รำลึก 4 ปี แห่งการจากไป ของ "จรัล มโนเพ็ชร" กับความฝัน "หอศิลป์สล่าเลาเลือง"-รายงานพิเศษ

1.

            หม่นมัวดวงดาวลับลา
            แผ่วลมเหนือมาไกลๆ
            ยังพรมแต่ความหนาวถึงใน…
            ดวงใจที่อ่อนล้า

            ทุกครั้งที่ความมืดคลาย
            หมายถึงวันที่ดีกว่า…
            คือโอกาสชีวิตให้เราฟันฝ่า
            ขอบฟ้ามีตะวัน…

บทเพลง"ลมเหนือ"ของ"จรัล มโนเพ็ชร" ศิลปินอัจฉริยะแห่งล้านนา แว่วมาให้ได้ยิน  ไม่รู้ว่าใครเปิดเพลงนี้ขึ้นมาในห้วงยามนี้  ลำนำเพลงพัดมากับสายลมดึก  แว่วมาแต่ไกล...พลอยทำให้รู้สึกไห้หวนคำนึงถึงเขาอีกครั้ง  ใช่, 3 กันยายน ปีนี้  ครบรอบ  4  ปีแห่งการจากไปของเขา 

หากย้อนวันเวลากลับไปในเช้าตรู่วันนั้น หลายคนคงจดจำกันได้ เมื่อยินเสียงเพลงของ จรัล  มโนเพ็ชร  แว่วดังไปทั่วทั้งประเทศ  สถานีวิทยุทุกสถานีพร้อมเปิดเพลงเปิดใจให้ผู้ฟังทางบ้านได้ยิน   มีทั้งเสียงเพลงอันสดใส  เปี่ยมพลังและความหวัง  อีกทั้งลำนำเพลงเศร้าสะท้านสั่นไหว  โศกาอาดูร

จริงสิ,เราทุกคนต่างได้ยินเสียงเพลงของเขา  โทรทัศน์ทุกช่องต่างพร้อมใจกันรายงานข่าวให้ทุกคนรับรู้ว่า "จรัล  มโนเพ็ชร  เสียชีวิตแล้วเมื่อเช้ามืดวันนี้"  เป็นการจากไปอย่างกระทันหัน เมื่อย่ำรุ่งเช้าวันที่ 3 กันยายนปี พ.. 2544 ที่บ้านหลังน้อยซึ่งเขาตั้งชื่อตามเพลงของเขา "บ้านดวงดอกไม้"

และใครบางคนบอกว่า- -จรัลจากไปเสมือนเขาเดินออกจากประตูโลกไปตามลำพัง

วันที่ 8 กันยายน 2544 เป็นวันส่งสการของชาวเหนือ วันพระราชทานเพลิงศพศิลปินล้านนา บริเวณสุสานบ้านหลวย  จังหวัดลำพูน  หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "พลเมืองเหนือ" ลงภาพของจรัลบนปกหน้าและเขียนไว้อาลัยว่า " เสียงพระอ่านธรรม ขอปี้อ้ายไปดี"

 

2.

"จรัล มโนเพ็ชร" เป็นบุตรของพ่อน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร กับ นางต่อมคำ มโนเพ็ชร ณ เชียงใหม่
กำเนิดเมืองวันจันทร์ ที่ 1 มกราคม พ.. 2494  ที่เฮือนหลวงของแม่ต่อมคำ  ถนนพระปกเกล้า  อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ครอบครัวมโนเพ็ชร  อาศัยอยู่ในย่านประตูเชียงใหม่ ในวัยเด็กจรัลเข้าเรียนที่.โรงเรียนพุทธิโสภณ ไม่ไกลจากบ้านของเขานัก ต่อมาจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเมตตาศึกษา ทั้งสองโรงเรียนอยู่ใกล้ๆกันกันอยู่ในย่านที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า "กลางเวียง"

จรัล  เติบโตอยู่ในย่านนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์แห่งชาติพันธุ์ของเขา ของล้านนา เขาเรียนอยู่ที่นี่ ใกล้กับวัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นกู่บรรจุอัฐิของพญากือนา ความรู้สึกของจรัลเขาเชื่อว่าเจดีย์หลวงแห่งนี้งดงามและยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปิรามิดของไคโร

จรัลมักรู้สึกเช่นนี้กับศิลปะหลายอย่างของล้านนา เมื่อเขาเปรียบเทียบวัดเจดีย์หลวงกับปิรามิดแห่งไคโร ก็เช่นกันกับที่เขาเชื่อว่าบทเพลงเก่าแก่ของชาวล้านนา "เพลงเชียงแสน" ก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เพลงคลาสสิคของโมสาร์ทที่มีชื่อก้องโลก

 

3.

