Skip to main content
sharethis


สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงระหว่างปลายเดือนสิงหาคม 2548 ต่อต้นเดือนกันยายน 2548 ดูจะมีความเคลื่อนไหวผิดปกติจากที่ผ่านมา


 


ด้วยสถานการณ์ผิดปกติอย่างยิ่งนี้ จึงไม่แปลกที่บรรดาประเทศต่างๆ จะพุ่งความสนใจมายังพื้นที่นี้ รวมทั้งสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ที่ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อขอข้อมูลเบื้องต้นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากผู้สื่อข่าว "สำนักข่าวประชาไท" ในพื้นที่


 


ความผิดปกติที่ว่านั้น เริ่มตั้งสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น แถมยังเกิดขึ้นถี่ยิบ ขณะที่มีการออกมารายงานตัวอยู่เป็นระยะ ของกลุ่มคนที่ทางการระบุว่า เป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ


 


อันตามมาด้วยการอพยพหนีภัยเข้ามาเลเซีย ของ 131 ชาวจังหวัดนราธิวาส ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์ลอบยิง "นายสตอปาร์ อาแว" หรือ "นายมุสฏอฟาร์ เบ็ญฮารูญ" ได้รับบาดเจ็บสาหัส


 


"นายสตอปาร์ อาแว" ชายวัย 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองมะนิง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่องค์กร Human Right Watch และอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประสานการติดตามผู้สูญหายและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะกรณี ในคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน


 


"นายสตอปาร์ อาแว" เป็นใคร ทำไมถึงถูกลอบยิง ต่อไปนี้ คือ คำตอบบางส่วนจากปากของ "นายสตอปาร์ อาแว" ที่บอกเล่ากับ "ประชาไทออนไลน์" คำต่อคำ


 


…………………………………………


 


"ก่อนที่ผมจะถูกยิง เคยมีคนขับรถจักรยานยนต์ตามประกบมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนถูกยิง มีวัยรุ่นชาย 2 คนขับรถจักรยานยนต์ตามหลังผม บนถนนบ้านจือรังบองอ หมู่ที่ 3 ตำบลตะลูโป๊ะ อำเภอเมืองปัตตานี ขับตามมาได้ซักพัก เขาทำท่าจะขับแซง ผมเห็นจากกระจกมองหลัง แต่ไม่ได้สนใจ


 


วัยรุ่นคนหนึ่งหันมาเรียกผมว่า "มะ" แต่ผมไม่ได้ตอบรับ เพราะคิดว่าเขาจำคนผิด พอผมไม่หันหน้าไปตอบรับ เขาก็หันหัวรถจักรยานยนต์ขับกลับทางเดิมทันที


 


หลังจากนั้น 2 วัน บนถนนสายเดียวกัน ขณะที่ผมขับรถจักรยานยนต์อยู่ มีชาย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ตามหลังมา คนขับอายุประมาณ 30 ปี แต่ไม่ใช่คนเดิม หน้าตาเหมือนคนมุสลิมในพื้นที่ ผมไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน ส่วนคนซ้อนท้ายสวมหมวกไหมพรม


 


เขาขับตามผมมาตั้งแต่ตอนไหนไม่ทราบ พอผมเร่งเครื่อง เขาก็เร่งตาม พอผมลดความเร็ว เขาก็ลดความเร็วลงด้วย คราวนั้นผมคิดว่าผมคงโดนแน่แล้ว ทุกครั้งที่ผมขับรถจักรยานยนต์ ผมระมัดระวังตัวตลอด มองกระจกหลังเป็นระยะ


 



เมื่อผมขับไปได้ซักพัก เขาก็ขับมาประกบ ผมไม่รู้จะทำอย่างไร เลยทำใจดีสู้เสือเข้าไว้ หันไปทักแล้วผงกหัวยิ้มให้ เขาก็ขับรถแซงหน้าไป แต่คนซ้อนท้ายทำท่าทางจับของบางอย่างตรงบั้นเอวตลอดเวลา ผมคิดว่าน่าจะเป็นปืน หรือไม่ก็ต้องการแสดงท่าทางขู่ผม


 


หลังจากวันนั้น ผมก็ได้รับคำเตือนให้ระวังตัวจากคนรู้จัก ผมจึงปรึกษาผู้ใหญ่ ได้รับคำแนะนำให้เลี่ยงใช้ถนนสายนั้น ผมเองระมัดระวังตัวมาตลอด


