Skip to main content
sharethis


เดือนกันยายนปีนี้น่าจะเป็นเดือนที่คนอเมริกันตกอยู่ในภาวะหม่นเศร้าอีกครั้งหนึ่ง ไม่เพียงแต่ฝันร้ายจากเหตุการณ์ 9/11 เมื่อ 4 ปีที่แล้วจะยังไม่ทันจางหายไป ความเป็นจริงที่เผชิญซึ่งร้ายกว่าทั้งจากความต่อเนื่องในสงครามยาวนาน "สงครามก่อการร้าย" ที่อาจทำให้คนอเมริกันติดบ่วงดิ้นหนีไม่หลุดในชั่วชีวิตแล้ว ยังต้องเผชิญกับมหันตภัยทางธรรมชาติจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาในมลรัฐลุยเซียนา และมิสซิสซิปปีที่สร้างผลกระทบใหญ่หลวง

 


รวมไปถึงเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ที่ตกลงบนบ่าคนอเมริกัน รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา และอาจจะยังหมายถึงคนทั้งหมดบนโลกใบนี้


 


สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ครอบงำและทรงอิทธิพลอย่างสูงของโลกผู้ไม่ยอมให้ใครมีอิทธิพลเหนือกว่า จะเอาอย่างไรกับโลกใบนี้?


 


. . .


 


สัปดาห์ที่ผ่านมา ความเสียหายที่เกิดกับชีวิตคนอเมริกันมียอดประมาณการณ์สูงถึง 1 หมื่นคน แต่ยอดที่สูงถึง 1 หมื่นคนนั้น ไม่น่าตกใจเท่ากับการที่จะต้องตระหนักว่านี่คือตัวเลขประมาณการณ์ ขณะที่ยอดของผู้สูญหายนั้นมีสูงกว่านี้อีกหลายเท่า ความเป็นจริงที่ต้องรายงานโดยใช้หน่วยประมาณการณ์เป็นเท่านี่เองคือภาพสะท้อนความล้มเหลวในระบบโครงสร้างการบริหารภัยพิบัติของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ได้ชื่อว่าบ้าสถิติตัวเลขมากที่สุด


 


นับประสาอะไรกับเสียงโอดครวญที่เพิ่มน้ำหนักเป็นการก่นด่า และเติมรสชาติเข้าไปจนกลายเป็นการสาปแช่งจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่มีต่อการรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ล่าช้า การดูเบาต่อมาตรการป้องกันและอพยพทั้งในวันที่ก่อนพายุจะมาไม่กี่วันขณะที่ตัวเองเพลิดเพลินอยู่กับการพักร้อนอันยาวนานในแคมป์ส่วนตัวของประธานาธิบดี และรวมไปถึงนโยบายของบุชที่สะท้อนผ่านการอุดหนุนงบประมาณ กระทั่งความไม่แยแสต่อคำเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง


 


"ทำไมปฏิบัติการรับมือและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุเฮอริเคนแคทรินาเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญและโปรแกรมคอมพิวเตอร์เคยคาดการณ์ไว้ทุกอย่างว่าจะเกิดอะไรบ้าง


 


ถึงขนาดที่ว่า โมเดลคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยลุยเซียนาสเตทยูนิเวอร์ซิตี และสถาบันอื่นๆ ได้ให้รายละเอียดว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากพายุทำให้น้ำไหลท่วมเขื่อนกั้นน้ำของนิวออร์ลีนส์ หรือทำให้เขื่อนพัง


 


"เราได้คาดการณ์ ทำนาย และซ้อมรับมือ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นถ้านิวออร์ลีนส์ถูกเฮอริเคนถล่มครั้งใหญ่ไปแล้ว" แคลร์ รูบิน ที่ปรึกษาด้านการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน และอาจารย์สถาบันเพื่อการจัดการเหตุฉุกเฉิน พิบัติภัย และความเสี่ยง ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ตั้งคำถาม


      


แม้ว่าในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หน่วยงานระดับท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ รัฐบาลกลาง และองค์กรอาสาสมัครกว่า 40 หน่วยงาน ได้ร่วมกันฝึกซ้อมรับสถานการณ์สมมุติ ภายใต้รหัส "เฮอริเคนแพม" กินเวลานาน 5 วัน ซึ่งพวกเขาต้องรับมือกับพายุในจินตนาการ ที่ทำลายอาคารกว่าครึ่งล้านหลังในนิวออร์ลีนส์ และทำให้ต้องอพยพประชาชนนับล้านคน


 


โจเซฟ ซูเฮย์ดา วิศวกรจากลุยเซียนาสเตทยูนิเวอร์ซิตี และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ยังได้เปิดเผยว่าได้มีรายงานเตือนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทมส์พิกคายูน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนิวออร์ลีนส์ ความยาวถึง 5 ตอนในชื่อชุด "เดอะบิ๊กวัน" นำเสนอเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นหากเขื่อนเกิดแตกขึ้นจริงๆ ที่คาดการณ์สถานการณ์ว่า


 


"จะมีประชาชนกว่า 200,000 คนที่ไม่ยอมหรือไม่สามารถทำตามคำสั่งอพยพได้ และจะมีผู้เสียชีวิตเพราะภัยพิบัติหลายพันคน"


 


รายงานชิ้นนี้ยังชัดราวกับตาเห็นว่า ประชาชนจะถูกอพยพไปอยู่ในซูเปอร์โดม บอกว่าทีมกู้ภัยจะเข้าถึงตัวเมืองได้ลำบากเพราะถนนหนทางจะถูกตัดขาด แต่คำเตือนเหล่านี้แทบจะไร้ความหมาย และมาตรการป้องกันและการซ้อมรับมือทั้งหมดแทบจะล้มเหลวเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นจริง