เมื่อพูดถึง "จรัล  มโนเพ็ชร" คนส่วนใหญ่จะรู้จักและชื่นชมเขา ในความเป็นศิลปินด้านนักร้อง  นักดนตรีล้านนา  แต่เมื่อค้นหาตัวตนของเขาให้ลึกลงไปข้างใน  จะพบว่า  จรัล  มโนเพ็ชร  มีความเป็นศิลปินอยู่ในสายเลือดเกือบทุกอณูในชีวิตก็ว่าได้

 

เมื่อย้อนกับไปดูผลงานด้านการแสดงที่ผ่านมา จนถึงปีพ.ศ.2544  เขามีผลงานฝากเอาไว้มากมาย  ไม่ว่าจะเป็นผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์และสารคดี  เราลองไล่เรียงดูตั้งแต่ต้นจนวาระสุดท้ายในชีวิตเขา...

สารคดีองค์การยูนิเซฟเพื่อรณรงค์ต่อต้านการประกอบอาชีพโสเภณีของสาวเหนือ  สารคดีโทรทัศน์พุกามประเทศ-เชียงตุง-อาณาจักรล้านนา  และสารคดีโทรทัศน์...รายการมาลัยชีวิต 

ภาพยนตร์...ภาพยนตร์บุญชูผู้น่ารักและบุญชูทุกภาค  เขาชื่อกานต์...คนทรงเจ้า...วิถีคนกล้า...ยิ้มนิดคิดเท่าไหร่...กาเหว่าที่บางเพลง...อนึ่ง…คิดถึงพอสังเขป…โก๊ะจ๋า…ป่านะโก๊ะ

ด้านละครโทรทัศน์  มีทั้ง ละครเรื่อง"เจ้านาง" ...เหตุเกิดเมื่อคืนหนึ่ง...ระเริงชลและละครเรื่อง เวลาในขวดแก้ว


และแน่นอน- -ผลงานการแสดงของเขานั้น  หลายคนเชื่อมั่นในฝีมือของเขาอย่างยิ่งว่า  จรัล  มโนเพ็ชร นั้น  มีศิลปะการแสดงที่มีฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดาและไม่มีใครเหมือน  ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากเกียรติคุณที่เขาได้รับมากมายและต่อเนื่อง

จากสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย  เมื่อปี พ..2524
จากองค์การยูนิเซฟ ศิลปินสันติภาพ เมื่อปี พ.. 2524
จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี พ.. 2525
จาก สยช. รางวัลบทเพลงดีเด่น 3 รางวัล คือ ปีพ.. 2524 - 2525 - 2536
รางวัลตุ๊กตาทอง เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บุญชูผู้น่ารัก ปี พ.. 2530
บุญชูสองน้องใหม่ ปี พ.. 2532  และรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ แสดงนำชายยอดเยี่ยม "ด้วยเกล้า" ปี พ.. 2530

นอกจากนั้น  จรัล  มโนเพ็ชร  ยังได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นทางด้านการใช้ภาษา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เมื่อปี พ.. 2537  และได้รับรางวัล  ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ปี พ.. 2540   รวมทั้งได้รับรางวัลจากชมรมวิจารณ์เพลงแห่งประเทศไทย เพลงประกอบภาพยนตร์ "วิถีคนกล้า"

ที่หลายคนให้ความสนใจ  ในความโดดเด่นด้านศิลปะดนตรีในยุคหลังของเขามากที่สุด  นั่นคืออัลบั้มงานชุด "ศิลปินป่า"  ซึ่งอัลบั้มงานชุดนี้  ได้รับรางวัลหลายรางวัลจากบทเพลงชุดนี้ คือ
รางวัลสีสันอะวอร์ด 3 รางวัล ในฐานะ นักร้องนำชายยอดเยี่ยม - บทเพลงยอดเยี่ยม - เรียบเรียงเพลงยอดเยี่ยม

รางวัลพิฆเนศทองคำพระราชทานครั้งที่ 1  รางวัลจากชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม
รางวัลจากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ  และผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ปี พ.. 2540 จากจังหวัดเชียงใหม่และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

ว่ากันว่า  นอกจากที่ได้บันทึกผลงานและรางวัลไล่เรียงจากข้างบนลงมานั้น   จรัลยังได้รับโล่ห์รางวัลหรือการประกาศเกียรติคุณอีกมากมายจนไม่อาจนำมาบันทึกไว้ได้หมด  ซึ่งปัจจุบัน  ได้เก็บไว้ที่บ้านดวงดอกไม้ในจังหวัดลำพูนส่วนหนึ่ง และอยู่ที่บ้านในกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่ง

 

4.

