Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 กันยายน 2548 ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส คณะทำงานสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ ของคณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ โดยมีพล.อ.ณรงค์ เด่นอุดม ประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นองค์ปาฐก มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำเยาวชนและผู้นำสตรีจาก 14 อำเภอในจังหวัดนราธิวาส



ระหว่างการจัดเวลาที่ได้มีได้มีกลุ่มวัยรุ่นและชาวบ้าน 18 คน จากหมู่ที่ 4 ตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ได้ติดต่อของพบ พล.อ.ณรงค์ เพื่อร้องเรียนกรณีถูกผู้ใหญ่บ้านกดดันให้ออกมามอบตัวต่อทางราชการทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ แต่ไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผยตัวเพราะกลัวจะได้รับอันตราย



จากนั้นนายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ คณะทำงานชุดดังกล่าว จึงเดินทางไปพบกับวัยรุ่ยกลุ่มดังกล่าวที่อำเภอสุไหงปาดี แต่มีวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวมาพบเพียง 7 คน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง

หนึงในวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าว ระบุว่า ตนเป็นบัณฑิตเอื้ออาทรของตำบลริโก๋ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปลัด อำเภอสุไหงปาดี มาแจ้งกับตนว่าตนมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่ ส่วนคนอื่นอีก 12 คนได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ว่ามีชื่ออยู่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ให้ออกมามอบตัวกับนายอำเภอ แต่ห้ามนำเรื่องดังกล่าวไปบอกกับผู้ปกครอง แต่เมื่อตนกับพวกไปขอตรวจดูบัญชีรายชื่อทั้งหมดกลับได้รับการปฏิเสธ



ชายคนดังกล่าว กล่าวอีกว่า เหตุที่ตนและพวกมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องอาจเนื่องมาจาก ตนกับพวกอยู่รวมกันเป็นกลุ่มซึ่งกลุ่มของตนมีด้วยกัน 4 คน โดยเป็นอุสตาซที่โรงเรียนรอมาเนีย อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส 2 คน ทำกิจกรรมการร่วมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยกัน ส่วนคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็อยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นคนที่มีความรู้และมีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง



เขากล่าวต่อว่า เหตุที่มาร้องเรียนเนื่องจากเกรงว่าอาจจะได้รับความไม่ปลอดภัย และหากจะไปรายงานตัวต่อทางราชการ อยากไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เพราะถูกกดดัน และเมื่อออกไปแสดงตัวแล้วก็ไม่อยากให้ระบุว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบที่ออกมามอบตัวกับทางราชการ และตนทราบมาอีกว่าในตำบลอื่นในอำเภอสุไหงปาดี มีคนที่ถูกกดันให้มอบตัวกับทางราชการอีกหลายคน



จากนั้น นายอับดุลอาซิซ ได้นำเรื่องพร้อมรายชื่อทั้ง 13 คน ไปแจ้งต่อ พล.ณรงค์ ซึ่งพล.อ.ณรงค์กล่าวตนพอจะทราบเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และรับที่จะนำไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) เพื่อหาทางออกให้กับทั้ง 14 คน


 


ส่วนในเวทีรับฟังความเห็นพล.อ.ณรงค์ กล่าวในการปาฐกถาว่า ปัญหาเฉพาะหน้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 3ประเด็น คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในพื้นที่ด้วยความไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐส่วนน้อย และความหวาดระแวง ซึ่งเกิดจากการปล่อยข่าวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่ามีหลายเหตุการณ์เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ



พล.อ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น เนื่องจากความไม่ต่อเนื่องของนโยบายรัฐ เช่น การเปลี่ยนนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2544 โดยการยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ทำให้เกิดช่องว่างขึ้น กลุ่มก่อความไม่สงบจึงมีโอกาสได้ฟื้นตัวกลับคืนมาอีกครั้ง กรณีการได้รับเอกราชของตีมอร์ตะวันออก ทำให้เกิดความฮึกเหิมต่อการต่อสู้เพื่อเอกราชของปัตตานี



พล.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี น่าจะได้ผล ซึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติตั้งขึ้นมาเพียงไม่กี่เดือนคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันที เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการสร้างความสันติสุขและต้องยอมรับความจริง แต่จะไปเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ แก้ปัญหาให้ได้ทันทีคงไม่ได้



ต่อมาในช่วงบ่าย ได้มีการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อแสดงความเห็นและเสนอแนะต่อการจัดกิจกรรมสนับสนุนการเสริมสร้างความสมานฉันท์ โดยแต่ละกลุ่มมีขอเสนอหลักได้แก่ ให้ทำความเข้าใจกับจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของชาวมุสลิมในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนถือศีลอด ให้เชิญเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกิจกรรมสร้างความสมานฉันท์ร่วมกับชาวบ้านด้วย มิใช่จัดแต่ฝ่ายชาวบ้านอย่างเดียว



นายมูฮัมหมัด อาดำ ประธานคณะทำงานฯ เปิดเผยว่า หลังจากนี้คณะทำงานจะลงไปจัดเวทีและจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในระดับตำบลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net