 


ในช่วงสายของวันที่ 1 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ผมมีธุระค่อนข้างด่วนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงตัดสินใจขับรถจักรยานยนต์ผ่านเส้นทางนั้นอีกครั้ง เพราะระยะทางสั้นกว่าเส้นทางอื่น


 


ผมขับรถออกจากบ้านประมาณ 10 โมงเช้า แวะเติมน้ำมันที่ปั๊มหลอดในหมู่บ้าน ตอนเติมน้ำมันผมเห็นชายแปลกหน้า 3 - 4 คน นั่งคุยกันที่ม้านั่งใกล้ปั๊ม


 


เติมน้ำมันเสร็จ ผมก็รีบขับรถจักรยานยนต์ออกไป พอมาถึงจุดเกิดเหตุ ผมเผลอไม่ได้มองกระจกหลัง เลยไม่รู้ว่ามีคนตามมาหรือเปล่า ผมเลยไม่รู้ว่า คนยิงขับรถจักรยานยนต์ตามมาประกบยิง หรือมีคนดักยิงผมกันแน่


 


จำได้แต่ว่า ได้ยินเสียงปืน 2 นัด พอถูกยิงรู้สึกชาบริเวณหัวไหล่ซ้ายและขวา ส่วนรถจักรยานยนต์ไถลลงคูน้ำข้างทาง ผมนอนนิ่งกล่าวคำปฏิญาณเป็นภาษาอาหรับเบาๆ ว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และมูฮัมหมัดผู้เป็นศาสนทูตของอัลเลาะห์ เพราะกลัวจะถูกยิงซ้ำ


 


ในใจคิดอยู่แต่ว่า "กูยังเป็นหนี้ใครอีกนะ" ตอนนั้นผมได้ยินเสียงคนเดินมา 2 คนพูดว่า นอนอยู่ตรงนี้เอง ผมนึกในใจว่า กูเสร็จแน่ เพราะคิดว่าเป็นคนที่ยิงผม พอ 2 คนนั้นมายกตัวผมขึ้นไป ผมถึงรู้ว่าเป็นคนรู้จักกัน บ้านอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ เขาช่วยส่งผมมาโรงพยาบาลปัตตานี


 


สาเหตุที่ถูกยิงครั้งนี้ ผมยังยืนยันไม่ได้ว่ามาจากอะไรกันแน่ ตำรวจบอกว่า มาจากความขัดแย้งเรื่องการ เมืองท้องถิ่น เพราะก่อนหน้านี้ 2 เดือน มีชาวบ้านสะนิงคนหนึ่ง ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปูยุด ถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับจุดที่ผมถูกยิง ตำรวจบอกว่า ชาวบ้านคนที่ถูกยิงรายนี้ เป็นลุงของผมด้วย


 


ผมยืนยันว่า ไม่รู้จักกับคนที่ถูกยิงรายนั้นเลย ผมเองก็ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล


 


ส่วนสาเหตุจะมาจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่หรือไม่ ก็ไม่น่าจะใช่ ตอนนี้แนวร่วมส่วนใหญ่หนีออกนอกพื้นที่ไปแล้ว เพราะทหารเข้าไปกดดันเยอะ


 


ในฐานะที่ผมอยู่ในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประสานการติดตามผู้สูญหายและเยียวยาผู้ได้รับผล กระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะกรณี ของคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน เรื่องผมถูกยิง จึงมีคนรายงานให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง ทราบตั้งแต่วันแรกๆ แล้ว


 


ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอัลจาซีราห์ จากประเทศกาตาร์ ที่มาทำข่าวในพื้นที่ เคยเป็นผู้ช่วยนักวิจัยชาวสิงคโปร์ที่ลงมาเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วย และได้ร่วมงานกับองค์กร Human Right Watch มานานกว่า 1 ปี ทำหน้าที่เก็บข้อมูลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยถูกตำรวจตรวจค้นหลายครั้งระหว่างลงพื้นที่


 


ช่วงก่อนสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว สมัยเป็นนักศึกษานิเทศศาสตร์ ที่ประเทศซูดาน ผมเคยเป็นผู้สื่อข่าวในประเทศเชชเนีย และเคยเขียนบทวิเคราะห์และบทความให้กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ด้วย…."


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net