 "ล้านนาซิมโฟนี" เป็นผลงานสุดท้ายที่เขาฝากไว้กับแผ่นดินล้านนา-ไทย  ซึ่งหลายคนที่ได้ยินได้ฟัง ซิมโฟนีล้านนาชุดนี้  ต่างกล่าวขวัญกันว่า  เป็นผลงานที่คลาสสิคที่สุดและเป็นผลงานที่เขาได้ฝากฝีไม้ลายเสียงดนตรีที่เขาทั้งแต่ง  เรียบเรียง เล่นเครื่องดนตรีหลายสิบชิ้นเองทุกชิ้น 

 

ก่อนเข้าห้องอัด  เขานำตัวตน  ชีวิต  ผสานผสมจิตวิญญาณกลั่นออกมาเป็นบรรเลงเพลงที่ยิ่งใหญ่  เสียงเครื่องดนตรีล้านนาผสานเครื่องดนตรีตะวันตกหวานอ้อยสร้อย  นิ่ง  ดิ่งลึกและเยียบเย็น  ทว่า  มันขายในวงจำกัด  แต่ก็ทำให้เริ่มมีเงินเล็กน้อยก่อสานความฝัน...ฝันที่จะหาเงินเพื่อสร้าง "หอศิลป์สล่าเลาเลือง"

 

จรัล  มโนเพ็ชร  มีความฝันเอาไว้ว่า  สักวันหนึ่ง...หอศิลป์สล่าเลาเลือง  จะก่อร่างรูปทรงอยู่บนผืนแผ่นดินล้านนา  เพื่อเป็นสถานที่สะสมผลงานของ สล่า หรือช่างล้านนา  เป็นสถานที่แสดงงานศิลป์  จิตรกรรม  สถาปัตยกรรม  วรรณกรรม  และดนตรีของล้านนาเอาไว้ไม่ให้มันสูญหาย  หอศิลป์สล่าเลาเลือง  ได้กลายเป็นความฝันสุดท้ายของเขา  ที่ทำให้หลายๆ  คน  ต่างให้คำมั่นสัญญากันว่า...เราต้องร่วมกันสานต่อความฝันนี้

 

"เงินทุกบาททุกสตางค์จะสมทบทุนเข้ากองทุน  เพื่อนำไปสร้างหอศิลป์  เก็บงานที่เล็ดลอดจากการถูกเก็บ  ถูกเห็น  ถูกเชิดชู  งานที่ถูกมองข้าม  ซึ่งทำให้เราเว้าแหว่งในวัฒนธรรมมาโดยตลอด  เพราะเราลืม  เช่น  งานดินปั้น  รูปเขียน  งานสานกระบุง  ตะกร้า  งานผ้าทอ  งานวรรณกรรม  งานเพลง  งานแกะสลัก  งานเหล่านี้  มันอาจเป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง  เป็นจุดเชื่อมต่อ  หรือเป็นจุดเปลี่ยนแปลง..." จรัล  มโนเพ็ชร  ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้

 

และ " คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ  3  ปี  ถ้าเราต้องใช้วิธีระดมทุน  แต่ถ้าโชคดี  มีผู้เห็นความสำคัญของมัน  เห็นคุณค่าของมัน  และเชื่อมั่น  ก็คงเสร็จเร็วขึ้น  ซึ่งเราก็หวังไว้อย่างนั้น  เราไม่ได้หยิ่ง  ไม่ใช่ไม่อยากได้เงินบริจาค  แต่ยุคนี้  จะไปขออะไรจากใคร?  มันยากมาก  ต้องทำงานไปแลกเงิน" นั่น,คือความคิดความรู้สึกของเขา "จรัล  มโนเพ็ชร" ก่อนจากไป

 

นับแต่วันนั้น  จนถึงบัดนี้  ฝันของเขาได้เริ่มก่อรูปขึ้นมาบ้างแล้ว  แม้ระยะเวลาอาจจะยาวนาน  แต่หลายคนได้รวมกลุ่มกันขึ้นมา  ในรูปของคณะกรรมการกองทุนหอศิลป์สล่าเลาเลืองขึ้นมา  และได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น  เมื่อ เจ้าดารารัตน์  ณ ลำพูน  ได้บริจาคที่ดินในพื้นที่ อ.เมือง จ.ลำพูน  ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างหอศิลป์สล่าเลาเลือง  พร้อมกับมีการระดมทุนในการขอรับบริจาคจากคนทั่วประเทศ  ที่ให้ความสนใจให้ความสำคัญของหอศิลป์แห่งนี้  เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของ  "จรัล  มโนเพ็ชร" 

 

นายบารเมศ  วรรณศัย  กรรมการกองทุนหอศิลป์สล่าเลาเลือง  และเป็นเพื่อนสนิทของ จรัล มโนเพ็ชร  บอกว่า  หากท่านใดที่ต้องการร่วมสานต่อความฝันของเขา เชิญติดต่อได้ที่ 053-122779  และ 01-8851847  หรือร่วมบริจาคได้ที่  บัญชีกองทุนหอศิลป์สล่าเลาเลือง  บัญชีออมทรัพย์  ธ.กรุงไทย(มหาชน) สาขาข่วงสิงห์  เลขที่  547-1-50055-5

ข้อมูล : www.jaranmanophet.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท