดับนี้ก็มีมานานมากแล้ว  แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก  ข้อมูลดังกล่าวจึงใช้ในการศึกษา  การทหาร  และในเชิงพาณิชย์เท่านั้น  ไม่ได้เผยแพร่ทั่วไป  แน่นอนว่ารวมถึงเหตุผลด้านความมั่นคงด้วย


            "พลเมืองเหนือ"  ฉบับนี้ได้นำเสนอเรื่องเวียงเจ็ดลิน  ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นสัณฐานที่เป็นวงกลมราวกับลากด้วยวงเวียนของเมืองโบราณดังกล่าว  สร้างความพิศวงอย่างยิ่งว่า  คนในยุคเมื่อกว่าพันปีก่อนนั้นสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาด้วยวิธีใด  เมืองเชียงใหม่ที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้นว่ายากแล้ว  แต่เวียงเจ็ดลินที่เป็นวงกลมนั้นยิ่งยากกว่าหลายเท่า


            หรือหากมองไปถึงพื้นที่การพัฒนาตามโครงการต่างๆของภาครัฐ  ที่เกิดข้อโต้แย้งถึงผลกระทบ  ความไร้ทิศทาง  การขาดการวางแผนที่ดี  เมื่อได้ภาพถ่ายทางอากาศเหล่านี้  การปะติดปะต่อเรื่องราวก็เป็นไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น  สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างไร  เป็นที่ตั้งของสถานที่ใดบ้าง  ซึ่งอาจมีความสำคัญอย่างยิ่งแต่กลับถูกละเลยที่จะคำนึงถึง


            ที่สำคัญคือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้  และนั่นหมายถึงว่าการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.


 


อธิบายภาพ


1.    ร่มบินเดินทางผ่านพื้นที่เกษตรกรรมในเขตจังหวัดเชียงใหม่  ภาพถ่ายดาวเทียมจากกูเกิ้ลเอิร์ธมีประโยชน์มากสำหรับวางแผนการเดินทางของนักบินสมัครเล่นเหล่านี้


2.    การวางแผนการบินโดยการลากเส้นทางเชื่อมระหว่างฐานบินและจุดเป้าหมาย  เมื่อสำรวจตามเส้นทางที่ลากไว้จะทำให้ทราบว่าต้องผ่านที่ไหนบ้าง  รวมทั้งสามารถคำนวณระยะทางได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net