Skip to main content
sharethis


"มหาเธร์" ออกโรงแนะรัฐบาลมาเลย์ ควรให้ที่พักพิงผู้อพยพ 131 มุสลิมนราฯ ยันเสียงแข็ง ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยคุกคาม "UNHCR" ส่อเค้าอุ้ม ตรวจคนเข้าเมืองกลันตันจับเพิ่มอีก 70 หลบหนีเข้าเมือง ไทย - มาเลย์คุมเข้มตลอดแนวชายแดน พ่อค้าแม่ค้าโวยแหลกปิด 16 จุดผ่อนปรน นราฯ ป่วนอีก มือดีร่อนจดหมายขู่ทั่วเมือง 


 


 


มหาเธร์หนุนให้ที่พักพิงผู้ขออพยพ


เอเอฟพี - มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตผู้นำมาเลเซียแสดงความเห็นว่า มาเลเซียควรให้ที่พักพิงแก่ชาวไทยมุสลิม ที่หลบหนีข้ามพรมแดนมายังมาเลเซีย


"ผมคิดว่า ถ้าคนพวกนี้เป็นผู้อพยพจริง เราจำเป็นจะต้องให้ที่พักพิงแก่พวกเขา" มหาเธร์ มูฮัมหมัด กล่าวกับผู้สื่อข่าว


ทั้งนี้ อดีตผู้นำมาเลเซียผู้นี้เคยเสนอกับทางการไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2548 ว่า ไทยควรพิจารณาให้อำนาจปกครองตัวเอง แก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากไทย


"ผมว่าฝ่ายไทยไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เท่าไหร่ แต่ที่แนะนำไปก็เพราะคิดว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้" ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด กล่าว


 


มาเลย์จับเพิ่มอีก 70 คน


รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2548 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรันตูปันยัง ประเทศมาเลเซีย ได้ควบคุมตัวชาวไทยมุสลิม ทั้งหญิงชายและเด็กอีก 70 คน จากตำบลกัวตีงี อำเภอรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ห่างจากพรมแดนไทยด้านอำเภอสุไหงโก-ลก 1 กิโลเมตร ทั้งหมดเป็นชาวบ้านจากอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อไปสมทบกับผู้ที่อพยพไปก่อนหน้านี้จำนวน 131 คน โดยนำไปควบคุมตัวที่สถานที่กักกันตัวที่ตาเนาะแมเราะ รัฐกลันตัน


ส่วนความคืบหน้าของคนไทยมุสลิม 131 คน ที่ขอลี้ภัยซึ่งถูกควบคุมตัวในค่ายกักกันผู้หลบหนีเข้าเมือง ที่ เมืองตาเนาะแมเราะ รัฐกลันตัน คณะผู้สื่อข่าวของไทยซึ่งเดินทางไปสังเกตการณ์ และเกาะติดความเคลื่อนไหว ได้รับการเปิดเผยจาก


เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของมาเลเซีย เปิดเผยว่า ในการสอบปากคำชาวนราธิวาสผู้ขออพยพทั้ง 131 คน ของเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของมาเลเซีย ทั้งหมดให้การว่า มาจากหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอสุไหงปาดี และบางหมู่บ้านของ อำเภอเจาะไอร้อง


คนกลุ่มนี้ระบุว่า ก่อนหน้าจะอพยพมีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารและตำรวจ เข้าไปในหมู่บ้านเรียกหัวหน้าครอบครัวไปพบ สอบถามเรื่องแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จากนั้น มีการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมคนในหมู่บ้านตลอดเวลา ทุกคนจึงเชื่อว่าหากยังอยู่ในหมู่บ้าน อาจจะเป็นอันตราย เพราะในหมู่บ้านมีคนหายไปอย่างไร้ร่องรอย รวมทั้งมีข่าวว่า ผู้นำศาสนาผู้นำท้องถิ่นถูกฆ่าตาย โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เบื้องหลัง


ทั้งหมดยืนยันว่า ไม่มีใครปลุกปั่นยุยง หรือสั่งให้เดินทางเข้ามายังรัฐกลันตัน พวกตนมาเพื่อขอหลบภัยกันเอง จนกว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจะไม่เดินทางกลับไทย จนกว่าเหตุการณ์จะสงบ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปรบกวนชาวบ้านในหมู่บ้าน จากการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมด ยังไม่พบแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 3 คน ที่ทางการไทยส่งชื่อมาให้ตรวจสอบ


 


UNHCR ส่อเค้าอุ้มมุสลิมนราฯ


เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของรัฐกลันตัน กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้อพยพจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ที่ขณะนี้หลบเข้ามาอยูในมาเลเซียจำนวนมาก


เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ขณะนี้มีมุสลิมจากจังหวัดนราธิวาส ลักลอบเข้าไปเป็นลูกจ้างกรีดยาง ทำสวนปาล์ม และรับจ้างทำนา โดยไม่มีหนังสือเดินทาง ในรัฐกลันตัน ตามแนวชายแดนห่างจากฝั่งไทยเพียง 1 - 10 กิโลเมตร ถึง 5 - 6 หมื่นคน โดยเฉพาะที่ตำบลกัวมูซัง มีมากถึง 20,000 คน


สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุด เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย ยังคงตรวจหนังสือเดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับทางฝั่งจังหวัดนราธิวาสที่เข้มงวดการเข้าออกไทย - มาเลเซีย ส่งผลให้บรรยากาศตรงด่านพรมแดนอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เขตติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียเงียบเหงา


 


คุมเข้มตลอดแนวชายแดน


ทั้งนี้ เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 7 กันยายน 2548 นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจเพชราวุธ และตำรวจตระเวนชายแดน ที่รับผิดชอบแนวชายแดน ตั้งแต่อำเภอสุคิรินถึงอำเภอตากใบ เพิ่มกำลังในการลาดตระเวน ตลอดแนวชายแดนแม่น้ำสุไหงโก-ลก และให้ปิดจุดผ่อนปรน 16 จุด เพื่อป้องกันคนไทยมุสลิม หลบหนีเข้ามาเลเซีย


สำหรับจุดผ่อนปรนดังกล่าว เป็นจุดที่ประชาชนตามแนวชายแดนนำสินค้าจากฝั่งไทย เช่น ข้าวสาร พืชผัก เข้าไปขายยังมาเลเซีย และนำสินค้าจากฝั่งมาเลเซีย เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันดีเซล และสินค้าอื่นๆ เข้ามาขายยังฝั่งไทย การปิดจุดผ่อนปรนดังกล่าว ส่งผลกระทบพ่อค้าแม่ค้าตามแนวชายแดนอย่างหนัก พ่อค้าแม่ค้าทั้งหมดจึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนมาตรการปิดจุดผ่อนปรน และแก้ไขปัญหาชาวนราธิวาส 131 คน หลบหนีเข้าไปขออพยพในฝั่งมาเลเซียให้เร็วที่สุด


ขณะที่นายประชา ชี้แจงว่า การปิดจุดผ่อนปรนเป็นคำสั่งเดิมที่มีมาหลายเดือนแล้ว สำหรับด่านถาวรยังคงเปิดตามปกติ


ทั้งนี้ เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เคยปิดจุดผ่อนปรนมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายลักลอบข้ามจากมาเลเซียเข้ามาก่อความวุ่นวาย จากนั้น มีการลอบวางระเบิดตามจุดผ่อนปรนต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน คาดว่าเป็นฝีมือผู้เสียผลประโยชน์จากการค้าชายแดน จนต้องเปิดจุดผ่อนปรนดังกล่าวในเวลาต่อมา ก่อนที่จะมีการปิดอีกครั้ง เมื่อเกิดปัญหาผู้ขออพยพ 131 คน


รายงานข่าวจากจังหวัดนราธิวาสแจ้งว่า ขณะนี้มีหลายหมู่บ้านในจังหวัดนราธิวาส ไม่มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลที่ผ่านมา ไม่มีผู้สมัคร เช่น ที่หมู่ที่ 4 บ้านไอบาตู ตำบลโต๊ะเด็ง ไม่มีทั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านถูกยิงเสียชีวิตติดต่อกัน 2 คน สำหรับหมู่บ้านที่ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภาสองค์การบริหารส่วนตำบล มีอยู่เกือบทุกอำเภอในจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะในอำเภอเจาะไอร้อง อำเภอศรีสาคร และอำเภอจะแนะ


 


จดหมายขู่สะพัดเมืองนราฯ


ล่าสุด พ.ต.อ.เติม อินทะสะระ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอสุไหงปาดี รับแจ้งว่ามีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และลูกจ้างกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับจดหมายข่มขู่ส่งทางไปรษณีย์ มีต้นทางจากอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอเมืองนราธิวาส ให้ลาออกจากตำแหน่ง หากใครไม่เชื่อฟังให้เตรียมหาที่ดินขุดหลุมฝังศพเอาไว้


หลังจากได้รับจดหมาย มีผู้ใหญ่บ้านหลายราย เช่น ผู้ใหญ่บ้านบ้านบาราแง หมู่ที่ 3 ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จะขอลาออก ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านอื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ จากการตรวจสอบพบว่า จดหมายพิมพ์ต้นฉบับด้วยคอมพิวเตอร์ แล้วนำไปถ่ายเอกสาร ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ขอจดหมายจากผู้ได้รับ นำไปตรวจสอบกับกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อหาตัวผู้ส่งจดหมายต่อไป


นายอับดุลเลาะห์มาน อับดุลสอมัด ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดนราธิวาส ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทยว่า ตนเพิ่งเข้าไปดูสถานการณ์ในหมู่บ้านละหาน อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งยังไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าหมู่บ้าน จากการพูดคุยกับชาวบ้านพบว่า คนในหมู่บ้านไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ทุกคน แต่ขอพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสให้เข้าไปได้


นายอับดุลเลาะห์มาน กล่าวว่า หลังจากโต๊ะอิหม่ามถูกสังหาร ชาวบ้านรู้สึกสูญเสีย อยากอยู่อย่างสงบ และกลัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จึงไม่อยากตอบคำถามแก่ฝ่ายใด ทางจังหวัดควรพูดคุยหาแนวทาง และปรึกษากับคณะกรรมการอิสลาม เพื่อหาวิธีการให้ชาวบ้านเปิดทางให้เข้าหมู่บ้านได้ ในฐานะที่ตนเป็นผู้นำศาสนา เมื่อมีการเสียชีวิตของอิหม่ามหรือโต๊ะครู ตนและกรรมการอิสลามจำเป็นต้องเข้าไปเยี่ยม ถ้าเจ้าหน้าที่ก็ดี ใครก็ดี เข้าใจว่าเพื่อนๆ ผู้นำศาสนาเข้าไปยุยง นับว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net