Skip to main content
sharethis


นายประมวล รุจนเสรี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ผู้เขียนหนังสือชื่อ "พระราชอำนาจ" เป็นอีกผู้หนึ่งที่อยู่บนเวทีห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ร่วมเสวนาเรื่อง "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" เขากล่าวว่า ตนเองมีความไม่สบายใจจากกรณีของพระบรมราชโองการแต่งตั้ง โปรดเกล้าฯแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าฯ สตง. และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การสรรหา ผู้ว่าสตง. นั้นไม่ได้ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้มีคำวินิจฉัยให้สุดลงไปว่าได้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และทำให้เกิดกระบวนการสรรหาผู้ว่า สตง. คนใหม่ ซึ่งเป็นการกระบวนการทางการเมืองที่เหมือนกับมองว่า พระราชอำนาจนั้นเป็นเพียงตรายาง และเมื่อตนทักท้วงโดยมีหนังสือพร้อมรายชื่อ ส.ส. จำนวนหนึ่ง ก็ถูกต่อว่าว่าเป็นการก้าวก่ายวุฒิสภา อีกทั้ง ส.ส. ซึ่งร่วมลงรายชื่อครั้งนั้นก็ถูกกดดันทางการเมืองอย่างหนัก

 


นายประมวลกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้น ดูเหมือนจะเป็นการใช้กระบวนการทางการเมืองทดสอบพระราชอำนาจ เสมือนกับพระราชอำนาจเป็นตรายางหรือเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ตนจึงเห็นว่า ควรต้องมาทำความเข้าใจครั้งใหญ่กันใหม่อีกครั้ง ไม่เช่นนั้นการกระทำทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจต่อจากนี้ไปก็เหมือนเป็นการลองดี


      


ทั้งนี้เขายังยกหนังสือ "พระราชอำนาจ" ที่ตนเองเขียนขึ้นว่า มีจุดประสงค์เพื่อจะทดสอบความตื่นตัวของประชาชน 3 ประการคือ ประการแรก ความรู้สึกของคนไทยยังเชื่อมั่นในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่ ประการต่อมาคือ พระมหากษัตริย์ยังเป็นที่พึ่งสุดท้ายของบ้านเมืองหรือไม่ และประการสุดท้าย ประชาชนยังเทิดทูนพระราชอำนาจหรือไม่ และเมื่อเห็นกระแสตอบรับล้นหลาม ตนก็รู้สึกตื้นตันใจ


 


เขายังท้าทายด้วยว่า มีบางกระแสที่ไม่ต้องการให้ตนเองพูดเรื่อง "พระราชอำนาจ"โดยให้เหตุผลว่าตน "อ้างอิงสถาบัน" มากเกินไป ซึ่งผู้ที่ไม่ต้องการให้ตนพูดนั้น ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ต้องการจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบหรือไม่


 


ทั้งนี้นายประมวลกล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยนั้นเป็นราชอาณาจักร ไม่ใช่บริษัทอาณาจักร ที่จะคิดแต่เรื่องของเศรษฐกิจและหวังทำกำไรเท่านั้น ขณะที่แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมุ่งเน้นที่เศรษฐกิจพอเพียง ตนจึงหวังอย่างเดียวว่า สิ่งที่พูด ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะลองกลับไปคิดว่า กระบวนทัศน์เรื่องบริษัทอาณาจักรที่ผ่านมานั้นถูกต้องหรือไม่


    


"ถ้าถามว่าพระราชอำนาจ พระราชอาณาจักร ซึ่งเป็น เดอะ คิงส์ดอม ออฟ ไทยแลนด์ มาช้านาน 600-700 ปี เรามองทุกอย่าง ทั้งเรื่องดินแดน การบริหาร ประชาชน แต่ถ้าเป็นบริษัทอาณาจักร ก็จะต้องมองว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างไร โตแล้วเหมือนฝนตกห่าใหญ่ บางคนบอกว่าใครมีภาชนะใหญ่รับได้มาก ใครมีน้อยรับได้น้อย นี่มันไม่ใช่ปรัชญาบริหารประเทศ มันเป็นปรัชญานักธุรกิจครับ"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net