 


จนแม้แต่ บิล วอจ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียสเตทยูนิเวอร์ซิตียังต้องสงสัยว่า "เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้ ว่าทำไมพวกเขาถึงไม่พร้อมกับเหตุน้ำท่วมได้ขนาดนี้"


 


หรือบางทีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อาจจะไม่ตระหนักพอกับความจริงที่ว่า การป้องกันโดยการซ้อมจะไม่มีวันได้ผล หากปราศจากซึ่งความตระหนักอย่างแท้จริงว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


"ผมไม่คิดว่าใครจะคิดว่าเขื่อนจะแตก" คือคำกล่าวของ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช  เมื่อวันพฤหัสบดีที่1 หลังเหตุการณ์การมาเยือนของ แคทรีนาไม่ถึง 3 วัน


 


และคำกล่าวเช่นนี้ของบุช ก็เพียงพอที่จะให้ค่ากับคำวิจารณ์ คำเตือน โมเดลคอมพิวเตอร์ที่สร้างจากฉากสมมติ และแผนการรับมือทั้งหลายว่าเป็น "ความฉลาดหลังเหตุการณ์" หรือน่าจะเพียงเพียงพอที่จะทำให้คนอเมริกันอ่านความในใจของบุชที่มีต่อการซ้อมรับมือภัยพิบัติว่ามีมันก็แค่การสิ้นเปลืองงบประมาณไปเปล่าๆ ในสายตาของบุชเท่านั้น


 


ก็ถ้าหากไม่คิดว่าเขื่อนจะแตก ไม่คิดว่าจะมีเฮอริเคนขนาดนี้ แล้วจะให้มีการซ้อมไปทำไม นอกเสียจากว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ต้องมีเพื่อผลทางจิตวิทยาแก่พลเมือง โดยไม่สนใจว่าการซ้อมนั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิพลในการรับมือภัยพิบัติหากมันเกิดขึ้นจริงได้แค่ไหน…ก็เท่านั้น


 


จึงไม่แปลกที่ บิล วอจ จะเชื่อว่า สาเหตุหนึ่งของความล่าช้าในปฏิบัติการกู้ภัย คือการที่หน่วยงาน FEMA (หน่วยงานภัยพิบัติกลาง) ได้รับเงินทุนสนับสนุนน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


 


จึงไม่แปลกที่ เครก มาร์กส์ ผู้บริหารบริษัทบลูฮอไรซอนส์คอนซัลติง บริษัทอบรมการจัดกาสถานการณ์รฉุกเฉินในนอร์ทคาโรไลนาจะระบุว่า ทางการดำเนินการอพยพประชาชนผิดพลาด โดยละเลยที่จะส่งคนที่ไม่มีรถส่วนตัวออกนอกเมือง


      


"พวกเขา (ทางการ) น่าจะส่งคนขึ้นรถไฟหรือรถบัส และให้ออกจากเมืองไปก่อนเฮอริเคนมา ทั้งๆ ที่พวกเขามีเวลาและมีงบประมาณจากรัฐบาลกลางมากพอ และตอนนี้ เราพบว่าเราไม่มีโครงสร้างการสื่อสารกรณีฉุกเฉินที่เหมาะสม หน่วยกู้ภัยที่ลงไปในพื้นที่เลยประสานงานกันไม่ได้"


      


หรือ เอิร์นเนสต์ สเติร์นเบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านการวางผังเมืองและภูมิภาคที่ยูนิเวอร์ซิตีออฟบัฟฟาโล ที่กล่าวว่า หน่วยงานที่มีอำนาจมักจะอยากลงทุนกับ "ของเล่น" ไฮเทคราคาแพง มากกว่าอุปกรณ์หรือโครงสร้างการสื่อสารพื้นฐาน


 


ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การตัดสินใจให้ FEMA ไปขึ้นตรงกับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ที่ตั้งขึ้นใหม่หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 นั้น เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ โดยรูบินกล่าวว่า FEMA ปฏิบัติงานได้ดีสมัยที่ยังเป็นหน่วยงานอิสระขนาดเล็กในทศวรรษ 1990 นั้น แต่พอย้ายกระทรวงก็ถูกลดคุณค่า การดำเนินการมีอุปสรรคด้วยขั้นตอนทางราชการ และกระทรวงนี้ก็ทุ่มเงินสนับสนุนให้กับการต่อต้านการก่อการร้ายเกือบหมด (อ่านเรื่องประกอบจากบทความ "รัฐบาลไร้น้ำยา" โดย พอล ครุกแมน)


 


เมื่อทั้งหมดเป็นเช่นนี้ การสรุปอย่างหยาบๆ แต่เห็นเป็นภาพรวมเฉพาะเรื่องความล้มเหลวในการป้องกัน และการรับมือเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นตรงหน้าว่า เป็นผลมาจากการก่อสงครามก่อการร้ายของบุชก็ว่าได้


 


และถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะหาสาเหตุการมาของพายุเฮอริเคน แคทรินา ว่ามาจากอะไรได้ไหม และเกี่ยวข้องกับการกระทำของมนุษย์ตรงไหนบ้าง คำตอบคือได้ และแน่นอนที่มันจะต้องเกี่ยวข้องกับจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในฐานะผู้นำการใช้ทรัพยากรของโลก


 


(โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 "แคทรีนา" คำเตือนจากพระเจ้า)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net