Skip to main content
sharethis

ความหมายของการฮิจเราะห์


            ความหมายในทางรากศัพท์ : การตัดขาด , การเคลื่อนย้าย


            ความหมายในทางวิชาการ : การละทิ้งสิ่งที่พระเจ้าทรงห้าม หรือการโยกย้ายจากสถานที่ที่น่าสพรึงกลัวไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย หรือการอพยพจากสถานที่อันไม่สามารถแสดงตนเป้นมุสลิมไปสู่อาณาจักรอิสลาม


 


หลักการที่เกี่ยวข้องกับการฮิจเราะห์


            1.ในยุคแรกของอิสลาม การฮิจเราะห์ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิญาณตนเข้ารับอิสลามทุกคน จากเมืองมักกะห์ ไปยังเมืองมาดีนะห์ (ปัจจุบันอยู่ใประเทศซาอุดิอาระเบีย : ประชาไท) ทั้งนี้เพื่อสร้างประชาคมมุสลิมที่นครมาดีนะห์ เนื่องจากประชากรมุสลิมที่นั่นมีน้อย ยกเว้นคนอ่อนแอที่ขาดปัจจัย เช่น คนชรา เด็ก สตรีหรือทาส เป็นต้น


            2.ภายหลังการบุกเบิกนครมักกะห์ในปีที่ 8 หลังการฮิจเราะห์ (ของศาสดามูฮัมหมัด) บทบัญญัติเกี่ยวกับการฮิจเราะห์ ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากสถานการณ์ในมักกะห์เปลี่ยนไป กล่าวคือการปฏิบัติศาสนากิจใดๆ สามารถทำได้โดยอิสระเสรี การฮิจเราะห์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป


            ดังวัจนะของศาดามูฮัมหมัด ที่บันทึกไว้โดยอิหม่ามบูคอรีย์และมุสลิม ว่า "ไม่มีการฮิจเราะห์อีกแล้ว หลังการบุกเบิกมักกะห์ แต่การณ์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับการเจตนาและการต่อสู้"


            3.โดยนัยยะนี้ อิหม่ามชาฟีอีย์( รอหิมากูมุลเลาะห์) จึงระบุในตำรา "อัลอุม" ของท่านว่า "วัตรปฏิบัติแห่งบรมศาสดา บ่งชี้ว่า ข้อกำหนดให้ฮิจเราะห์สำหรับผู้ที่สามารถทำได้นั้น เป็นข้อบังคับเหนือผู้ที่ไม่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมอยู่ได้ในแผ่นดินที่ผู้นั้นอยู่อาศัย (ส่วนผู้ที่สามารถดำรงตนเป็นมุสลิมได้อย่างเสรีก็ไม่จำเป้นต้องฮิจเราะห์)


            เห็นได้จากที่บรมศาสดาอนุญาตให้ลุงของท่าน คือ อับบาส และคนอื่นๆ อีกหลายคน คงอยู่ในมักกะห์ต่อไป เพราะคนเหล่านี้เข้มแข็งพอที่จะรักษาความเป็นมุสลิมของเขาไว้ได้


            ฮาฟิซ อิบนุ หะญัร กล่าวไว้ในตำรา "ฟัตหุล บารี" เล่มที่ 7 หน้า 229 ว่า "โดยนัยนี้ผู้ที่สามารถเคารพสักการะบูชาอัลเลาะห์ได้ ในแผ่นดินใดก็ตามที่เขาอยู่ เขาไม่จำเป็นต้องฮิจเราะห์ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จำเป็น"


 


มุสลิมไทยกับการฮิจเราะห์


            มาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้สิทธิเสรีภาพที่บริบูรณ์แก่มุสลิม ในการประกอบศาสนกิจต่างๆ และในทางปฏิบัติจริง มุสลิมในประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นนั้น แม้จะมีบทบัญญัติบางประการที่ถูกขัดขวางมิให้ปฏิบัติได้เช่น กรณีฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะสตรี : ประชาไท) ก็ถือเป็นเรื่องเฉพาะกรณี ซึ่งสามารถแก้ไขได้ และไม่สามารถตีรวมว่า ประเทศไทยจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องนี้


            ดัชนีบ่งชี้เรื่องศาสนาที่สำคัญที่สุด คือ การละหมาดและผลสืบเนื่องต่างๆ เช่น การสร้างประชาคมโดยมีโต๊ะอิหม่ามเป็นผู้นำ การสร้างมัสยิดและการอาซาน (การประกาศเชิญชวนให้มาละหมาดที่มัสยิดเมื่อถึงเวลาที่กำหนด : ประชาไท) ซึ่งมุสลิมในประเทศไทยสามารถทำได้เต็มที่


            หากที่ใดมีเสรีภาพในเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์ ก็มีความจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนจะต้องรักษาไว้ และการอพยพละทิ้งถิ่นฐานออกไปอยู่ที่อื่นก็เป็นเรื่องต้องห้าม(หะรอม) เพราะการกระทำเช่นนั้น จะทำให้เสียงอาซานหายไปจากสังคม และมัสยิดจะถูกทิ้งร้างในที่สุด


 


วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ


หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net